ในที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 3) ประจำปีพุทธศักราช 2566 : นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตยานนาวา ได้เสนอญัตติขอให้กรุงเทพมหานครแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานบนถนนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
เนื่องจากการดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ บนถนนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เช่น การนำสายไฟฟ้าลงดิน การปรับปรุงระบบท่อประปา หรือการซ่อมแซมปรับปรุงฝาบ่อพักท่อระบายน้ำ ฯลฯ ซึ่งมีทั้งการดำเนินงานของกรุงเทพมหานครและหน่วยงานอื่น หลายโครงการยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ล่าช้ากว่าที่กำหนด เกิดปัญหาด้านการจราจรจากการปิดและเบี่ยงช่องการจราจร ผิวจราจรชำรุดทำให้ประชาชนสัญจรไม่สะดวก และปัญหาด้านมลพิษทางอากาศและเสียงที่ส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนที่อาศัยบริเวณใกล้เคียงสถานที่ก่อสร้าง กรุงเทพมหานครควรควบคุมการดำเนินงานให้อยู่ในกรอบระยะเวลาและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งคืนพื้นที่ให้สามารถใช้งานได้ตามปกติเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น จึงขอให้กรุงเทพมหานครแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานบนถนนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
“ครั้งนี้ก็จะเป็นการพูดเรื่องเดิม คือเรื่องของถนนพระราม 3 ระยะทาง 12 กม. สิ่งที่เสียไปคือโอกาสการพัฒนาพื้นที่ฝั่งริมแม่น้ำ ให้เป็นเส้นธุรกิจ ถนนเส้นนี้เป็นเส้นหลักที่ขนส่งคนจากฝั่งธนบุรีเข้ากรุงเทพฯ และขนส่งคนกรุงเทพฯออกไปฝั่งธนบุรี ข้ามไปสมุทรปราการและพระประแดงได้ แต่อาจไม่ใช่ถนนที่สามารถชมวิวทิวทัศน์ได้เนื่องจากต้องระวังหลุมบ่อและฝาท่อ ปัญหาที่จะเสนอเพิ่มวันนี้คือช่องทาง BRT ที่กินผิวถนนไปแล้ว 1 ช่องจราจร ซึ่งอาจเป็นนโยบายที่ช่วยในการเดินทาง แต่ปัญหาของ BRT ส่งผลกระทบหลายด้าน ทั้งการก่อสร้างตัวหนอนที่ไม่ได้คุณภาพ ซึ่งต้องแก้อย่างจริงจัง โดยทำในลักษณะของรถไฟบนคลองก็ได้ หรือกำหนดเป็นเส้นทางรถไฟฟ้าในอนาคต นอกจากนี้ถนนพระราม 3 ยังมีปัญหาถนนทรุดจากการขุดเจาะของหน่วยงานด้านสาธารณูปโภค ปัญหาฝาท่อชำรุดเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุของผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ หลายครั้งเกิดจากผู้รับเหมาไม่มีคุณภาพ การส่งคืนพื้นที่ที่ไม่มีการควบคุมอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะผลกระทบจากการก่อสร้างแนวรถไฟฟ้า ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นละอองกระทบกับประชาชนที่อาศัยในย่านดังกล่าวเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ถนนเส้นพระราม 2 ก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน มีการก่อสร้างเป็นระยะเวลานาน ทุกคนอดทนเพื่อรอการเปลี่ยนแปลง ซึ่งขอให้ปัญหานี้ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังเพื่อประโยชน์ของประชาชน” ส.ก.พุทธิพัชร์ กล่าว
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาหลักของกทม.อยู่แล้ว เนื่องจากเป็นพื้นที่ศูนย์กลางเศรษฐกิจและมีหน่วยงานจำนวนมากมาทำการก่อสร้างบนพื้นที่เรา ทั้งการไฟฟ้านครหลวง การประปา การทางพิเศษ และรถไฟฟ้า ซึ่งเราไม่ได้เป็นผู้คัดเลือกผู้รับเหมางานเหล่านี้ แต่เราจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้และจำเป็นต้องเร่งรัดดูแลให้เข้มข้นขึ้น สำหรับปัญหาของถนนพระราม 2 เป็นเรื่องที่ยาก เนื่องจากเป็นของกรมทางหลวง กทม.ไม่ได้มีส่วนรับผิดชอบ แต่ทางฝ่ายบริหารจะรับไปประสานงานและกำหนดมาตรการให้เข้มข้นและเด็ดขาดให้มากกว่านี้