ในที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 3) ประจำปีพุทธศักราช 2566 : นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ส.ก.เขตลาดกระบัง เสนอญัตติขอให้กรุงเทพมหานครพิจารณาก่อสร้างรถไฟฟ้าและให้บริการเรือไฟฟ้า (Taxi Boat) เชื่อมโยงการเดินทางที่ต่อเนื่องทั้งระบบเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร เนื่องจากปัจจุบันในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีการนำระบบรางหรือรถไฟฟ้ามาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรในหลายโครงการ เพื่อสามารถให้บริการแก่ประชาชนได้อย่างครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล หลายโครงการมีการเปิดใช้บริการแล้ว เช่น รถไฟฟ้าสายสีเขียว สายสีน้ำเงิน สายสีม่วง และมีหลายโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ เช่น สายสีชมพู สายสีเหลือง สายสีส้ม อย่างไรก็ตาม โครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนดังกล่าว หากมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าเชื่อมโยงเส้นทางการเดินทางโครงข่ายหนึ่งไปยังอีกโครงข่ายหนึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาการจราจรที่ติดขัด ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้กับประชาชนได้ เช่น เส้นทางจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไปเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีชมพู ซึ่งเป็นเส้นทางรองรับการเดินทางไปยังศูนย์ราชการได้ เส้นทางจากรถไฟฟ้าสายสีเขียว สถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไปยังรถไฟฟ้ามหานคร สถานีพระราม 9 เป็นต้น
รวมทั้งการจัดให้มีบริการเรือไฟฟ้า (Taxi Boat) ในคลองที่สามารถเชื่อมโยงกับการใช้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนได้ เช่น คลองสองต้นนุ่น คลองแสนแสบ คลองประเวศบุรีรมย์ เพื่อเป็นทางเลือกการเดินทางสำหรับประชาชนและนักท่องเที่ยว เป็นการอำนวยความสะดวกในการเดินทางไปยังจุดหมายต่าง ๆ และเป็นการจูงใจให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น ดังนั้น จึงขอให้กรุงเทพมหานครพิจารณาก่อสร้างรถไฟฟ้าและให้บริการเรือไฟฟ้า (Taxi Boat) เชื่อมโยงการเดินทางที่ต่อเนื่องทั้งระบบเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร
ส.ก.สุรจิตต์ กล่าวว่า ในวันนี้ได้นำเสนอรูปแบบการเดินทางเพื่อเชื่อมโยงระหว่างสนามบินสุวรรณภูมิไปสนามบินดอนเมือง และเพิ่มการเดินทางรูปแบบสาธารณะให้กับประชาชนในพื้นที่ตะวันออก เพื่อเป็นทางเลือกในการแก้ปัญหาจราจรและร่นระยะเวลาเดินทาง 2 วิธี คือ วิธีที่ 1 ใช้ LRT (Light Rail Transit) หรือ ใช้ Tram ไฟฟ้า 100% ซึ่งปัจจุบันสามารถผลิตโดยคนไทย (TRAM น้อยลูกอีสาน) ในรูปแบบของรถรางเบาพลังงานไฟฟ้า โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เหตุผลที่เลือกใช้วิธีนี้ คือ มีอายุการใช้งานยาวนานถึง 40-50 ปี มีค่าบำรุงรักษาต่ำ บรรจุผู้โดยสารได้มาก ใช้พลังงานน้อย ซึ่งสามารถนำมาใช้แทนรถเมล์โดยสารปกติได้ รวมทั้งวัสดุภายในอาจใช้ยางพาราที่มีในประเทศไทยได้ ทำให้ต้นทุนต่ำ เบื้องต้นอาจกำหนดสถานี 5 ได้แก่ สถานี Airport Rail Link ลาดกระบัง สถานีสวนวนาภิรมย์ร่มเกล้า สถานีแยกเคหะร่มเกล้า สถานีตลาดทองร่มเกล้า และสถานีรถไฟฟ้ามีนบุรี (สายสีชมพู) วิธีที่ 2 การเดินทางทางเรือ (Taxi Boat) ซึ่งในพื้นที่กทม.มีคลองจำนวนมากแต่ยังไม่มีเรือให้บริการ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ตะวันออก ซึ่งยังไม่มีการเดินทางเพื่อเชื่อมการเดินทางและลดปัญหาการจราจรแต่อย่างใด ในส่วนของเหตุผลการเลือกใช้วิธีนี้ เนื่องจากค่าบำรุงรักษาต่ำ บรรจุผู้โดยสารได้มาก เช่นเดียวกับการใช้ Tram และการเดินเรือโดยสารจะทำให้เกิดการสร้างเขื่อนซึ่งส่งผลในการป้องกันน้ำท่วมในอนาคตด้วย
นอกจากนี้ ยังได้เสนอการใช้ MRT เพื่อเชื่อมการเดินทางจากอนุสาวรีย์ชัยไปยังพระราม 9 เพื่อช่วยในการแบ่งเบาการจราจรในบริเวณดังกล่าวเช่นกัน สำหรับข้อกังวลในเรื่องของงบประมาณนั้น อาจจะใช้วิธี PPP (Public Private Partnership) หรือ การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือการร่วมลงทุนกับต่างชาติ ซึ่งเชื่อว่าการลงทุนจากต่างชาติจะแก้ปัญหาทุนจีนสีเทาในอนาคตต่อไปได้ด้วย
“รัฐที่มองเห็นประโยชน์ต่อประชาชน มองว่าการคมนาคมเป็นเรื่องพื้นฐานที่ต้องดูแลเพราะเป็นหนึ่งในการสร้างเมืองให้น่าอยู่ ระบบขนส่งถือเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ไม่ควรคิดเรื่องกำไรหรือขาดทุนเพราะไม่ใช่ความคุ้มค่าเป็นเม็ดเงิน แต่จะเกิดความคุ้มค่าเชิงเศรษฐกิจ” ส.ก.สุรจิตต์ กล่าว
*เสนอกทม.ส่งเสริมการเดินทางทางน้ำ เพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชน
นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตจอมทอง เสนอญัตติขอให้กรุงเทพมหานครส่งเสริมการเดินทางทางน้ำเพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางให้ประชาชนและช่วยลดปัญหาการจราจรบนถนน เนื่องจากปัญหาการจราจรของกรุงเทพมหานครเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลให้เกิดปัญหาอื่น ๆ อาทิ การสูญเสียทางเศรษฐกิจ ปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) รวมทั้งปัญหาด้านสุขภาพอนามัยของประชาชน รัฐบาลและกรุงเทพมหานครมีนโยบายส่งเสริมให้ประชาชนเดินทางด้วยระบบขนส่งเสริม เพื่อช่วยลดปัญหาการจราจรบนถนน และเพิ่มทางเลือกการเดินทางด้วยบริการขนส่งสาธารณะที่ประชาชนสามารถเชื่อมต่อการเดินทาง ล้อ ราง เรือ ได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น โดยกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการนำร่องนำเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าให้บริการในคลองผดุงกรุงเกษมเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 ระยะทาง 5 กิโลเมตร และในคลองแสนแสบส่วนต่อขยายจากวัดศรีบุญเรืองถึงสำนักงานเขตมีนบุรี ระยะทาง 10.5 กิโลเมตร ทั้งนี้ยังมีคลองอื่น ๆ ที่มีศักยภาพในการใช้เป็นเส้นทางเดินทางทางน้ำได้ เช่น คลองเปรมประชากร คลองลาดพร้าว คลองมหาสวัสดิ์ คลองบางกอกน้อย คลองภาษีเจริญ เป็นต้น
กรุงเทพมหานครควรสนับสนุนเอกชนมาลงทุนดำเนินการเพื่อให้เกิดความคล่องตัวและไม่กระทบกับงบประมาณของกรุงเทพมหานคร รวมทั้งหากมีการปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือต่าง ๆ ให้มีความปลอดภัย สะอาด สวยงามจะดึงดูดให้ประชาชนหันมาใช้การคมนาคมทางน้ำเพิ่มมากขึ้น จึงขอให้กรุงเทพมหานครส่งเสริมการเดินทางทางน้ำเพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางให้ประชาชนและช่วยลดปัญหาการจราจรบนถนน
“ถึงเวลาหรือยังที่กทม.จะคิดแก้ปัญหาจราจรอย่างเป็นระบบเพื่อคนกรุงเทพฯหรือคนต่างจังหวัดรอบข้าง ซึ่งขณะนี้เป็นปัญหาที่ภาครัฐยังแก้ไขไม่ได้ หากมีการกำหนด station ที่สวยงาน มีการนำเรือไฟฟ้ามาใช้ ไร้มลพิษ มีแอร์ เชื่อว่าทุกคนจะใช้ทางเลือกนี้ และแก้ไขปัญหารถติดได้ สำหรับในพื้นที่เขตจอมทองก็มีตลาดน้ำคลองวัดไทร หากมีการกำหนดท่าเรือหรือจุดพักที่มีเอกลักษณ์ สวยงาม จะสามารถสร้างเศรษฐกิจชุมชนได้ ทั้งนี้เห็นด้วยว่าการร่วมลงทุนกับเอกชนจะช่วยในเรื่องของการใช้งบประมาณจำนวนมากได้ และเสนอว่าควรมีการจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาในเรื่องนี้ให้เป็นระบบ และมีการกำหนดแผนการทำงานได้อย่างเป็นรูปแบบชัดเจน” ส.ก.สุทธิชัย กล่าว
โดยในครั้งนี้ นายเนติภูมิ มิ่งรุจิราลัย ส.ก.เขตบึงกุ่ม และนายวิพุธ ศรีวะอุไร ส.ก.เขตบางรัก ได้ร่วมอภิปรายสนับสนุนทั้ง 2 ญัตตินี้ด้วย
ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวชี้แจงในที่ประชุมสภากทม. ว่า เรื่องนี้เป็นหนึ่งในนโยบายเพื่อเชื่อมเส้นเลือดฝอยไปยังเส้นเลือดใหญ่ของกทม. ทั้งการใช้การเดินทางทางน้ำ หรือการเลือกใช้ LRT เพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งในการเดินทาง และหลายโครงการก็อยู่ในระหว่างดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาจราจรในกทม.ทั้งระบบ
——————