(7 เม.ย. 66) ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงข่าวการจัดงานเทศกาลมหาสงกรานต์กรุงเทพมหานคร ประจำปี พ.ศ. 2566 พร้อมเชิญชวนประชาชนและทุกภาคส่วนร่วมกิจกรรมสงกรานต์ ตามแนวคิด “ใส่ดอกออกเที่ยว ร่วมสร้างปรากฏการณ์ลายดอกบานสะพรั่งทุกพื้นที่ทั่วกรุงเทพมหานคร” ซึ่งจะได้เป็นส่วนหนึ่งของการนำประเพณีสงกรานต์ในประเทศไทยเข้าสู่การพิจารณาของยูเนสโกในการขึ้นทะเบียนมรดกโลก ภายใต้แนวทาง “สืบสานสงกรานต์วิถีไทย ร่วมสานใจสู่สากล”
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญกับวันสงกรานต์ซึ่งเป็นวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของไทยที่มีมาอย่างยาวนาน โดยในปีนี้ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี ที่มีการเปิดให้ภาครัฐ ภาคเอกชน ได้จัดงานในทุกพื้นที่อย่างเต็มรูปแบบ หลังจากมีการงดกิจกรรมสงกรานต์ติดต่อกันเนื่องจากสถานการณ์โรคโควิด-19 ซึ่งทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ มีการจัดเทศกาลสงกรานต์ถึง 198 จุด และมีรูปแบบของการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการจัดงานสงกรานต์ตามประเพณี เน้นเรื่องของความเป็นสิริมงคล หรือการจัดงานแบบเน้นความสนุกสนานและกิจกรรมบันเทิงต่าง ๆ โดยมีจุดไฮไลต์สำคัญ อาทิ
* สงกรานต์ลานคนเมือง ซึ่งจัดโดยกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 12 – 14 เมษายน เวลา 10.00 – 22.00 น. กิจกรรมประกอบด้วย พิธีบวงสรวง พิธีสวดพระปริตรามัญเสกน้ำพระพุทธมนต์ พิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ พิธีรดน้ำขอพรผู้สูงอายุ การแสดงศิลปวัฒนธรรมไทยและการแสดงจากศิลปิน การละเล่นพื้นบ้าน และกิจกรรมรื่นเริงในรูปแบบงานวัด ลานกิจกรรมและการสาธิตทางศิลปวัฒนธรรมไทย การจำหน่ายผลิตภัณฑ์บางกอกแบรนด์ (Bangkok Brand) และของดี 50 เขต
* งานสงกรานต์ ณ วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร เขตปทุมวัน โดยกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 13 เมษายน กิจกรรมประกอบด้วย การรดน้ำดำหัวของผู้บริหารและคณะทูต กิจกรรมสาธิตด้านมรดกภูมิปัญญา ประเพณี วัฒนธรรม และการสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำวัด รวมถึงการจัดงานสงกรานต์ร่วมกับเขตต่าง ๆ ในกทม.
* งานสงกรานต์สยาม สงกรานต์เมษาผ้าขาวม้าปล่อยจอย มหกรรมสาดน้ำกลางใจเมืองกรุง ซึ่งจัดโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ BEX ระหว่างวันที่ 13 – 15 เมษายน เวลา 11.00 – 22.00 น. ณ สยามสแควร์ เขตปทุมวัน เชิญชวนแต่งกายด้วยผ้าขาวม้า นุ่งชุดไทยเพื่ออนุรักษ์ความเป็นไทย ภายในงานมีกิจกรรมแบ่งเป็น 5 โซน ให้ได้ร่วมกิจกรรมสงกรานต์ในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ กิจกรรมเล่นน้ำ กิจกรรมมงคล คอนเสิร์ต สไลเดอร์ยักษ์
* เทศกาลเย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ ณ บริเวณจุฬาลงกรณ์ ซอย 5 และ Stadium One เขตปทุมวัน ซึ่งจัดโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระหว่างวันที่ 13 – 15 เมษายน เวลา 12.00 – 22.00 น. โดยไฮไลต์คือ การจำลองประเพณีสงกรานต์จากภาคต่าง ๆ 5 ภาค และกิจกรรมอื่น ๆ ประกอบด้วย กิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมไทย เช่น รดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ การละเล่นพื้นบ้าน ก่อเจดีย์ทราย เทพีสงกรานต์ พิธีกรรมทางศาสนา เช่น สรงน้ำพระ ทำบุญตักบาตร รดน้ำมนต์ การออกร้านค้า/ร้านอาหารและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น กิจกรรมร่วมสนุกรับของที่ระลึก และการจัดงาน INTERNATIONAL AMAZING SPLASH 2023 ที่รวมเอากิจกรรมของต่างประเทศที่มีลักษณะคล้ายสงกรานต์ไทย คือ เกาหลีใต้ อินเดีย จีน ญี่ปุ่น
* เพลินสงกรานต์ อาหารย่านถิ่น ฟินการเงิน ณ ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ใต้สะพานพระราม 8) ซึ่งจัดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีกิจกรรมสะท้อนอัตลักษณ์และวัฒนธรรมความเป็นไทย ได้แก่ การสรงน้ำพระสยามเทวาธิราช สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำธนาคารแห่งประเทศไทย กิจกรรม Workshop งานหัตถกรรมไทย การเปิดให้เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เงินตราไทย การอุดหนุนร้านอาหารรอบรั้วของชุมชนจากรุ่นสู่รุ่น และกิจกรรมสร้างความสนุกสนาน “แชะ&แชร์” ถ่ายรูปภายในงานและส่งต่อเพื่อรับของที่ระลึก
* งาน ICONIC SONGKRAN FESTIVAL 2023 ไอคอนสยามมหัศจรรย์เจ้าพระยามหาสงกรานต์ ๒๕๖๖ ณ ไอคอนสยาม เขตคลองสาน ระหว่างวันที่ 11 – 17 เมษายน เวลา 10.00 – 22.00 น. ซึ่งจัดโดยไอคอนสยาม ภายใต้แนวคิด สืบสาน มรดกไทย รื่นเริง เถลิงศกใหม่ เนรมิตพื้นที่ภายในไอคอนสยามให้เป็นบรรยากาศสไตล์งานวัดแบบไทย ๆ ประกอบด้วย ลานมงคล เถลิงศกใหม่ (ลานทำบุญ) ณ รัษฎา ฮอลล์ ชั้น 1 ลานมหาสงกรานต์ สำราญใจ (ลานบันเทิงแบบไทย) เจริญนคร ฮอลล์ ชั้น M เวทีแห่งความรื่นเริงบันเทิงใจแบบงานวัดไทย พบการแสดงรำวงย้อนยุค การแสดง 4 ภาค ซุ้มเกมงานวัด และขนมหลากหลายชนิด ใน “สุขสยาม สราญสุข ชื่นอุรา น่าสบาย” ณ เมืองสุขสยาม ชั้น G เชิญชวนพุทธศาสนิกชนมาร่วมสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์ พร้อมเล่นน้ำสงกรานต์ ณ ริเวอร์ พาร์ค ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
* งาน THAILAND’S SONGKRAN FESTIVAL 2023 สงกรานต์มหาบันเทิงทั่วไทย จัดโดยเซ็นทรัลพัฒนา ระหว่างวันที่ 7 – 16 เมษายน ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลทั่วประเทศ อาทิ งาน SUPERFLUID เทศกาลดนตรีระดับโลกท่ามกลางสายน้ำ (14 – 16 เม.ย.) ที่ได้ยกทัพศิลปินดัง T POP อาทิ TRINITY, JAYLERR, ALLY และศิลปิน K POP มาแรง 8TURN ร่วมด้วยดีเจชื่อดัง ณ เซ็นทรัลเวิลด์ และงาน G Circuit สุดยอดธีมปาร์ตี้ระดับโลก รวม DJ ดัง (13 – 16 เม.ย.) ณ Centara Grand Convention Center เป็นต้น
* งานเทศกาลมหาสงกรานต์ ถนนข้าวสาร เขตพระนคร “สงกรานต์ข้าวสารปลอดภัย ไม่ 4 ป.” โดยสมาคมผู้ประกอบการค้าถนนข้าวสาร จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 – 15 เมษายน เวลา 17.00 – 24.00 น. กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย พิธีกรรมทางศาสนา เช่น สรงน้ำพระ ทำบุญตักบาตร รดน้ำมนต์ การแสดงดนตรี และการเล่นน้ำ
* เทศกาลวิถีน้ำ…วิถีไทย Water Festival Thailand 2023 ซึ่งจัดโดยบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม กองทัพเรือ กรุงเทพมหานคร และเครือข่ายพันธมิตรทุกภาคส่วน จัดงานพร้อมกันทั้ง 4 ภาค 6 จังหวัด ทั่วไทย ภายใต้แนวคิด “ชื่นอุรา น่าสบาย” สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานครนั้น เป็นการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนริมแม่น้ำสายวัฒนธรรมตลอดโค้งน้ำเจ้าพระยา ณ 11 ท่าน้ำวิถีไทย สัมผัสวิถีชุมชน ผ่านศิลปะ อาหาร การแสดงกลิ่นอายวันวาน และกิจกรรมร่วมสมัย Bike Walk Talk Boat ที่จะทำให้ทุกคนประทับใจ โดยมีบริการเรือรับส่งฟรี (Free Shuttle Boat) 11 ท่าน้ำสำคัญทางประวัติศาสตร์ ประกอบด้วย ท่าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ท่าวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ท่าวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร ท่าวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ท่าวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร เอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟร้อนท์ ท่ามหาราช เดอะล้ง 1919 ริเวอร์ไซด์ เฮอริเทจ เดสติเนชั่น ท่ายอดพิมาน ท่าสุขสยาม ณ ไอคอนสยาม และท่าศาลเจ้ากวนอู คลองสาน ระหว่างวันที่ 13 – 16 เมษายน ตั้งแต่เวลา 09.00 น. – 17.00 น.
* งาน Songkran Summer Illusion สถานีสาดความสนุก ณ ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ เขตปทุมวัน กิจกรรมประกอบด้วย พิธีกรรมทางศาสนา เช่น สรงน้ำพระ ทำบุญตักบาตร รดน้ำมนต์ การแสดงดนตรี การออกร้านค้า/ร้านอาหาร การเล่นน้ำ โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 – 16 เมษายน เวลา 16.00 – 22.00 น.
* งาน De Moon Bangkok Water Festival 2023 คอนเสิร์ตในร้าน De Moon Bangkok ซอยรัชดาภิเษก 4 เขตห้วยขวาง พบกับกิจกรรมคอนเสิร์ตจากศิลปินชื่อดัง อาทิ INDIGO, MOCCAGADEN, JOEYBOY ฯลฯ และการเล่นน้ำสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 12 – 15 เมษายน ตั้งแต่เวลา 16.00 – 24.00 น.
● เปิดตัวแอปพลิเคชัน Nicemap รวมทุกสถานที่จัดงานไว้เพียงปลายนิ้ว
งานสงกรานต์ปีนี้ กทม.ทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมต่อกับภาคส่วนต่าง ๆ โดยได้ร่วมกับ MIT Urban Risk Lab และ Collective Resilience Network Thailand จัดทำแอปพลิเคชัน Nicemap.info รวบรวมสถานที่จัดงานเทศกาลสงกรานต์ทั้ง 198 จุด ทั่วกรุงเทพมหานครไว้ในแอปฯ เดียว ซึ่งจะแสดงรูปแบบของการจัดงานในแต่ละจุด สามารถปักหมุดหรือตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ โดยใช้ filter เลือกย่าน/ประเภทกิจกรรมที่ชอบ/ระดับความต้องการเปียกในการเล่นสงกรานต์ นอกจากนี้ยังมีการแจ้งเตือนเหตุในพื้นที่ เพื่อให้นักท่องเที่ยวและประชาชนสามารถเลือกเที่ยวสงกรานต์ได้ตรงกับความต้องการของตนเอง และกระจายไปเล่นน้ำแบบไม่แออัดอยู่เพียงพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เป็นการเพิ่มความสะดวก ปลอดภัย และง่ายต่อการเดินทางสัญจรในช่วงเทศกาลด้วย
● พบกับ “สงกรานต์ลานคนเมือง” ยกงานวัดมาจัดที่ลานคนเมือง
ในส่วนของเทศกาลมหาสงกรานต์กรุงเทพฯ จัดโดยกรุงเทพมหานคร ที่บริเวณลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 12 -14 เมษายน 2566 ภายใต้ชื่อ “สงกรานต์ลานคนเมือง” ซึ่งเป็น 1 ในจุดสำคัญที่ถือเป็นศูนย์กลางของงานสงกรานต์กรุงเทพฯ ที่เน้นกิจกรรมตามประเพณีไทย เพื่อความเป็นสิริมงคลเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ไทย โดยมีแนวคิดการจัดงาน คือ “สรงน้ำพระ ประพรมน้ำมนต์ เสริมสิริมงคล รับปีใหม่ไทย”
รูปแบบงานเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย จำลองบรรยากาศของงานวัด มีการสรงน้ำพระพุทธรูปประจำวันเกิด ลานก่อเจดีย์ทราย การแสดงดนตรีจากศิลปินที่มีชื่อเสียง การแสดงโขน ลิเก ดนตรีไทย เครื่องเล่นและการละเล่นไทย เช่น ชิงช้าสวรรค์ มวยทะเล มอญซ่อนผ้า รีรีข้าวสาร เป็นต้น โดยในส่วนของเวทีการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทยจะเริ่มระหว่างเวลา 17.00 – 22.00 น.
ภายในงานจะมีนิทรรศการเกี่ยวกับประเพณีสงกรานต์และตำนานนางสงกรานต์ นิทรรศการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร รวมทั้งมีการออกร้านผลิตภัณฑ์ชุมชนและอาหารไทย การออกร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์บางกอกแบรนด์และของดี 50 เขต รวมถึงอาหารอร่อยจากร้านอาหารขึ้นชื่อในพื้นที่กรุงเทพฯ
● ร่วมสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์ ทำบุญตักบาตร รับน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์จากพิธีสวดพระปริตรรามัญ เพื่อความเป็นสิริมงคลรับปีใหม่ไทย
สำหรับกิจกรรมเด่นภายในงานที่ลานคนเมือง ประกอบด้วย พิธีอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ โดยในวันที่ 12 เมษายน เวลา 08.00 น. จะอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์จากพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จอดขบวนแห่เพื่อให้ประชาชนได้ร่วมสรงน้ำพระที่สวนสันติชัยปราการ ด้านหน้าวัดชนะสงคราม และบริเวณปากคลองตลาด จากนั้นจะอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ มณฑปชั่วคราวบริเวณลานคนเมือง เพื่อให้ประชาชนได้สักการะบูชาและสรงน้ำพระเพื่อความเป็นสิริมงคล ระหว่างวันที่ 12 – 14 เมษายน และจะอัญเชิญกลับมายังพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ในวันที่ 14 เมษายน เวลา 16.00 น.
ทั้งนี้ วันที่ 13 เมษายน เวลา 07.00 น. จะมีพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์จำนวน 66 รูป ณ ปะรำพิธีสงฆ์ และเวลา 08.30 น. จะมีพิธีรดน้ำขอพรผู้สูงอายุ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้คนไทยได้แสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบุพการีและผู้สูงวัย ตลอดจนเพื่อก่อให้เกิดความรัก ความเข้าใจซึ่งกันและกัน
นอกจากนี้ยังได้มีการจัดพิธีสวดพระปริตรรามัญเสกน้ำพระพุทธมนต์ขึ้นเป็นครั้งแรกในการจัดเทศกาลมหาสงกรานต์ของกรุงเทพมหานคร โดยพิธีสวดพระปริตรรามัญเสกน้ำพระพุทธมนต์เป็นพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ที่มีมาแต่โบราณกาลตั้งแต่ครั้งสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งกรุงเทพมหานครได้นิมนต์พระสงฆ์มอญที่มีตำแหน่งเป็นพระครูปริตรรามัญ (ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงที่วัดชนะสงครามเท่านั้น) มาสวดด้วยรามัญวิธี พร้อมเสกน้ำพระพุทธมนต์ในคราวเดียวกัน และจะมีการนำน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์จากพิธีดังกล่าว จำนวน 9,999 ชุด มาแจกจ่ายให้กับประชาชนที่เข้าร่วมงานเทศกาลมหาสงกรานต์กรุงเทพมหานคร ณ บริเวณลานคนเมือง เพื่อเป็นสิริสวัสดิมงคลเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ไทย
● แวะสนุกอีกจุดที่ “คลองผดุงกรุงเกษม”
นอกจากงานสงกรานต์ลานคนเมืองแล้ว กรุงเทพมหานครขอเชิญชวนร่วมงาน “สงกรานต์ @คลองผดุง (คน) กรุงเกษม” ที่จะมาเปิดพื้นที่ริมคลองให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับทุกคน ร่วมชอปสินค้า ชิมอาหาร ชมการแสดง ตั้งแต่วันที่ 8 – 15 เมษายน เวลา 15.00 – 20.00 น. ณ ริมคลองผดุงกรุงเกษม ถนนลูกหลวง ฝั่งข้างสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ โดยสามารถจอดรถบริเวณริมคลองผดุงกรุงเกษม ถนนลูกหลวง ฝั่งกระทรวงศึกษาธิการ หรือเดินทางด้วยรถพลังงานไฟฟ้า BMA Feeder ที่กรุงเทพมหานครนำมาให้บริการตลอดช่วงเทศกาล
● จัด BMA Feeder บริการรับส่งนักท่องเที่ยวและประชาชน ฟรี
โดยกรุงเทพมหานครได้จัดรถพลังงานไฟฟ้า BMA Feeder (20 ที่นั่ง รองรับผู้พิการ 2 ที่) สำหรับให้บริการนักท่องเที่ยวและประชาชนที่มาร่วมงานเทศกาลสงกรานต์กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 8 – 16 เมษายน 2566 เวลา 16.00 – 20.00 น. จอดรับ-ส่ง ในเส้นทาง ลานคนเมือง 》คลองผดุงฯ 》ถนนข้าวสาร ความถี่อยู่ที่ 20-30 นาที/คัน โดยได้จัดทำป้ายจอด 11 จุด ได้แก่ 1-ลานคนเมือง(เสาชิงช้า) 2-อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย(ถนนข้าวสาร) 3-สงกรานต์คลองผดุงฯ เขตดุสิต(คุรุสภา) 4-ท่าเรือราชดำเนินนอก(มัฆวาน) 5-ท่าเรือนครสวรรค์(ตลาดนางเลิ้ง) 6-ท่าเรือหลานหลวง(โบ๊เบ๊) 7-ท่าเรือกระทรวงพลังงาน (รพ.หัวเฉียว) 8-ท่าเรือยศเส(เทพศิรินทร์) 9-สงกรานต์คลองผดุงฯ เขตป้อมปราบฯ(สายปัญญา) 10-ท่าเรือนพวงศ์(การรถไฟฯ) 11-ท่าเรือหัวลำโพง(สถานีรถไฟกรุงเทพฯ) เพื่อลดปัญหาจราจรและหลีกเลี่ยงการนำรถจำนวนมากเข้ามาในพื้นที่จัดงานหลัก โดยจะให้บริการฟรี ทั้งนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าวจะงดให้บริการเดินทางด้วยเรือในคลองผดุงกรุงเกษม
● กทม.ผนึกกำลังตำรวจ ดูแลความปลอดภัยประชาชนและนักท่องเที่ยว
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังให้ความสำคัญในเรื่องมาตรการรักษาความปลอดภัยและการอำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชนและนักท่องเที่ยวเป็นพิเศษ โดยได้จัดตั้งกองอำนวยการร่วมกลาง และให้ทุกสำนักงานเขตประสานงานกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล กองบังคับการตำรวจจราจร กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว และสถานีตำรวจในพื้นที่ เพื่อร่วมกันดูแลและรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ควบคุมดูแลพื้นที่ที่คาดว่าจะมีผู้คนมาร่วมงานหนาแน่น ให้มีศูนย์ CCTV ติดตามเฝ้าสังเกตการณ์ เพื่อจำกัดผู้ร่วมงานไม่ให้เกินปริมาณที่พื้นที่รองรับได้ พร้อมทั้งดูแลไฟฟ้าแสงสว่างในเส้นทางหลัก ๆ บริเวณพื้นที่จัดงานอย่างทั่วถึง
รวมทั้งได้มีการสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของประชาชน ดังนี้ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ให้เตรียมพร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง ดูแลความปลอดภัยจากอัคคีภัย ประจำสถานีดับเพลิงหลัก 41 แห่ง สถานีดับเพลิงย่อย 7 แห่ง และประจำจุดเฝ้าระวังอันตราย 37 จุด รวมทั้งสิ้น 85 จุด เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ พร้อมขอความร่วมมือสำนักงานเขตดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาเพลิงไหม้หญ้าและขยะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟไหม้หญ้าบริเวณพื้นที่รกร้างว่างเปล่าในกรุงเทพมหานคร
สำนักการแพทย์ ให้เตรียมพร้อมจัดบริการทั้งภายในและภายนอกโรงพยาบาลตลอด 24 ชั่วโมง เตรียมพร้อมบุคลากร อุปกรณ์ทางการแพทย์ น้ำมันเชื้อเพลิง สำรองเตียง เลือด ยาและเวชภัณฑ์ เพื่อรองรับกรณีเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน พร้อมสนับสนุนทีมด้านการแพทย์ในสถานที่ที่มีการจัดงานเทศกาลสงกรานต์ และทีมอาสาสมัครกู้ชีพจากมูลนิธิ องค์กรสาธารณกุศล สนับสนุนในจุดให้บริการประชาชนตามเส้นทางขาออกจากกรุงเทพมหานคร ในส่วนของศูนย์เอราวัณ มีหน้าที่รับแจ้งเหตุทางสายด่วน 1669 และสั่งการรถปฏิบัติการฉุกเฉินในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร ออกให้ความช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินทั้งภาวะปกติและสาธารณภัย รวมถึงรวบรวมข้อมูลผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 11 – 17 เมษายน 2566
สำนักอนามัย ให้มีการร่วมมือกับชุมชน ประชาชน และหน่วยงานต่าง ๆ รณรงค์และดำเนินการตามมาตรการ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” อย่างเคร่งครัด จัดหน่วยเตรียมรับสถานการณ์ฉุกเฉิน เตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ อุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ เวชภัณฑ์ทางการแพทย์ ณ อาคารธานีนพรัตน์ ชั้น 10 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง ตั้งแต่วันที่ 13 – 17 เม.ย. เวลา 08.00 – 16.00 น. จัดทีมปฐมพยาบาล ประกอบด้วย บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข พร้อมเครื่อง AED รถพยาบาลและเวชภัณฑ์ รับผิดชอบปฏิบัติงานประจำจุดศูนย์อำนวยความสะดวกและรักษาความปลอดภัยของกรุงเทพมหานคร จำนวน 11 จุด (เส้นทางเข้าออกเมือง 7 สถานีขนส่ง 4 จุด) ตั้งแต่วันที่ 11 – 17 เมษายน เวลา 08.00 – 16.00 น. หรือปรับเวลาตามความเหมาะสม ตลอดจนจัดทีมปฐมพยาบาล ประกอบด้วย บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข พร้อมเครื่อง AED รถพยาบาลและเวชภัณฑ์ รับผิดชอบปฏิบัติงานประจำเต็นท์กองอำนวยการ ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร วันที่ 12 เมษายน เวลา 10.00 – 22.00 น. วันที่ 13 เมษายน เวลา 06.00 – 22.00 น. และวันที่ 14 เมษายน เวลา 10.00 – 22.00 น.
อนึ่ง ผู้ร่วมแถลงข่าวในวันนี้ประกอบด้วย ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน อาทิ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ตำรวจนครบาล ตำรวจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย ไอคอนสยาม สมาคมผู้ประกอบการค้าถนนข้าวสาร เซ็นทรัล บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ De Moon Bangkok Water Festival 2023 ฯลฯ