(29 มี.ค. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ร่วมกิจกรรม “ผู้ว่าฯ สัญจร สำนักการศึกษา” ณ สำนักการศึกษา เขตคลองสาน เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงาน พร้อมหารือแนวทางยกระดับการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิการจัดการศึกษาให้เด็กนักเรียนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครให้มีความรู้ มีศักยภาพ และทักษะที่หลากหลาย สามารถประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง สังคม และคนรอบข้างได้อย่างดี
โดย ผู้ว่าฯ ชัชชาติ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า สำนักการศึกษาเป็นสำนักที่มีความสำคัญ สามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ ซึ่งปัจจุบันกรุงเทพมหานครรับผิดชอบนักเรียนประมาณ 2.5 แสนคน เท่า ๆ กับ สพฐ. ที่มีประมาณ 2.5 แสนคนเช่นเดียวกัน ส่วนโรงเรียนเอกชนดูแลเด็กนักเรียนประมาณ 3 แสนคน ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครมีนโยบายด้าน “เรียนดี” เป็นนโยบายหลัก และมีมาตรการหลักที่ดำเนินการอยู่ 6 ด้าน ได้แก่ 1. การสร้างสวัสดิการขั้นพื้นฐานให้นักเรียนทุกคนอย่างทั่วถึงซึ่งรวมถึงเด็กพิเศษด้วย อาทิ ตำรา ค่าอาหาร เป็นต้น 2. การพัฒนาคุณภาพและการจัดการเรียนรู้ให้ทันสมัยและตอบโจทย์ความต้องการในอนาคต 3. การเปิดพื้นที่การเรียนรู้ให้มีหลากหลายรูปแบบ 4. การพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่งปัจจุบันมี 58 โรงเรียน ที่เข้าสู่ระบบนวัตกรรมการศึกษา 5. การปลดล็อกข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้มีเวลาอยู่กับนักเรียนมากขึ้น นำบุคลากรทางด้านธุรการมาช่วย ปรับกระบวนการขอวิทยฐานะให้สะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ครูจะได้ไม่เสียเวลากับเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับการศึกษา และ 6. พัฒนาเทคโนโลยีการศึกษาให้เข้มแข็งขึ้น ซึ่งได้ดำเนินการไปทุกด้านและเห็นผลชัดเจน
รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวเสริมว่า ในเรื่องการสร้างสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่เข้มแข็งสำหรับทุกคนอย่างทั่วถึง (STRONG FOUNDATION) เช่น อาหารเช้า อาหารกลางวัน กรุงเทพมหานครได้มีการจัดสลัดบาร์เป็นโภชนาการเพิ่มเติมเป็นอาหารกลางวัน โดยตั้งเป้าให้ปีการศึกษาหน้ามี 3 วันต่อสัปดาห์ เรื่องชุดนักเรียนได้เน้นย้ำให้มีการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องให้สามารถจัดหาชุดนักเรียนให้เด็กได้ก่อนเปิดภาคเรียน เรื่องผ้าอนามัยฟรี ในปีงบประมาณ 2567 จะตั้งงบประมาณจัดหาผ้าอนามัยให้เด็กนักเรียนหญิงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 6 หรือต่ำกว่าที่มีประจำเดือน ประมาณ 18,000 คน ใน 109 โรงเรียน คนละ 3 ชิ้น/วัน จำนวน 5วัน/เดือน
ส่วนเรื่องการพัฒนาคุณภาพหลักสูตรและการจัดกระบวนการเรียนรู้ (CURRICULUM AND LEARNING) จะมีการปรับให้เป็นหลักสูตรตามสมรรถนะ เป็นตามพื้นฐานในศตวรรษที่ 21 โดยเน้น 3 เรื่อง ได้แก่ 1. เรื่องภาษา มีแผนเพิ่มโรงเรียน 2 ภาษา (สอนภาษาอังกฤษหรือภาษาจีนทั้ง 5 วิชา) อีก 5 โรงเรียน 2. มีแผนจัดอบรมเพิ่มศักยภาพให้ครูคนไทยที่สอนภาษาอังกฤษทั้ง 437 โรงเรียน ให้ครูมีทักษะภาษาอังกฤษที่ดีขึ้น และ 3. ปกติสำนักงานเขตมีการจ้างครูต่างชาติอยู่ ได้มีแผนให้เด็กนักเรียนได้พูดคุยกับครูชาวต่างชาติผ่านเทคโนโลยีเพิ่มเติม
การเปิดโรงเรียนแห่งการเรียนรู้ (OPEN EDUCATION) เช่น After School Program เรียน เล่น หลังเลิกเรียน Saturday School เปิดโรงเรียนวันหยุดเป็นพื้นที่กิจกรรม พื้นที่การเรียนรู้สำหรับนักเรียนและชุมชน ได้ดำเนินการแล้วประมาณ 50 โรงเรียน ในปีการศึกษาหน้ามีแนวทางความร่วมมือกับภาคเอกชนมากขึ้น รวมถึงนำเอาแนวทางดำเนินการของมูลนิธิโรงเรียนวันเสาร์มาขยายผลใช้กับโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครทั้ง 437 โรงเรียนด้วย
สำหรับการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษากรุงเทพมหานคร (EDUCATION SANDBOX) โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครได้ร่วมพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จำนวน 58 โรงเรียน ใน 9 เป้าหมาย ไฮไลท์คือโรงเรียนส่วนใหญ่ (19 โรงเรียน) สนใจเรื่องทักษะอาชีพ และมี 5 โรงเรียน จะเป็นโรงเรีย EP ส่วนโรงเรียนที่เหลือเป็นเรื่องพัฒนาเด็กปฐมวัย พัฒนาผลการเรียน ทักษะภาษาจีน ดิจิทัล/เทคโนโลยี ทักษะการอ่าน พัฒนาครู และเรื่องอื่น ๆ
ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีการศึกษา (DIGITAL TRANSFORMATION) กรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกับ Google เปลี่ยนโรงเรียนจาก Passive Learning เป็น Active Learning ให้เด็กมีส่วนร่วมกับการเรียนรู้ มีเครื่องมือให้เด็กใช้ ซึ่งได้เริ่มทำ Sandbox ไปแล้ว 1 โรงเรียน ในปีการศึกษาหน้าจะขยายเป็น 11 โรงเรียน และอาจมีการทำแคมเปญร่วมกับภาคเอกชนหรือประชาชนนำคอมพิวเตอร์เก่ามาให้เด็กนักเรียนใช้ในการศึกษา นอกจากนี้จะมีการพัฒนา Wi-Fi โรงเรียน และห้องคอมพิวเตอร์ คาดว่าเดือน มิ.ย. – ส.ค. 66 จะมีห้องคอมพิวเตอร์ครบทั้ง 437 โรงเรียน
เรื่องสำคัญต่อไปก็คือเรื่องการปลดล็อกข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากรุงเทพมหานคร (TEACHER IS A KEY) เรามีนโยบายทางการศึกษาเยอะ แต่คนที่รับภาระทั้งหมดคือคุณครู ซึ่งก็มีหลาย ๆ เรื่องที่เกี่ยวข้องกับคุณครู อาทิ การสรรหาครูมาทดแทนอัตราว่าง โครงการทุนเอราวัณ โครงการช้อนครู ครูพี่เลี้ยง ครูคืนถิ่น นโยบายคืนครูให้นักเรียน โดยจ้างลูกจ้างชั่วคราวตำแหน่งธุรการโรงเรียนเพื่อลดภาระงานเอกสารของครู ปรับหลักเกณฑ์การเลื่อนวิทยฐานะให้สอดคล้องกับการสอน เพื่อให้มีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการเพิ่มสวัสดิการครูให้เหมาะสมด้วย
รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนโยบายหลักทั้ง 6 ด้าน เรายังได้เน้นย้ำการดูแลตั้งแต่ระดับเส้นเลือดฝอย ซึ่งโรงเรียนนั้นถือเป็นหัวใจหลัก โดยเราได้ให้ทางเขตสำรวจสิ่งที่ต้องปรับปรุงทั้งหมดและจัดสรรงบประมาณในปี 2567 เพื่อมาดำเนินการปรับปรุงด้านกายภาพโรงเรียน
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักการศึกษาจะมีความแตกต่างจากสำนักอื่น ๆ ที่สามารถวัดผลได้ง่าย เช่น สำนักการโยธา ที่วัดผลว่าถนนเสร็จเมื่อไร หรือสำนักการระบายน้ำ ที่วัดผลว่าน้ำท่วมหรือไม่ แต่สำนักการศึกษาเป็นการวัดผลในเรื่องของคน เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องให้ความสำคัญอย่างมากในการพัฒนา และการวัดผลนั้นอาจจะต้องใช้เวลานาน 10 – 20 ปี ถึงจะทราบว่าได้ผลหรือไม่ วันนี้จึงได้มอบนโยบายไปว่าต้องมีเป้าประสงค์ที่ชัดเจน เพราะหากทำไม่ชัดเจนอาจจะหลุดออกจากสิ่งที่ควรจะเป็นได้ ดังนั้นต้องมีตัวชี้วัด เช่น วัดผลสอบ วัดความพึงพอใจของครูกับสวัสดิการที่ได้รับ เป็นต้น เพื่อทำให้รู้ว่าเราไปถูกทิศทางหรือไม่ ทั้งนี้ การพัฒนาด้านการศึกษาในหลายเรื่องคงต้องอาศัยความร่วมมือกับภาคเอกชนและหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งจะเห็นว่าที่ผ่านมามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างชัดเจน
● ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ย้ำ มากกว่าการเลือกตั้ง คือความเชื่อมั่นศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย
สำหรับการเตรียมความพร้อมในการรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า วันนี้ได้มีการประชุมกับ กกต.กทม. ในช่วงเช้า โดยมี ผอ.เขต ทุกเขตร่วมประชุม ซึ่งในเรื่องการเลือกตั้ง ส.ส. นั้น ทางกทม.มีรองปลัดฯ ชาตรี วัฒนเขจร เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการ เพราะท่านมีประสบการณ์ผ่านมาหลายการเลือกตั้ง ก็ได้เน้นให้รอบคอบในทุก ๆ เรื่อง ให้ทุกคนทำ checklist ต่าง ๆ มีรายละเอียดเช่น ระยะเวลาดำเนินการ ผู้รับผิดชอบในแต่ละขั้นตอน เพราะกระบวนการเลือกตั้งยังมีอีกมาก ไม่ใช่เฉพาะการรับสมัคร จากนี้ไปจะมีทั้งการกำหนดพื้นที่หาเสียง พื้นที่ติดตั้งป้าย การเตรียมบุคลากรในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งเรามีหน่วยเลือกตั้งประมาณ 6,300 หน่วย ถือว่าเยอะมาก แต่หลายคนก็เคยผ่านกระบวนการเหล่านี้มาแล้ว จึงคิดว่าเรามีความพร้อมเต็มที่ และทาง กกต.ก็ร่วมมือกับเรา
อย่างไรก็ตามได้เน้นย้ำไปว่า สิ่งที่เราทำอยู่นั้นไกลยิ่งกว่าการเลือกตั้ง แต่คือการสร้างความมั่นใจให้กับระบอบประชาธิปไตย ถ้าหากเราสามารถมีการเลือกตั้งที่โปร่งใส ยุติธรรม มีประสิทธิภาพ คนก็จะไว้ใจในผลการเลือกตั้งมากขึ้น แต่ถ้าก้าวแรกไม่มั่นคง เราจัดไม่ดี คนไม่ไว้ใจ มีปัญหาต่าง ๆ สุดท้ายจะมีผลกระทบกับกระบวนการในระยะยาว จึงได้เน้นว่ามากกว่าการเลือกตั้ง คือความเชื่อมั่นศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย กทม.ต้องทำหน้าที่ให้เข้มแข็ง โปร่งใส และยุติธรรมมากที่สุด คิดว่าการรับสมัครคงไม่ได้มีปัญหา เพราะหลายท่านมีประสบการณ์ที่ผ่านมาหลายครั้ง
ปัญหาหนึ่งที่ต้องกำชับ คือ เรื่องเบอร์พรรคไม่ตรงกับเบอร์คน หรือเรื่อง 1 เขตของกทม.อาจมีหลายเขตเลือกตั้ง ก็คงเป็นเรื่องที่ต้องความทำความเข้าใจให้ชัดเจน ต้องทำให้ประชาชนทราบว่าตนเองอยู่ในเขตเลือกตั้งไหน ซึ่งกทม.เองก็ต้องเตรียมตัว แต่ก็น่าจะไม่มีปัญหาอะไร ซึ่งได้เน้นย้ำไปว่าสิ่งที่ กกต.กำหนดคือมาตรฐานขั้นต่ำ (minimum) แต่เราต้องพยายามคิดหานวัตกรรมหรือ Innovation ที่ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น จะช่วยอย่างไรให้ผู้สังเกตการณ์เลือกตั้งมีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดความโปร่งใสมากที่สุด หรือการนำเทคโนโลยีกล้องวิดีโอ CCTV ต่าง ๆ มาใช้ ซึ่งจริง ๆ แล้วกฎหมายไม่ได้ห้ามใช้กล้อง CCTV เพียงแต่ห้ามถ่ายรูปหลังคูหา ห้ามถ่ายบัตรเลือกตั้งที่กาแล้วมาเผยแพร่ ก็ต้องทำความเข้าใจกฎต่าง ๆ และนำนวัตกรรมหรือวิธีการคิดที่เกินกว่าสิ่งที่ กกต.สั่ง มาใปรับใช้ เพื่อให้มั่นใจว่ากทม.ทำได้ดีที่สุด ซึ่งกทม.พร้อมในเรื่องนี้ ไม่มีปัญหา
● กทม.เตรียมพร้อมระบบระบายน้ำ ตรวจสอบความแข็งแรงต้นไม้ ป้องกันผลกระทบพายุฤดูร้อน
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวถึงการรับเมื่อพายุฤดูร้อนว่า กทม.ได้มีการเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์จากอิทธิพลของพายุฤดูร้อนที่อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่กรุงเทพฯ โดยจัดเจ้าหน้าที่พร้อมปฏิบัติการตลอด 24 ชั่วโมง ติดตาม ตรวจสอบ เฝ้าระวังสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา รวมถึงติดตามกลุ่มฝนด้วยเรดาร์ตรวจอากาศของ กทม. เตรียมเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการเร่งด่วนเคลื่อนที่ (BEST) เข้าพื้นที่ขณะฝนเริ่มตก เพื่อตรวจสอบพร้อมเร่งระบายน้ำในจุดที่ประสบปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่จุดเสี่ยง จุดเฝ้าระวัง รวมถึงบริเวณอุโมงค์ทางลอดต่าง ๆ พร้อมทั้งความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม จัดเจ้าหน้าที่ควบคุมสถานีสูบน้ำ อุโมงค์ระบายน้ำและบ่อสูบน้ำ เตรียมพร้อมระบบระบายน้ำ เร่งขุดลอกท่อระบายน้ำ คูคลอง พร้อมเปิดทางน้ำไหล และจัดเก็บขยะวัชพืชกีดขวางทางน้ำ เร่งการป้องกันน้ำท่วมฉับพลัน มีการพร่องน้ำในคลอง บ่อสูบน้ำ และแก้มลิง ให้อยู่ในระดับต่ำ เตรียมพร้อมเครื่องจักรและเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองประจำสถานีสูบน้ำกรณีไฟฟ้าขัดข้อง เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ (โมบายยูนิต) รถเครน รถบรรทุกติดตั้งเครนยกไฮโดรลิค บอลลูนไลท์ เครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ ติดตั้งและตรวจสอบแก้ไขเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ จัดเตรียมน้ำมันเชื้อเพลิงให้เพียงพอสำหรับเครื่องสูบน้ำและเครื่องจักรกลที่ติดตั้งใช้งานในพื้นที่จุดเสี่ยงและจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม
ในขณะเดียวกัน ได้แจ้งเตือนหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลต้นไม้ใหญ่ ให้ประเมินความเสี่ยงและตัดแต่ง สางโปร่งทรงพุ่มที่หนาทึบ ตัดแต่งกิ่งผุ กิ่งที่เสี่ยงหัก ตามหลักรุกขกรรม หากสำรวจพบต้นเอนเอียงให้เร่งดำเนินการค้ำยัน เพื่อป้องกันต้นไม้โค่น รวมทั้งได้จัดเตรียมหน่วยเร่งด่วนฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง พร้อมยานพาหนะและเครื่องมือ เพื่อแก้ไขหากมีเหตุต้นไม้โค่นล่มกีดขวางทางจราจร หรือทำความเสียหายแก่บ้านเรือนประชาชน คงไม่ได้น่ากังวลมากเพราะมีการเตรียมพร้อมอยู่แล้ว
● สถานการณ์ฝุ่นดีขึ้น ดำเนินการตรวจแหล่งกำเนิดฝุ่นต่อเนื่อง
สำหรับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ตอนนี้ดีขึ้น เนื่องจากลมใต้ขึ้นมา แต่อาจจะมีวันที่ 2 หรือ 3 ที่อาจมีลมย้อนจากฝั่งตะวันตก ซึ่งเมียนมาร์มีจุดเผาค่อนข้างเยอะ แม้ยังไม่ชัดเจนแต่อาจจะมีการเตือนว่าจะมีจุดสีเหลือง ซึ่งยังไม่ถึงขนาดต้อง work from home กทม.เองยังคงดำเนินการในสิ่งที่ทำอยู่อย่างต่อเนื่อง เช่น ตรวจควันดำ ซึ่งถ้าควบคุมตรงนี้ ก็อาจทำให้ภาพรวมฝุ่นลดลงได้ แต่หากฝุ่นมาจากการเผาชีวมวลภายนอกพื้นที่กรุงเทพฯ เราคงไปควบคุมต้นตอได้ยาก เบื้องต้นเราคงให้ความรู้ประชาชนต่อเนื่อง และดำเนินการอย่างเข้มข้นในส่วนที่เราดำเนินการได้ ซึ่งจะแจ้งความคืบหน้าเรื่องนี้ต่อไป ทั้งนี้ คิดว่าสถานการณ์ของกรุงเทพฯ ไม่น่าเป็นห่วงเหมือนช่วงที่ผ่านมา
● ทานข้าวเที่ยงกับผู้แทนสำนักการศึกษา พร้อมรับฟังปัญหาและส่งมอบกำลังใจ
หลังการให้สัมภาษณ์ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับผู้แทนจากสำนักการศึกษา จำนวน 6 คน ได้แก่ 1.นายยศดนัย ศรีจันดี นายช่างโยธาปฏิบัติงาน กลุ่มงานโยธา สำนักงานเลขานุการ 2.นายพีระวัฒน์ เทียนทรัพย์ นักทรัพยากรบุคคล จ้างเหมาบริการรายบุคคล กลุ่มงานประเมินบุคคลและมาตรฐานวิชาชีพ ส่วนสรรหาและข้อมูลบุคคล สำนักงานการเจ้าหน้าที่ 3.นางสาวศุภจิรา นาคโต ศึกษานิเทศก์ วิทยฐานะศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ กลุ่มงานนิเทศการพัฒนาสื่อนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษา หน่วยศึกษานิเทศก์ 4.นายอิสระ ใสฮาต นักวิชาการศึกษาปฏิบัติการ กลุ่มงานแผนและวิชาการ กองเทคโนโลยีการศึกษา 5.นายนภัทร ณรังศรี นักทรัพยากรบุคคลปฏิบัติการ กลุ่มงานพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาและศึกษานิเทศก์ ส่วนวิชาการและพัฒนาข้าราชการครู สถาบันพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา กรุงเทพมหานคร และ 6.นายวระศิลป์ คงดี นักวิชาการศึกษาชำนาญการ กลุ่มงานส่งเสริมศักยภาพนักเรียน กองเสริมสร้างสมรรถนะนักเรียน
โดยได้พูดคุย สอบถามสารทุกข์สุกดิบ รับฟังปัญหา/อุปสรรคในการทำงาน รวมถึงรับฟังข้อเสนอแนะต่าง ๆ และให้กำลังใจในการทำงานแก่บุคลากร ทั้งนี้ การรับประทานอาหารร่วมกันเป็นนโยบายหนึ่ง ซึ่งตอกย้ำการให้ความสำคัญกับบุคลากรของหน่วยงานอย่างไม่เลือกปฏิบัติ