กทม.เตรียมพร้อมแผนเผชิญเหตุเฝ้าระวังการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก (Marburg Virus Disease) ของ กทม.ว่า โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์กเป็นโรคที่ยังไม่เคยพบในประเทศไทย แต่ด้วยความรุนแรงของโรคทำให้ไทยจัดเป็น 1 ใน 13 โรคติดต่ออันตราย ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ.2558 อัตราการป่วยเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 88 เป็นไวรัสในสกุลเดียวกับไวรัสอีโบลา คือ Filoviridae ดังนั้น การประกาศพบผู้ป่วยครั้งนี้ จึงไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ ซึ่งจากการติดตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) แจ้งว่า ขณะนี้พบผู้ป่วยมากขึ้นในประเทศอิเควทอเรียลกินีและแอฟริกากลาง แต่ได้รับการช่วยเหลือควบคุมโรคแล้ว สำหรับประเทศไทยได้เตรียมการเฝ้าระวัง โดยที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ เพิ่มระบบที่สามารถเฝ้าระวังโรคมาร์บวร์กและคัดกรองผู้ที่เดินทางจากต้นทางประเทศอิเควทอเรียลกินีและประเทศในแอฟริกากลาง รวมทั้งยกระดับการติดตามข้อมูลผู้ที่เดินทางจากประเทศในแอฟริกากลาง จะต้องต่อเครื่องที่เอธิโอเปียและเคนยา ซึ่งมีผู้เดินทาง เข้ามาประเทศไทย จำนวน 13 คน
ในส่วนของ กทม.ได้เร่งส่งเสริมความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก โดยมีระยะฟักตัว 2 – 21 วัน อาการผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ ตามด้วยอาการเจ็บคอ อาเจียน ท้องเสีย และมีผื่นนูนแดงตามตัว (maculopapular rash) ในรายที่รุนแรง หรือในบางรายที่เสียชีวิต อาการเลือดออกง่ายมักเกิดร่วมกับภาวะตับถูกทำลาย ไตวาย อาการทางระบบประสาทส่วนกลาง และช็อก โดยอวัยวะหลายระบบเสื่อม โรคนี้ติดต่อได้ทางเลือดและอุจจาระ เช่นเดียวกับไวรัสอีโบลา พบไวรัสในค้างคาวและแพร่เชื้อมาสู่คน อีกทั้งยังติดต่อได้ผ่านการสัมผัสโดยตรงกับเลือดและสารคัดหลั่งจากร่างกายผู้ติดเชื้อ หรือสัมผัส ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีน หรือยาต้านไวรัสที่รักษาได้ การรักษาเป็นแบบประคับประคองตามอาการ การป้องกันทำได้โดยสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย
นอกจากนี้ ได้กำชับเน้นย้ำแนวทางปฏิบัติให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในสถานพยาบาลสังกัด กทม. หากพบผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาจากประเทศอิเควทอเรียลกินีและประเทศใกล้เคียงในทวีปแอฟริกาตะวันตกที่มีอาการป่วยเข้าข่ายต้องสงสัย ให้เก็บตัวอย่างส่งตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการและรายงานผู้ป่วยที่สงสัยภายใน 3 ชั่วโมง ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แนะนำ รวมทั้งเตรียมพร้อมแผนเผชิญเหตุฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขของ กทม. กรณีพบผู้ติดเชื้อโรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์กในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งนี้ หากประชาชนพบผู้ที่สงสัยโรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก ให้แจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อที่ศูนย์บริการสาธารณสุข หรือกองควบคุมโรคติดต่อ สนอ.
กทม.ประสานตำรวจเข้มงวดวินัยจราจร ตั้งจุดจับปรับผู้ฝ่าฝืนขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้าช่วงซอยสุขุมวิท 26
นางเบญญา อินทรวงศ์โชติ ผู้อำนวยการเขตคลองเตย กทม. กล่าวถึงการแก้ไขปัญหากรณีมีผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้าช่วงซอยสุขุมวิท 26 ว่า สำนักงานเขตคลองเตย ได้ติดตั้งป้าย “ห้ามจอด หรือขับขี่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือล้อเลื่อนบนทางเท้า ฝ่าฝืนปรับไม่เกิน 5000 บาท” บริเวณถนนสุขุมวิท ถนนพระรามสี่ และถนนสายอื่น ๆ ในพื้นที่ที่มีการจราจรติดขัด เพื่อป้องกันไม่ให้มีผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า ขณะเดียวกันได้จัดชุดเจ้าหน้าที่เทศกิจ ตั้งจุดกวดขันวินัยจราจร หากพบผู้ฝ่าฝืนขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า หรือตั้งวางสินค้ากีดขวางทางสัญจรของประชาชน จะดำเนินการเปรียบเทียบปรับตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 ในบริเวณจุดเกิดเหตุทันที รวมทั้งกำชับเจ้าหน้าที่เทศกิจตรวจตราพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ เพื่อเฝ้าระวังไม่ให้มีผู้ฝ่าฝืนจอด หรือขับขี่รถยนต์ รถจักรยานยนต์บนทางเท้า นอกจากนั้น ยังได้ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาล (สน.) ทองหล่อ เพิ่มความเข้มงวดกวดขันการขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า และการตั้งวางสินค้ากีดขวางทางสัญจรของประชาชนบริเวณดังกล่าว
นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ (สนท.) กทม. กล่าวว่า สนท.ได้ประสานสำนักงานเขตคลองเตยเพิ่มความเข้มงวดกวดขันผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้าบริเวณถนนสุขุมวิท ช่วงซอยสุขุมวิท 26 รวมทั้งกำชับเจ้าหน้าที่เทศกิจเขตคลองเตยลงพื้นที่กวดขันจับปรับผู้กระทำผิด ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ ห้ามขับขี่ หรือจอดรถบนทางเท้าอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง ทั้งนี้ สนท.ได้ดำเนินการตามโครงการกวดขันรถยนต์ รถจักรยานยนต์ จอดหรือขับขี่บนทางเท้า โดยบูรณาการร่วมกับเจ้าหน้าที่เทศกิจสำนักงานเขต ลงพื้นที่ตรวจตรา ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อย กวดขันมิให้ฝ่าฝืนขับขี่ หรือจอดรถบนทางเท้าตามถนนต่าง ๆ รวมทั้งตั้งจุดจับ – ปรับบริเวณที่มีการฝ่าฝืนเป็นจำนวนมาก โดยระหว่างเดือน ก.ค.61 – 18 ก.พ.66 จับกุมผู้ฝ่าฝืนแล้ว 46,157 ราย ปรับเป็นเงิน 50,220,200 บาท และหากผู้ฝ่าฝืนก่อให้เกิดความเดือดร้อนกับประชาชน เช่น ทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกาย หรือเฉี่ยวชนผู้ใช้ทางเท้าจนได้รับบาดเจ็บ หรือหากมีการต่อสู้ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ จะดำเนินคดีเปรียบเทียบปรับผู้กระทำผิดในอัตราสูงสุด พร้อมทั้งส่งเรื่องให้ สน.ท้องที่ดำเนินคดีอาญาอีกข้อหาหนึ่งด้วย
นอกจากนั้น ยังได้ดำเนินการตามโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ เพื่อการจัดระเบียบเมือง (รณรงค์ไม่จอด หรือขับขี่รถยนต์ รถจักรยานยนต์บนทางเท้า) ในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่าง กทม.กับภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน รณรงค์ไม่จอด หรือขับขี่รถยนต์ รถจักรยานยนต์บนทางเท้าและยังเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมแจ้งเบาะแสผู้กระทำความผิดผ่านช่องทางต่าง ๆ อาทิ www.bangkok.go.th/reward เพจเฟซบุ๊กสำนักเทศกิจ หรือแจ้งโดยตรงต่อเจ้าหน้าที่เทศกิจ กทม.ทุกสำนักงานเขต หากข้อมูลที่แจ้งนำไปสู่การจับกุมผู้กระทำผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ ผู้แจ้งเบาะแสจะได้รับส่วนแบ่งค่าปรับจำนวนกึ่งหนึ่ง จากการดำเนินการตามโครงการดังกล่าว ส่งผลให้ประชาชนผู้ใช้ทางเท้าได้รับความสะดวกและปลอดภัย รวมทั้งช่วยลดอุบัติเหตุและความสูญเสียได้มากขึ้น
กทม.ปรับปรุงคันหินกั้นทางถนนศาลาธรรมสพน์ ป้องกันอันตรายผู้ใช้ไหล่ทาง
นายดิชา คงศรี ผู้อำนวยการเขตทวีวัฒนา กทม. กล่าวกรณีประชาชนในพื้นที่ถนนศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา ร้องเรียนตัวกั้นทางบริเวณถนนศาลาธรรมสพน์ ทำให้เกิดอุบัติเหตุว่า ถนนศาลาธรรมสพน์ เป็นถนนที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของสำนักการโยธา (สนย.) ซึ่งได้ก่อสร้างปรับปรุงแล้วเสร็จเมื่อเดือน ก.พ.63 มีความยาวประมาณ 6 กิโลเมตร เป็นถนน ค.ส.ล.ขนาด 2 ช่องจราจร บริเวณไหล่ทางมีแท่งคันหินกั้นเป็นระยะ ๆ ทั้งสองฝั่ง
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวว่า การก่อสร้างคันหินกั้นทางบริเวณถนนศาลาธรรมสพน์ มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดขึ้นระหว่างผิวจราจรที่มีการใช้ความเร็วสูง (ตั้งแต่ 60 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง หรือมากกว่า) กับไหล่ทาง ซึ่งใช้สำหรับเป็นทางเดินเท้าของประชาชนในพื้นที่ โดย กทม.ได้ตีเส้นจราจรเป็นเส้นทึบคู่ เพื่อบังคับไม่ให้รถที่มีความเร็วเข้ามาในบริเวณดังกล่าว มีความกว้าง 2.40 เมตรอยู่หน้าคันหิน ใช้สำหรับเป็นพื้นที่ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของประชาชนที่มีการใช้ความเร็วต่ำ เช่น ขี่จักรยาน
นายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม. กล่าวว่า สจส.ได้เร่งแก้ไขปรับปรุง โดยตีเส้นจราจรหน้าคันหินเป็นเส้นทึบคู่ความกว้าง 2.40 เมตร เพื่อบังคับไม่ให้รถที่มีความเร็วเข้ามาในบริเวณดังกล่าวและทาสีสะท้อนแสงด้านข้างคันหินตลอดแนวเส้นทาง รวมถึงบริเวณจุดตัดทางแยก – ทางร่วม เพื่อเพิ่มการรับรู้และเพิ่มความระมัดระวังในการใช้ความเร็วของผู้ขับขี่ยานพาหนะในบริเวณดังกล่าว