Flag
ตรวจคัดขยะเขตบางพลัด เช็กระบบจัดเก็บรายได้ BMA TAX เร่งรัดก่อสร้างเขื่อนค.ส.ล.คลองเตย คุมเข้าค่าฝุ่น PM2.5 แพลนท์ปูนทีพีไอถนนสิรินธร

ตรวจคัดขยะเขตบางพลัด เช็กระบบจัดเก็บรายได้ BMA TAX เร่งรัดก่อสร้างเขื่อนค.ส.ล.คลองเตย คุมเข้าค่าฝุ่น PM2.5 แพลนท์ปูนทีพีไอถนนสิรินธร ชูโรงแรมรอยัลริเวอร์ต้นแบบคัดแยกขยะอย่างครบวงจร 

 

(20 มี.ค.66) เวลา 14.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตบางพลัด ประกอบด้วย

 

 

ตรวจเยี่ยมอาคารต้นแบบการแยกคัดขยะ สำนักงานเขตบางพลัด มีข้าราชการและบุคลากร 206 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล แต่ละฝ่ายมีการคัดแยกขยะ ได้แก่ กระดาษ ลัง พลาสติก ขวดน้ำพลาสติก เจ้าหน้าที่แต่ละฝ่ายนำไปจำหน่าย แม่บ้านจะรายงานข้อมูลการคัดแยกส่งให้ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ ตั้งจุดรองรับขยะรีไซเคิลรวมของเขต จุดรับพลาสติกกำพร้า และจุดรับขวดพลาสติกช่วยหมอ 2.ขยะอินทรีย์ ตั้งถังรองรับเศษอาหารในห้องเตรียมอาหารหรืออ่างล้างจานของแต่ละฝ่าย ยกเว้นฝ่ายทะเบียน ฝ่ายการคลัง ซึ่งเป็นส่วนบริการประชาชน เจ้าหน้าที่จะนำเศษอาหารที่เหลือไปทิ้งที่ถังรองรับเศษอาหาร แม่บ้านจะเก็บรวบรวมนำไปทิ้งที่จุดคัดแยกขยะด้านหลังอาคาร ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ รวบรวมนำไปส่งที่ศูนย์เรียนรู้ฯ 19 ไร่ เขตตลิ่งชัน สัปดาห์ละ 2 ครั้ง เพื่อให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงสัตว์ 3.ขยะอันตราย จุดรวบรวมขยะอันตรายจากการปฏิบัติงานรถเก็บขนมูลฝอย ก่อนรวบรวมส่งศูนย์กำจัดขยะหนองแขม เดือนละ 1 ครั้ง 4.ขยะทั่วไป เก็บรวบรวมโดยแม่บ้านนำไปรวมที่จุดคัดแยกขยะรวมด้านหลังอาคาร ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ จัดเก็บทุกวัน สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 4,480 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 3,540 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 323 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 10 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 615 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 0 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 2 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 0 กิโลกรัม/เดือน (เริ่มจัดเก็บบันทึกการคัดแยกตั้งแต่เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2566)

 

ติดตามการจัดเก็บรายได้ด้วยระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA TAX) ขั้นตอนและระยะเวลาในการเข้าสู่ระบบการชำระภาษี การจัดเก็บและบันทึกข้อมูลผู้เสียภาษี ศักยภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน ประสิทธิภาพระบบเครือข่ายทั้งแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) เพื่อเตรียมพร้อมในการประเมินภาษีปี 2566 ในพื้นที่เขตฯ มีที่ดิน 28,017 แปลง สำรวจครบแล้ว สิ่งปลูกสร้าง 32,482 แห่ง สำรวจแล้ว 30,200 แห่ง คงเหลือ 2,282 แห่ง ห้องชุด 26,138 สำรวจครบแล้ว สรุปผลการสำรวจภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 86,637 รายการ สำรวจแล้ว 84,355 รายการ คงเหลือ 2,282 รายการ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สอบถามถึงปัญหาและอุปสรรคในการจัดเก็บภาษีรายได้ รวมถึงให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานฝ่ายรายได้ในการสำรวจสิ่งปลูกสร้างให้แล้วเสร็จ ตลอดจนให้คำแนะนำในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีป้าย เพื่อให้การจัดเก็บภาษีเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

 

ตรวจการใช้จ่ายงบประมาณดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. (ดาดท้องคลอง) คลองเตย จากถนนจรัญสนิทวงศ์ถึงบ้านเลขที่ 136 ความกว้าง 3-8 เมตร ความยาว 800 เมตร จุดเริ่มต้นคลองบ้านเลขที่ 136 ซอยจรัญสนิทวงศ์ 95/1 แยก 2 จุดสิ้นสุดคลองริมแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทางก่อสร้างรวม 400 เมตร ความยาวเขื่อน 800 เมตร เริ่มต้นสัญญาวันที่ 12 กันยายน 2565 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 31 มีนาคม 2566 ระยะเวลา 200 วัน อุปสรรคในการก่อสร้างและแนวทางการแก้ไขปัญหา ดังนี้ 1.บ้านรุกล้ำที่สาธารณะ จำนวน 2 หลัง ตรวจสอบแนวเขตที่รุกล้ำดำเนินการรื้อถอนออกจากแนวโครงการแล้ว 2.สายสื่อสารและสายไฟฟ้ากีดขวางแนวการก่อสร้าง ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการรื้อย้ายแล้วเสร็จ ปัจจุบันโครงการก่อสร้างคืบหน้า 70.79% คงเหลือในส่วนก่อสร้างพื้นดาดท้องคลอง งานขุดลอกและขนย้ายดิน ราวเหล็กกันตก บันไดเหล็ก ซึ่งผู้รับจ้างยืนยันว่าโครงการก่อสร้างจะแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2566

 

ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 แพลนท์ปูนบริษัท ทีพีไอ คอนกรีต จำกัด ถนนสิรินธร เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กำชับสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เพื่อป้องกันมลพิษทางอากาศ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการให้ตรวจสอบเครื่องพ่นละอองน้ำบริเวณทางเข้าออกแพลนท์ปูนและพื้นที่โดยรอบให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ปรับปรุงบ่อล้างทำความสะอาดล้อรถโม่ปูน ล้างทำความสะอาดพื้นถนนภายในแพลนท์ปูน ตรวจสอบให้น้ำไหลลงไปยังบ่อคายกากคอนกรีตตกตะกอน พร้อมทั้งเน้นย้ำให้ปฏิบัติตามแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างเคร่งครัด

 

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ โรงแรมรอยัลริเวอร์ พื้นที่ 7 ไร่ 3 งาน 55 ตารางวา พนักงานในโรงแรม 165 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ อาหารปรุงแล้วรับประทานไม่หมด ให้พนักงานนำภาชนะมาใส่กลับไปได้ ถ้ายังเหลือนำไปมอบให้ผู้ยากไร้ เศษอาหารที่เหลือเป็นขยะ นำไปใส่เครื่องทำปุ๋ยหมักและน้ำหมักรดต้นไม้ สำหรับใช้ในโรงแรม แจกจ่ายชุมชนและโรงเรียนใกล้เคียง เศษวัตถุดิบที่เหลือจากการตัดแต่ง นำไปใส่เครื่องทำปุ๋ยอินทรีย์ น้ำซาวข้าว นำไปหมักเป็นจุลินทรีย์น้ำซาวข้าว เปลือกไข่ นำไปตากแห้งและบดผสมกับปุ๋ยอินทรีย์ สำหรับใช้ในโรงแรม แจกให้ลูกค้าหรือผู้ที่สนใจ 2.ขยะรีไซเคิล ขวดพลาสติก ส่งมอบให้โครงการ YOUเทิร์น ของกทม. พลาสติกรีไซเคิล ส่งมอบให้โครงการมือวิเศษ โครงการวน โดยผ่านเขตบางพลัด พลาสติกกำพร้า ส่งมอบให้โครงการ YOLO กระดาษ ขวดแก้ว  อลูมิเนียม เศษเหล็ก น้ำมันพืชเก่า นำไปขายให้โรงงานรีไซเคิล เศษอิฐ ปูน นำไปรองก่อนใส่ดินปลูกต้นไม้ อ่างอาบน้ำ อ่างล้างหน้า ตะกร้า ถังสี นำไปปลูกต้นไม้ เศษไม้ นำไปทำลังหรือขาตั้งกระถางต้นไม้ ผ้าม่าน นำไปทำถุงผ้า ผ้าปูที่นอน ผ้าเช็ดตัว นำไปทำผ้าเอนกประสงค์ ชุดพนักงาน นำไปบริจาค แก้วเครื่องดื่ม take away นำไปปลูกต้นไม้ แจกให้ลูกค้าหรือผู้ที่สนใจ 3.ขยะทั่วไป ใส่ที่เก็บขยะ รอรถขยะเขตฯ มาจัดเก็บ 4.ขยะอันตราย ใส่ถังขยะสีแดง ส่งเขตฯ นำไปกำจัด สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 9,860 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 2,028 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 3,176 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 2,113 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 4,500 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 0 กิโลกรัม/เดือน สำหรับ Royal River Organic Farm ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงานของสถานศึกษา โรงเรียนวัดเปาโรหิตย์ เขตบางพลัด และมหาวิทยาลัยศรีปทุม

 

ในการลงพื้นที่วันนี้มี นางสาวอารียา เพ็งประเสริฐ ผู้อำนวยการเขตบางพลัด พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตบางพลัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล

 

#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #บริหารจัดการดี

—–  (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200