(28 ก.พ.66) เวลา 09.00 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม ระหว่างสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กับกรุงเทพมหานคร และร่วมกิจกรรมพร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับโครงการ “ไม่เทรวม” โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้กล่าวมอบนโยบาย “รัฐสภาสีเขียว มุ่งสู่การเป็นองค์กรรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน” นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงฯ มีสมาชิกรัฐสภา เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ร่วมพิธี ณ ห้องสัมมนา B1-1 ชั้น B1 อาคารรัฐสภา เขตดุสิต
ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาระดับโลกที่ส่งผลกระทบต่อทุกคน แม้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจะเป็นปัญหาใหญ่หากได้รับความร่วมมืออย่างจริงจัง ปัญหานี้ก็จะลดความรุนแรงลงได้ ทั้งนี้ ในส่วนของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้มีการขับเคลื่อนนโยบาย โดยมีการดำเนินการเพื่อรักษาทรัพยากร และสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาองค์กรสู่การเป็นสำนักงานสีเขียว หรือ Green Office โดยได้ประกาศนโยบายสิ่งแวดล้อมไปเมื่อวันที่ 24 มี.ค.63 โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับการบริหารจัดการอาคารรัฐสภาให้ได้มาตรฐานสำนักงานสีเขียว การร่วมโครงการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน “กิจกรรมไม่เทรวม” ร่วมกับกรุงเทพมหานคร เป็นการร่วมลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกอันเกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
เนื่องจากปัญหาก๊าซเรือนกระจกก่อให้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะกระบวนการจัดการขยะมูลฝอยด้วยการฝังกลบ ที่ถือเป็นแหล่งกำเนิดก๊าซเรือนกระจก และเป็นสาเหตุหลักที่เร่งให้เกิดภาวะเรือนกระจก (Greenhouse Effect) รุนแรงกว่าที่ควรจะเป็นตามธรรมชาติ ส่งผลให้อุณหภูมิบนพื้นผิวโลกสูงขึ้นจนกลายเป็นภาวะโลกร้อน การสนับสนุนและส่งเสริมให้ทั้งสองสำนักงานฯ มีการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกันโดยการเข้าร่วมโครงการ “ไม่เทรวม” เพื่อส่งเสริมการทิ้งขยะ การคัดแยกขยะแต่ละประเภทอย่างถูกวิธีและปฏิบัติตามกระบวนการจัดการของเสีย การทิ้งและคัดแยกขยะที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งถือเป็นการแสดงความมุ่งมั่น ความตั้งใจ และการร่วมมือกันของทุกภาคส่วนที่จะร่วมกัน ขับเคลื่อนเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ เพื่อมุ่งสู่การเป็นสำนักงานสีเขียวอย่างยั่งยืน และร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมต่อไป
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่มีประชากรอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่งและเศรษฐกิจ ทำให้เมืองมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ปริมาณขยะเพิ่มมากขึ้น ในภาวะปกติกรุงเทพมหานคร มีขยะมากกว่า 10,000 ตันต่อวัน โดยปี 2561 มีขยะเฉลี่ย 10,705 ตันต่อวัน และปี 2562 มีปริมาณมูลฝอยเฉลี่ย 10,564 ตันต่อวัน ปัจจุบันปี 2564 ลดลงเหลือ 9,000 ตันต่อวัน จากการระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้สถานประกอบการต่าง ๆ หยุดกิจการชั่วคราว ซึ่งขยะทั้งหมดในกรุงเทพมหานครที่เกิดขึ้น ถูกเก็บรวบรวมและนำไปกำจัดหลายวิธี เช่น เทคโนโลยีการฝังกลบอย่างถูกหลักสุขาภิบาล (Sanitary landfill) เทคโนโลยีการหมักปุ๋ย (Composting) เทคโนโลยีเชิงกล – ชีวภาพ (Mechanical Biological Treatment : MBT) การเผาผลิตไฟฟ้า เป็นต้น กทม. ได้บริหารจัดการขยะที่เกิดขึ้น โดยใช้รถเก็บขนมูลฝอย จำนวน 1,829 คัน พนักงาน เก็บขยะ จำนวน 10,532 คน ในเส้นทางบริการเก็บขนมูลฝอยทั่วไป ครอบคลุม พื้นที่ 50 เขต รวม 1,800 เส้นทาง ส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะ ทั้งการ เก็บรวบรวม ขนส่งและการกำจัด ซึ่งขยะที่จัดเก็บได้ยังมีขยะที่เป็นวัสดุสำหรับผลิตสินค้ามาใช้ใหม่ หรือวัสดุรีไซเคิล ประมาณ 8 เปอร์เซ็นต์ ขยะเศษอาหาร ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์ ด้วยการทำปุ๋ย อาหารสัตว์ หรือการหมักแก๊สชีวภาพเป็น เชื้อเพลิงได้ 46.6 เปอร์เซ็นต์
โครงการ “ไม่เทรวม” เป็นไปตามนโยบายสร้างต้นแบบการแยกขยะ ต่อยอดในการแยกขยะระดับเขตสมบูรณ์ครบวงจร นับเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาระบบการจัดการขยะของกรุงเทพมหานคร ให้มีการเก็บขยะแยกประเภทเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ หากการดำเนินการทดลองนำร่องครั้งนี้มีประสิทธิผลที่ดี จะได้ขยายพื้นที่ดำเนินการให้มากขึ้นจนครบ 50 เขต และเพิ่มระบบการนำ เศษอาหารไปใช้ประโยชน์ ทั้งการจัดการที่ต้นทางและรองรับที่ปลายทาง เช่น การส่งเสริมการหมักปุ๋ยอินทรีย์จากเศษอาหารที่คัดแยกไว้โดยเฉพาะ เพื่อให้ได้ปุ๋ยที่มีคุณภาพดีนำกลับมาใช้ประโยชน์ในภาคการเกษตรทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีได้ส่วนหนึ่ง รวมถึงส่งเสริมการติดตั้งเครื่องหมักปุ๋ยในพื้นที่ของชุมชน อาคารชุด สถานประกอบการ สถานศึกษา ตลาด ศาสนสถาน และหน่วยงานรัฐและเอกชน ขอขอบคุณความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ที่ร่วมโครงการ “ไม่เทรวม” และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า กรุงเทพมหานครและสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นต้นแบบของการจัดการขยะและขยายผลไปสู่ทุกภาคส่วน เพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนร่วมกันสร้างประเทศไทยเป็นเมืองที่มีการจัดการ สิ่งแวดล้อมดี เป็นประเทศที่น่าอยู่สำหรับทุกคนต่อไป
สำหรับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม ระหว่าง 2 หน่วยงาน มีสาระสำคัญ อาทิ สนับสนุนและส่งเสริมให้มีการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกัน ส่งเสริมการทิ้งขยะ การคัดแยกขยะแต่ละประเภทอย่างถูกวิธี เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งสมาชิกรัฐสภา ผู้บริหาร ข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้าง ผู้ประกอบการ ร้านค้า แม่บ้าน ผู้รับจ้าง รวมถึงผู้มาใช้บริการภายในอาคารสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ทราบและปฏิบัติตามกระบวนการจัดการของเสีย การทิ้งและคัดแยกขยะที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ อีกทั้งสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลวิชาการ และการดำเนินการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม แลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างบุคลากรของหน่วยงานภาคีผ่านกิจกรรมฝึกอบรม สัมมนา ศึกษาดูงานและกิจกรรมอื่น ๆ ตามความเหมาะสม
#ไม่เทรวม #สิ่งแวดล้อมดี