วันนี้ (29 ต.ค. 67) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน นายธีระพงษ์ วิมลจิตรานนท์ ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ นายทองอยู่ คงขันธ์ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย นายศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) สสวท. แถลงความร่วมมือในการลดฝุ่นละออง PM2.5 ภายหลังประชุมมาตรการการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปี 2568 โดยวันนี้ที่ประชุมได้หารือแนวทางการดำเนินงานร่วมกับกระทรวงพลังงาน กรมควบคุมมลพิษ สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่า กรุงเทพมหานคร พร้อมหน่วยงานภาคีเครือข่าย พร้อมเดินหน้ามาตรการรับมือสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ซึ่งในพื้นที่กรุงเทพฯ จะประสบปัญหาฝุ่นเกินค่ามาตรฐานในช่วงเดือนพฤศจิกายน – มีนาคมของทุกปี โดยกรุงเทพมหานครได้ดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ภายใต้แผนลดฝุ่น 365 วัน และดำเนินมาตรการเข้มข้นขึ้นในช่วงที่มีค่าฝุ่นสูงในระยะวิกฤต โดยบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในสังกัดและหน่วยงานภายนอกอย่างต่อเนื่อง สำหรับการดำเนินการตามมาตรการติดตามเฝ้าระวัง อาทิ นักสืบฝุ่น Risk Map แจ้งเตือน และติดตั้ง Sensor 1,000 จุด การกำจัดต้นตอ ได้แก่ ตรวจวัดควันดำ ตรวจคุณภาพอากาศเชิงรุก การนำรถอัดฟางใช้ในการเกษตรการให้บริการรถ Feeder การพัฒนาทางเท้า การจัดการจุดฝืด Bike Lane ส่งเสริม EV และการป้องกันประชาชน อาทิ ธงคุณภาพอากาศ ห้องปลอดฝุ่น DIY เครื่องฟอกอากาศ และนโยบายปลูกต้นไม้ล้านต้น นอกจากนี้ ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแจ้งสถานการณ์ต่าง ๆ ผ่านแอปพลิเคชัน Traffy Fondue สภาลมหายใจ
.
ในส่วนการดำเนินงานตามแผนระยะวิกฤต ได้แก่ จัดตั้ง War Room การแจ้งเตือน 3 ครั้ง/วัน ตรวจควันดำบริเวณท่าเรือ/นิคมอุตสาหกรรม ดำเนินแคมเปญรถคันนี้ลดฝุ่น การขอความร่วมมืองดจุดธูป เทียน ในวัดและศาลเจ้า ห้ามจอดรถถนนสายหลัก/สายรอง จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ แจกหน้ากากอนามัยเชิงรุก และการติดตามข้อมูลคุณภาพอากาศ ผ่านทางแอปพลิเคชัน AirBKK เฟซบุ๊ก เว็บไซต์ Line Alert เฝ้าระวัง Hot Spot การหยุดก่อสร้างการประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ และหากการพยากรณ์คาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง 3 วัน จะดำเนินมาตรการ Low Emission Zone ประกาศขอความร่วมมือเครือข่าย WFH ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ให้ข้าราชการ/พนักงานปฏิบัติงานจากที่พัก คลินิกมลพิษทางอากาศ และให้โรงเรียนดำเนินการตามมาตรการโรงเรียนสู้ฝุ่น (แนวทางการจัดกิจกรรมเรียนรู้ เพื่อเตรียมมรับมือสถานการณ์ที่มีค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และเสริมสร้างทักษะชีวิตให้กับผู้เรียนเป็นการสร้างพลเมืองตื่นรู้ (Active Citizen) เพื่อให้นักเรียนเกิดความเข้าใจสถานการณ์วิกฤตและสามารถป้องกันตนเองได้อย่างปลอดภัย และสามารถส่งต่อองค์ความรู้ในโรงเรียนให้กับคนในครอบครัวได้)
“กรุงเทพมหานคร พยายามหาอำนาจทางกฎหมาย เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมมลพิษ ซึ่ง กทม. สามารถใช้ พ.ร.บ. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ที่ให้อำนาจผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กรณีเกิดเหตุหรือใกล้จะเกิดเหตุสาธารณภัยในพื้นที่ ให้สามารถกำจัดต้นตอของสาธารณภัยได้” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
.
โดยในปีนี้ได้กำหนดมาตรการเพิ่มเติมเพื่อรับมือสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ประกอบด้วย
.
- มาตรการเขตมลพิษต่ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (Low Emission Zone) และแนวทางการดำเนินงานภายใต้ประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง การห้ามรถบรรทุกเข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษกภายใต้พื้นที่บังคับใช้ จำนวน 9 เขต ประกอบด้วย เขตดุสิต เขตพญาไท เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตสัมพันธวงศ์ เขตคลองสาน เขตสาทร เขตปทุมวัน เขตบางรัก และแนวถนนต่าง ๆ ผ่าน 13 เขต 31 แขวง ได้แก่ เขตบางซื่อ (วงศ์สว่าง) เขตจตุจักร (จตุจักร / ลาดยาว / จันทรเกษม / จอมพล) เขตห้วยขวาง (ห้วยขวาง / สามเสนนอก / บางกะปิ) เขตดินแดง (ดินแดง / รัชดาภิเษก) เขตราชเทวี (มักกะสัน) เขตวัฒนา (คลองเตยเหนือ) เขตคลองเตย (คลองเตย) เขตยานนาวา (ช่องนนทรี / บางโพงพาง) เขตบางคอแหลม (บางคอแหลม / บางโคล่) เขตธนบุรี (ดาวคะนอง / สำเหร่ / บุคคโล / ตลาดพลู) เขตบางกอกใหญ่ (วัดท่าพระ) เขตบางกอกน้อย (บางขุนนนท์ / อรุณอมรินทร์ / บางขุนศรี / บ้านช่างหล่อ / ศิริราช) เขตบางพลัด (บางพลัด / บางบำหรุ / บางอ้อ / บางยี่ขัน) เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด โดยเมื่อค่าฝุ่น PM2.5 อยู่ในระดับสีแดง 5 เขต ประกอบกับการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่น อัตราการระบายอากาศ และทิศทางลมมาจากตะวันออก ล่วงหน้า 2 วัน จะออกประกาศดังกล่าว โดยจะประกาศล่วงหน้าอย่างน้อย 24 ชั่วโมง และกำหนดระยะเวลาห้าม 3 วัน มีผลใช้บังคับนับแต่วันถัดจากวันประกาศ โดยจะมีการกำหนดเปิดลงทะเบียนบัญชีสีเขียว ตั้งแต่ 1 พ.ย.67 เป็นต้นไป สำหรับรถบรรทุก 6 ล้อขึ้นไปที่เข้ากระบวนการบำรุงรักษารถ ประกอบด้วย เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เปลี่ยนไส้กรองอากาศ และการติดตั้งตัวกรองอนุภาคไอเสียดีเซล (DPF) ได้รับการยกเว้นมาตรการในเขตมลพิษต่ำฯ พร้อมเชื่อมโยงข้อมูลบัญชีสีเขียวกับข้อมูลจากกล้องวงจรปิด (CCTV) เพื่อดำเนินการกับผู้ฝ่าฝืนอีกด้วย ทั้งนี้ หากมีการฝ่าฝืนนำรถที่ไม่ได้ลงทะเบียนบัญชีสีเขียว เข้าพื้นที่ในการช่วงที่มีการประกาศพื้นที่ Low Emission Zone ผู้ที่ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม โทร. 0 2203 2951
“มาตรการดังกล่าวเป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับรถบรรทุกส่วนใหญ่ให้ปรับปรุงตนเอง เพื่อลดมลพิษให้กับกรุงเทพมหานครทั้งในเวลาปกติและเมื่อเกิดภาวะวิกฤติฝุ่นหนาแน่น และ กทม.มั่นใจในเทคโนโลยีว่าจะช่วยตรวจจับผู้ฝ่าฝืนนำมาดำเนินคดีได้ ซึ่งคาดว่ามาตรการนี้จะเป็นมาตรการเชิงบวกเพื่อให้คุณภาพอากาศของกรุงเทพมหานครดีขึ้น” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวทิ้งท้าย
- โครงการรถคันนี้ลดฝุ่น ปี 2568 ซึ่งต่อยอดดำเนินโครงการเป็นปีที่ 2 ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567 – มกราคม 2568 โดยขอความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการลดมลพิษทางอากาศจากยานพาหนะ โดยปีนี้ตั้งเป้ารถเข้าร่วมโครงการไว้ 500,000 คัน ทั้งนี้ เมื่อปี 2567 มีรถยนต์เข้าร่วมโครงการโดยเปลี่ยนน้ำมันเครื่องและไส้กรอง จำนวน 265,130 คัน ช่วยลด PM2.5 จากภาคการจราจร 13.26%
- มาตรการ Work From Home เมื่อค่าฝุ่น PM2.5 อยู่ในระดับสีแดง 5 เขต ต่อเนื่อง 2 วัน โดยขอความร่วมมือภาคีเครือข่าย WFH ให้เจ้าหน้าที่หรือพนักงานปฏิบัติงานในที่พัก เพื่อลดปริมาณการจราจรและผลกระทบต่อสุขภาพ เมื่อปีที่แล้วมีหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ลงทะเบียนร่วมเป็นเครือข่าย Work From Home กับกรุงเทพมหานครกว่า 151 หน่วยงาน บุคลากรรวมมากกว่า 60,000 คน สำหรับหน่วยงานหรือองค์กรที่สนใจเข้าร่วมเป็นเครือข่ายสามารถลงทะเบียนเพิ่มเติมได้ตามลิงก์ https://bit.ly/3Nn25nR?r=qr หรือสอบถามเพิ่มเติม โทร. 0 2203 2951
- การให้บริการยืมรถอัดฟาง เพื่อลดการเผาในภาคการเกษตร โดยปรับลดเงื่อนไขการยืมรถอัดฟางในส่วนของผู้ยืม และการยกเว้นค้ำประกัน
- โครงการนักสืบฝุ่น โดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เพื่อศึกษาแหล่งที่มาของฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ กทม. และสนับสนุนการกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5
- การจัดทำห้องปลอดฝุ่นและธงคุณภาพอากาศในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 และป้องกันสุขภาพอนามัยของนักเรียนและบุคลากร
- การเปิดให้บริการคลินิกมลพิษทางอากาศในโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร 8 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลสิรินธร โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินธฺโร อุทิศ โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ และโรงพยาบาลนคราภิบาล ซึ่งประชาชนสามารถเข้ารับบริการได้
สำหรับการประชุมความร่วมมือในครั้งนี้ มีหน่วยงานภาคีเครือข่ายเข้าร่วมการประชุม อาทิ กระทรวงพลังงาน กรมควบคุมมลพิษ กรมขนส่งทางบก กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กองบังคับการตำรวจจราจร องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร และการพัฒนา สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สภาลมหายใจกรุงเทพมหานคร สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โครงการความร่วมมือ-เยอรมัน ด้านพลังงาน การคมนาคม และสภาพภูมิอากาศ และหน่วยงานของกทม. อาทิ สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักอนามัย สำนักเทศกิจ สำนักการแพทย์ สำนักอนามัย สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักงานกฎหมายและคดี สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักพัฒนาสังคม สำนักการศึกษา สำนักงานเขตต่างๆ เข้าร่วมประชุม