Search
Close this search box.
กทม. แจง Car Free Day บรรทัดทอง ไม่ใช้งบประมาณ ไม่ใช้ออกาไนเซอร์ สีจากสปอนเซอร์ ไม่ลื่น ล้างออกได้ 

 

 

(25 ก.ย. 67) นายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และโฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผย กรณีการจัดการจราจร Car Free Day บรรทัดทอง ตามที่สังคมตั้งข้อสังเกตในประเด็นต่างๆ จึงขอชี้แจง ดังนี้ ผลาญงบประมาณ? ข้อเท็จจริงคือ กิจกรรมนี้สำเร็จได้เพราะความร่วมมือจากหลายภาคส่วน รัฐ เอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ผู้ค้า ชุมชน ประชาชน ฯลฯ กรุงเทพมหานครเป็นเพียงแกนกลางประสานในการสนับสนุนเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์ โดยไม่ได้ใช้งบจัดกิจกรรมแม้แต่บาทเดียว กรุงเทพมหานครได้รับการสนับสนุนสีจากเอกชน ไม่ใช่สีทาถนนเพราะตั้งใจให้ล้างออกง่าย เพื่อคืนสภาพถนนที่สมบูรณ์ให้ประชาชนใช้งานตามปกติ ย้ำไม่ได้ลาดยางมะตอยทับ แต่จุดใดที่ควรซ่อมแซมก็จะดำเนินการซ่อมแซมต่อไป

 

โฆษกฯ กล่าวต่อไปว่า การทาสีถนนเป็นการทดลองลดขนาดถนน (Street Diet) และการเดินข้ามถนนทแยงมุม เป็นการทดลองโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าร่วม สิ่งนี้สำคัญมากต่อการดำเนินนโยบายเพื่อเมืองอย่างยั่งยืนในอนาคต และสิ่งสำคัญที่สุดคือ เป้าหมายของกิจกรรม โดยกรุงเทพมหานครมีเป้าหมายระยะสั้นคือ การทดลองทำถนนคนเดิน 

(ส่วนหนึ่งของกิจกรรม Bangkok Car Free 2024) พร้อมกระตุ้นเศรษฐกิจ จัดระเบียบทางเท้าและร้านค้า สร้างกิจกรรมนันทนาการ เป้าหมายระยะยาวคือแผนพัฒนาย่านบรรทัดทองที่ประชาชนได้ประโยชน์ร่วมกัน ขณะนี้กรุงเทพมหานครกำลังวิเคราะห์แบบสอบถามจากประชาชนที่ได้ร่วมแสดงความคิดเห็น และกำลังรวบรวมบทสนทนาของผู้ค้า ชุมชน ประชาชน ฯลฯ เตรียมขยายผลสู่การพัฒนาย่านอื่นๆ ต่อไปอีกด้วย

 

นอกจากนี้ยังมีความกังวลเรื่องการทาสี การเลือกใช้สีผิดประเภทที่อาจทำให้รถยนต์ลื่น สร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานครได้ข้อมูลแนะนำจากช่างเชี่ยวชาญของบริษัทผู้สนับสนุน ขอใช้พื้นที่นี้ในการชี้แจงข้อเท็จจริง 

คือ จุดประสงค์ของการทาสีคือการทดลองลดเลนถนน (Street Diet) และการเดินข้ามถนนทแยงมุมในเวลากลางวัน 

เมื่อกิจกรรมเสร็จทีมงานได้ล้างออกทั้งหมด สีที่ใช้จึงเป็นสีที่จะไม่อยู่คงทนตลอด และได้ขอคำปรึกษากับช่างเทคนิคของบริษัทผู้บริจาค และเลือกสีชนิดนี้ก่อนมาใช้ ด้วยเป็นสีทาอาคารไม่ใช่สีทาถนน สีดังกล่าว มีลักษณะการปกป้องพื้นผิว ประเภทอาคาร มีฟิล์มที่บางกว่า สีจราจร อย่างมาก ไม่ทนต่อแรงเสียดทาน ในการบดอัดของล้อยานพาหนะ 

ที่จะเสื่อมสภาพ ผิวฟิล์มหลุดล่อนได้ง่าย และ ไม่ทนต่อความชื้นของพื้นผิวถนน ที่จะเสื่อมสภาพในเวลาอันรวดเร็ว และทางทีมงานได้ล้างออกทั้งหมดแล้วเมื่อวันที่ 23 กันยายนที่ผ่านมา

 

กรณีสีมีพิษ จากข้อมูลของบริษัทผู้บริจาค สีชนิดนี้เมื่อแห้งจะเป็นแผ่นฟิล์มและจะถูกกรองได้ ไม่ละลายลงแหล่งน้ำ และสีได้รับมาตรฐานที่ได้รับฉลากเขียวจาก สมอ. แต่อย่างไรก็ตามจะขอนำความคิดเห็นนี้ไปพัฒนาต่อ และจะระวังไม่ให้กระทบกับสิ่งแวดล้อมในทุกมิติ ทั้งนี้กรุงเทพมหานครขอน้อมรับทุกความเห็นเพื่อนำไปไปปรับปรุงต่อไป 


————

 

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200