(10 ก.ย. 67) เวลา 09.00 น. ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร : นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภาครัฐ สำหรับโครงการ Breathe Cities ในกรุงเทพมหานคร (Government Stakeholder Workshop for the Breathe Cities Programme in Bangkok) พร้อมด้วย Iyad Kheirbek ผู้อำนวยการด้านคุณภาพอากาศ องค์การ C40 และ Priya Shankar ผู้อำนวยการโครงการด้านสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมของมูลนิธิบลูมเบิร์ก เพื่อสาธารณประโยชน์ (Bloomberg Philantrophies) แห่งสาธารณรัฐอินเดีย ตลอดจนภาคีเครือข่าย เข้าร่วมประชุมฯ เพื่อหารือด้านอากาศสะอาดร่วมกับกองทุน Clean Fund และองค์การ C40

นายพรพรหม กล่าวว่า ในนามของกรุงเทพมหานคร รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่กรุงเทพมหานครได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภาครัฐ สำหรับโครงการ Breathe Cities ในกรุงเทพมหานครร่วมกับกองทุน Clean Fund และองค์การ C40 ในวันนี้ โดยวิสัยทัศน์ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ให้ความสำคัญว่าอากาศสะอาดเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน กรุงเทพมหานครมีความเชื่อมั่นว่าสามารถใช้องค์ความรู้และความร่วมมือจากต่างประเทศมาสร้างการเรียนรู้และการทำงานร่วมกับชุมชนและภาคประชาสังคมในกรุงเทพ เพื่อออกแบบนโยบายคุณภาพอากาศที่มีกลุ่มประชากรที่เปราะบางเป็นศูนย์กลางได้ ซึ่งการบรรลุตามวิสัยทัศน์นี้ต้องอาศัยความร่วมมือและการบูรณาการกันที่เข้มแข็งจากทุกภาคส่วน
นายพรพรหม กล่าวต่อไปว่า การประชุมในครั้งนี้นับเป็นโอกาสอันดีที่กรุงเทพมหานครจะร่วมมือกับโครงการ Breathe Cities ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างกองทุน Clean Air Fund มูลนิธิ Bloomberg Philantrophies และองค์การ C40 ซึ่งเป็นเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศระดับรัฐบาลเมืองในด้านสภาพภูมิอากาศ โดยโครงการมี เป้าหมายที่จะลดมลภาวะทางอากาศถึงร้อยละ 30 ในเมืองเป้าหมายภายในปี 2573 โดยโครงการจะเข้ามาสนับสนุนกรุงเทพมหานคร ในด้านข้อมูลและการวิจัย การทำงานร่วมกับชุมชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การสนับสนุนนโยบายในเชิงเทคนิค ตลอดจนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเมืองสมาชิกจากทั่วโลก
สำหรับการประชุมครั้งนี้เกิดขึ้นจากการวางแผนงานของโครงการ Breathe Cities ที่ต้องการจะสนับสนุนกรุงเทพมหานครอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากที่สุด ทางโครงการจึงมีความตั้งใจที่จะมาเรียนรู้และแลกเปลี่ยนกับตัวแทนของภาครัฐในส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร เพื่อให้เข้าใจถึงบริบทของประเทศไทยและกรุงเทพมหานคร ตลอดจนเข้าใจถึงศักยภาพและความต้องการของกรุงเทพมหานคร และร่วมหารือถึงความร่วมมือกับโครงการ Breathe Cities ในประเด็นที่จะสอดคล้องกับบริบทกับสิ่งที่กรุงเทพมหานครต้องการ เพื่อให้สอดคล้องกับกลไกการบริหารราชการด้านคุณภาพอากาศในระหว่างส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น และสอดคล้องกับการออกแบบนโยบายคุณภาพอากาศที่มุ่งเน้นช่วยเหลือประชากรที่เปราะบาง ตลอดจนส่งเสริมความเสมอภาคในสังคม