‘สมศักดิ์’ถกบอร์ด สปสช.ชุดใหม่ ประเดิมอนุมัติ 4 เกณฑ์ลุย 30 บาทรักษาทุกที่ใน กทม. ‘ชัชชาติ’ขอ สปสช.สื่อสารให้ชัด รับบริการเฉพาะกรณีที่หน่วยปฐมภูมิ หวั่นแห่ไป รพ.ใหญ่
เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 8/2567 เป็นการประชุมนัดแรกของบอร์ด สปสช.ชุดใหม่ วาระปี 2567-2571 ที่ประชุมได้พิจารณาและเห็นชอบการกำหนดมาตรการตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ เพื่อรองรับการขับเคลื่อนนโยบายฯ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.)
นายสมศักดิ์กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ โดยครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นจังหวัดนำร่องที่ 46 มีกำหนดการคิกออฟ (Kick off) วันที่ 26 สิงหาคมนี้ เพื่อรองรับการดำเนินการขับเคลื่อนและเป็นไปตามมติบอร์ด สปสช. ครั้งที่ 7/2567 วันที่ 3 กรกฎาคม 2567 ให้ สปสช.จัดทำร่างประกาศต่างๆ ในการดำเนินการ นำมาสู่การนำเสนอต่อบอร์ด สปสช. ครั้งนี้ เพื่อพิจารณาร่างประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุขและการให้บริการสาธารณสุขในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมทั้งการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ ตลอดจนการติดตราสัญลักษณ์การเข้าร่วมนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่ชาติ พ.ศ.2545
นายสมศักดิ์กล่าวว่า ที่ประชุมบอร์ด สปสช.เห็นชอบร่างประกาศหลักเกณฑ์ฯ 4 ฉบับ ดังนี้ 1.ประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์และการดำเนินการให้บริการของหน่วยบริการตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2545 2.ประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์และการดำเนินการในการรับบริการของประชาชนตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2567 3.ประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง กำหนดตราสัญลักษณ์และการใช้ตราสัญลักษณ์ของหน่วยบริการที่เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ พ.ศ.2567 และ 4.ประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์และการดำเนินการในการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของผู้รับบริการในหน่วยบริการที่เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการตามนโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
“ภาพรวมเนื้อหาของร่างประกาศฯ ใน 2 ฉบับแรก เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนการให้บริการของหน่วยบริการ และการเข้ารับบริการของประชาชนผู้ใช้สิทธิบัตรทองในพื้นที่กรุงเทพฯ ตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ กรณีเจ็บป่วยทั่วไป หรือเจ็บป่วยเรื้อรังทั่วไปที่มีการรับยาต่อเนื่อง สามารถเข้ารับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิ หน่วยบริการนวัตกรรม หรือหน่วยบริการประจำ ที่ได้รับการรับรองและติดป้ายสัญลักษณ์การเข้าร่วมให้บริการนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่” นายสมศักดิ์กล่าว
รัฐมนตรีว่าการ สธ.กล่าวว่า ส่วนประกาศฉบับที่ 3 เป็นการกำหนดตราสัญลักษณ์และหลักเกณฑ์ใช้ตราสัญลักษณ์ตามนโยบายฯ ในพื้นที่กรุงเทพฯ กำหนดเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2567 เป็นต้นไป เพื่อใช้ในการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบถึงหน่วยบริการที่ให้บริการสาธารณสุข และทราบถึงหน่วยงานหรือองค์กรอื่นๆ ทำหน้าที่สนับสนุนหรือส่งเสริมการให้บริการสาธารณสุขดังกล่าว
“ผู้นำตราสัญลักษณ์นี้ไปใช้ ต้องเป็นหน่วยบริการให้บริการสาธารณสุขตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ผ่านการรับรองจาก สปสช.” นายสมศักดิ์กล่าว และว่า ส่วนประกาศฉบับที่ 4 เป็นการดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของผู้รับบริการในหน่วยบริการตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ในพื้นที่กรุงเทพฯ มุ่งอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการรับบริการ เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถใช้ข้อมูลและเข้าถึงข้อมูลตามสิทธิได้โดยสะดวกเพื่อประโยชน์ในการบริการสาธารณสุขให้แก่ประชาชน มีการเชื่อมโยงข้อมูลอย่างครบถ้วนและไร้รอยต่อ โดยมีการยกระดับความปลอดภัยของข้อมูลและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลตามกฎหมาย
ด้าน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า อยากให้ สปสช.ทำการสื่อสารประชาสัมพันธ์กับประชาชนในกรุงเทพฯให้ชัดเจนว่านโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ในกรุงเทพฯเป็นการเข้ารับบริการเฉพาะกรณีที่หน่วยบริการปฐมภูมิเท่านั้น
“เพราะกังวลว่าหากไม่ชัดเจน โดยประชาชนเข้าใจว่าไปที่ไหนก็ได้ ก็จะมุ่งไปรับบริการที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ จะทำให้เกิดปัญหาได้ ดังนั้นจึงขอให้ สปสช.ทำการสื่อสารกับประชาชนให้ชัดเจน” นายชัชชาติกล่าว
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ประกาศทั้งหมดนี้เป็นการองรับการเดินหน้านโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ในกรุงเทพฯ โดยประชาชนที่จะเข้ารับบริการต้องเป็นหน่วยบริการที่มีตราสัญลักษณ์ให้บริการ 30 บาทรักษาทุกที่ ติดอยู่เท่านั้น และหน่วยบริการที่จะได้รับตราสัญลักษณ์นี้ได้ต้องผ่านการรับรองจาก สปสช. ต้องเชื่อมต่อข้อมูลในระบบก่อน อย่างไรก็ตาม กรรมการในที่ประชุมได้มีข้อสังเกต สปสช.จะรับไปดำเนินการต่อ รวมถึงการจัดให้มีการประเมินผลนโยบาย เพื่อทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทั้งนี้ ก่อนการประชุมบอร์ด สปสช. รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธานคณะกรรมการอำนวยการเครือข่ายโรงพยาบาล กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือยูฮอสเน็ต (Uhosnet) และ นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ประธานชมรม รพศ./รพท. พร้อมตัวแทนเครือข่ายบุคลากรสาธารณสุข ได้ยื่นหนังสือต่อนายสมศักดิ์ กรณีปัญหาการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวให้บริการประชาชนไม่เพียงพอด้วย หลังรับหนังสือดังกล่าว นายสมศักดิ์กล่าวว่า ปัญหานี้ไม่ใช่ครั้งแรก เป็นหน้าที่ของผู้บริหารจะช่วยกันดูเพื่อแก้ไขปัญหา ทั้งการเพิ่มเติมงบประมาณ การนำนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเข้ามาดูแลประชาชนให้เจ็บป่วยลดลง
ที่มา: นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 6 ส.ค. 2567