(27 มิ.ย.67) เวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตวังทองหลาง โดยมี นายโครงการ เจียมจีรกุล ผู้อำนวยการเขตวังทองหลาง พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตวังทองหลาง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล ประกอบด้วย
สำรวจสวน 15 นาที สวนชุมชนริมคลองพลับพลา เขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) จำนวน 3 แห่ง ดังนี้ 1.สวนสาธารณะวังทอง 1 พื้นที่ 1 ไร่ 2.สวนสาธารณะวังทอง 2 พื้นที่ 1 ไร่ 3.สวนซอยลาดพร้าว 84 พื้นที่ 1 ไร่ สวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 5 แห่ง 1.สวนประติมากรรมภาวนาแห่งจันทร์ พื้นที่ 2 ไร่ 1 งาน 9 ตารางวา 2.สวนธรรม วัดสามัคคีธรรม พื้นที่ 1 ไร่ 3.สวนหย่อมด้านหน้าสภาวิศวกร พื้นที่ 2 งาน 4.สวนสาธารณะวังทอง 3 (สวนสาธารณะซอยลาดพร้าว 64 แยก 6) พื้นที่ 81 ตารางวา 5.สวนชุมชนริมคลองพลับพลา พื้นที่ 2 งาน อยู่ระหว่างปรับปรุงพื้นที่ เตรียมจัดทำทางเดิน และปลูกต้นไม้เพิ่มเติม ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่เพื่อจัดทำสวน 15 นาที การออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในสวนให้ตรงกับความต้องการของชุมชน โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการเข้ามาใช้บริการ
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ อาคารชุดแอทโมช ซอยสหการประมูล พื้นที่ 3 ไร่ มีพนักงาน 25 คน ผู้พักอาศัย 500-600 คน ห้องพัก 594 ห้อง เข้าร่วมโครงการการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2567 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล แม่บ้านจะจัดเก็บขยะของผู้พักอาศัยแต่ละห้องลงมาคัดแยกบริเวณห้องพักขยะ 2 ขยะอินทรีย์ อยู่ระหว่างดำเนินการเข้าร่วมโครงการ 3.ขยะอันตราย ช่างประจำอาคารและแม่บ้านจะจัดเก็บขยะอันตรายของแต่ละชั้น แต่ละอาคารมาคัดแยกบริเวณห้องพักขยะ และนำส่งขยะอันตรายให้สำนักงานใหญ่ 4.ขยะทั่วไป แม่บ้านจะจัดเก็บขยะของผู้พักอาศัยแต่ละห้องลงมาคัดแยกขยะประเภทอื่นออกจากขยะทั่วไป เพื่อรอการจัดเก็บจากรถขยะเขตฯ สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั้งหมดก่อนคัดแยก 10,660 กิโลกรัม/เดือน ขยะทั่วไปหลังคัดแยก 5,120 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 4,820 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 720 กิโลกรัม/เดือน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำแก่ผู้ดูแลอาคารในการคัดแยกขยะประเภทต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งปริมาณขยะที่คัดแยกจะมีผลต่ออัตราจัดเก็บค่าธรรมเนียมในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย หากผู้อาศัยแต่ละห้องคัดแยกขยะ ปริมาณขยะที่จัดเก็บได้เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณขยะที่แม่บ้านจัดเก็บขยะจากทุกห้องมาคัดแยก จะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างกัน ทำให้การคิดค่าธรรมเนียมในการจัดการสิ่งปฏิกูลจึงเป็นอีกอัตราหนึ่งที่สูงกว่า
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 บริษัท สหการประมูล จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นการก่อสร้างโครงเหล็กอาคารพาณิชย์ 1 ชั้น จำนวน 1 หลัง พื้นที่ 2,032 ตารางเมตร และก่อสร้างท่อระบายน้ำ จำนวน 1 แห่ง พื้นที่รวม 100 เมตร โดยผู้รับจ้างมีมาตรการป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ดังนี้ 1.กั้นล้อมอาคารด้วยวัสดุที่สามารถป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่นละอองที่เกิดจากการก่อสร้าง 2.บำรุงรักษายานยนต์และเครื่องจักรภายในโครงการ รวมทั้งรณรงค์พนักงานดับเครื่องยนต์ ขณะที่ไม่ใช้งาน 3.ตรวจวัดมลพิษทางด้านสิ่งแวดล้อมเป็นประจำ 4.สื่อสารและประชาสัมพันธ์กับพนักงาน (Safety talk) เกี่ยวกับมาตรการในการป้องกันและดูแลสุขภาพในช่วงที่ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กมีค่าเกินมาตรฐาน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ กำชับผู้รับจ้างให้จัดทำบ่อล้างทำความสะอาดล้อรถยนต์ที่ผ่านเข้าออกโครงการ นำแผ่นเหล็กมาปูตรงจุดที่เป็นพื้นดิน เก็บกวาดและล้างทำความสะอาดถนนด้านหน้าโครงการ เพื่อไม่ให้มีเศษดินเศษกรวดเศษทรายตกหล่นบนพื้นถนน
พร้อมกันนี้ได้สอบถามถึงการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 6 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 101 ราย ดังนี้ 1.ซอยลาดพร้าว 124 แยก 3-5 ผู้ค้า 8 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-11.00 น. 2.ซอยรามคำแหง 39 แยก 1-3 ผู้ค้า 35 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-10.00 น. (8 ราย) ช่วงเวลาทำการค้า 16.00-21.00 น. (27 ราย) 3.ถนนอินทราภรณ์ ข้างห้างโลตัส สาขาศรีวรา ถึงหน้าอาคารเลขที่ 1139 ผู้ค้า 16 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-10.00 น. (12 ราย) ช่วงเวลาทำการค้า 16.00-22.00 น. (4 ราย) 4.หน้าตลาดสะพานสอง (แนวใน) ตั้งแต่ปากซอยลาดพร้าว 45/1 ถึงปากซอยลาดพร้าว 49 ผู้ค้า 30 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-10.00 น. 5.ปากซอยลาดพร้าว 98 ผู้ค้า 5 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-12.00 น. 6.ซอยลาดพร้าว 122 แยก 18 ผู้ค้า 7 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 16.00-22.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ดำเนินการยกเลิกพื้นที่ทำการค้า จำนวน 2 จุด ได้แก่ 1.ซอยลาดพร้าว 87 แยก 10-26 ผู้ค้า 33 ราย 2.ซอยลาดพร้าว 101 แยก 3-29 ผู้ค้า 10 ราย (ยกเลิกเมื่อเดือนเมษายน 2567)
ติดตามความก้าวหน้าการจัดทำจุดบริการด่วนมหานคร (BMA Express Service) เขตวังทองหลาง ซึ่งเขตฯ ได้ประสานศูนย์การค้าอิมพีเรียลเวิลด์ ลาดพร้าว ในการใช้พื้นที่บริเวณชั้น 2 เพื่อจัดทำจุดบริการด่วนมหานคร โดยได้รับความร่วมมือจากศูนย์การค้าอิมพีเรียลเวิลด์ ลาดพร้าว กำหนดระยะเวลาการใช้พื้นที่เป็นรายปี ยกเว้นค่าใช้จ่ายในการใช้พื้นที่ตลอดระยะเวลาที่เขตฯ ใช้ประโยชน์ในการจัดทำจุดบริการด่วนมหานคร เพื่อเพิ่มช่องทางในการติดต่อราชการและเข้ารับงานบริการของกรุงเทพมหานคร อาทิ ด้านงานทะเบียนราษฎร์และบัตรประจำตัวประชาชน ด้านงานสวัสดิการสังคม เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ลดระยะเวลาในการเดินทาง เข้าถึงงานบริการได้อย่างรวดเร็วหลายช่วงเวลา นอกเหนือจากเวลาทำการปกติ หรือในวันหยุดราชการ โดยใช้พื้นที่ภายในศูนย์การค้าหรือห้างสรรพสินค้าใกล้บ้าน ลดความแออัดของพื้นที่ให้บริการในสำนักงานเขต ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงพื้นที่ ติดตั้งระบบต่างๆ คาดว่าจะแล้วเสร็จสามารถเปิดให้บริการประชาชนได้ในเดือนกรกฎาคม 2567
ในวันเดียวกันนี้ เวลา 12.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อดำเนินการปรับปรุงสถานีดับเพลิงหัวหมาก เขตบางกะปิ โดยมี นายสุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงบประมาณกรุงเทพมหานคร ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล ซึ่งสถานีดับเพลิงหัวหมาก เปิดใช้งานมาเป็นระยะเวลายาวนาน โครงสร้างอาคารชำรุดทรุดโทรมเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา อีกทั้งสถานีตำรวจนครบาลหัวหมาก ซึ่งมีพื้นที่อาคารติดกับอาคารสถานีดับเพลิงหัวหมาก ได้ก่อสร้างอาคารหลังใหม่บนพื้นที่ด้านหลัง เพื่อทดแทนอาคารหลังเก่า หลังจากนั้นจะโอนอาคารหลังเก่ามาให้กรุงเทพมหานคร ดำเนินการปรับปรุงไปพร้อมกับสถานีดับเพลิงหัวหมาก ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประสานเรื่องการรับโอนอาคารจากสถานีตำรวจนครบาลหัวหมากให้เรียบร้อย เพื่อสำนักงบประมาณกรุงเทพมหานคร จะได้พิจารณาจัดสรรงบประมาณในการปรับปรุงอาคารสถานีดับเพลิงดังกล่าวต่อไป
#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี #บริหารจัดการดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)