Search
Close this search box.
คอลัมน์ จับกระแส: มหากาพย์ PM 2.5-มลพิษทางอากาศ

 ลักษณ์ วุฒิศักดิ์

[email protected]

รายงานสภาวะอากาศโลกฉบับที่ 5 (State of Global Air -SoGA) ที่เพิ่งเผยแพร่ในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา นำเสนอรายละเอียดผลกระทบทางสุขภาพจาก มลพิษทางอากาศ ที่ได้กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของประชากรโลกแซงหน้าการสูบบุหรี่และการกินไม่ดี และ ในทุกๆ วัน มนุษย์เราหายใจเอามลพิษทางอากาศในระดับที่ไม่ดีต่อ สุขภาพเข้าไป ทั้งฝุ่น PM2.5 มลพิษทางอากาศภายในครัวเรือน ซึ่งเกิดจากการทำอาหารภายในบ้านโดยใช้เชื้อเพลิงที่ก่อมลพิษ โอโซน (O3) และก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2)

SoGA จัดทำโดยองค์กรวิจัยอิสระในสหรัฐ Health Effects Institute (HEI) ร่วมกับยูนิเซฟ ทำการวิเคราะห์ข้อมูลจากการศึกษาภาระโรคทั่วโลก (Global Burden of Disease study) ตั้งแต่ปี 2564 ในกว่า 200 ประเทศและเขตแดนทั่วโลก พบกว่าร้อยละ 90 ของการ เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศทั่วโลก หรือประมาณ 7.8 ล้านคน มีสาเหตุมาจาก PM 2.5 และPM 2.5 เป็นตัวบ่งชี้ที่แม่นยำและ ชัดเจนที่สุดในการคาดการณ์ปัญหาสุขภาพของประชากรทั่วโลก ในอนาคต

รายงานยังระบุถึงผลกระทบจากก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ซึ่งแหล่งสำคัญมาจาก ไอเสียจากการจราจรเป็นหลัก หมายความว่าเขตเมืองที่มี ประชากรหนาแน่น โดยเฉพาะ อย่างยิ่งในประเทศที่มีรายได้สูง มักเผชิญกับ NO2 ในระดับที่ สูงมาก และพื้นที่ที่มีระดับ NO2 สูงมักจะมีระดับโอโซนที่สูงขึ้นด้วยจึงส่งผลเสียต่อสุขภาพมากขึ้นอีก

กรุงเทพมหานคร ก็จัดว่าเป็นมหานครที่มีประชากรหนาแน่นมากที่สุด นอกจากประชากรของกรุงเทพฯ เองกว่า 10 ล้านคน แล้วยังมีประชากรที่ไม่ได้ลงทะเบียน ส่วนใหญ่จะเป็นประชากร จากจังหวัดใกล้เคียงที่เดินทางเข้ามาทำงานอีกวันหนึ่งๆ จำนวนคน หลายล้านคน นอกจากนี้ยังมียานยนต์ที่จดทะเบียนอยู่ถึง 13 ล้านคัน โดยประมาณ 4.3 ล้านคันเป็นจักรยานยนต์ (กรมการขนส่ง ทางบก, 2567) มลพิษทางอากาศเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของ รศ.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการ กทม. ที่ได้ออกมาอธิบายเรื่องการแก้ปัญหามลพิษ ว่า ในระยะยาวต้องดูเรื่องของแหล่งกำเนิดฝุ่นเป็นหลัก และต้องร่วมมือกันหลายภาคส่วน ส่วนเรื่องการดูแลการเผาชีวมวลเป็นวาระแห่งชาติ อยู่แล้ว ในอนาคตจะพัฒนาแบบนวัตกรรมดูถึงสภาพของการเก็บความร้อนของเมืองว่า มีผลต่อการดักฝุ่นหรือไม่อีกด้วย แต่บางอย่างเป็นสิ่งที่เราควบคุมยาก เช่น สภาพอากาศ ทั้งยังมีนโยบายที่จะพัฒนาข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสัดส่วนที่มาของฝุ่นในแต่ละช่วงเวลา โดยจะร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษา

เราหวังว่ารายงาน SoGA นี้จะเป็นข้อมูลที่สร้างแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่การกำหนดนโยบายด้านสุขภาพ ตลอดจนมาตรการป้องกันและควบคุมมลพิษทางอากาศอื่นๆ เช่น การติดตั้งระบบตรวจสอบคุณภาพอากาศ การดำเนินนโยบายคุณภาพอากาศที่เข้มงวดขึ้น หรือการเปลี่ยนไปใช้เครื่องยนต์ไฮบริดหรือไฟฟ้า

ขอย้ำว่า มลพิษทางอากาศส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างมหาศาล

กว่าร้อยละ 90 ของการเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศทั่วโลก หรือประมาณ 7.8 ล้านคนมีสาเหตุมาจาก PM 2.5 และ PM 2.5 เป็นตัวบ่งชี้ที่แม่นยำและชัดเจนที่สุดในการคาดการณ์ปัญหาสุขภาพของประชากรทั่วโลกในอนาคต

 



ที่มา:  นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 27 มิ.ย. 2567

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200