ชมคัดแยกขยะเขตบึงกุ่ม เยี่ยมศูนย์การเรียนรู้การจัดการขยะมูลฝอย พัฒนาสวน 15 นาทีบึงบัวเสรีไทย 43 จัดระเบียบผู้ค้าหน้าสยามกีฬา คุมเข้มแพลนท์ปูนย่านรามอินทรา 40 ป้องกันฝุ่น PM2.5 สำรวจที่ดินว่างเปล่าซอยนวลจันทร์ 56
(9 ม.ค.66) นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่เขตบึงกุ่ม เพื่อติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย
เยี่ยมชมการคัดแยกขยะ อาคารสำนักงานเขตบึงกุ่ม วิธีการคัดแยกขยะ ได้แก่ 1.ขยะทั่วไป (ถังสีน้ำเงิน) ได้แก่ ขยะที่ย่อยสลายไม่ได้ ย่อยสลายยาก แต่ไม่เป็นพิษ 2.ขยะรีไซเคิล (ถังสีเหลือง) ได้แก่ กระดาษ พลาสติก กระป๋อง อลูมิเนียมหรือสิ่งของที่ไม่ใช้งาน 3.ขยะอินทรีย์ (ถังสีเขียว) ได้แก่ ขยะเศษอาหาร 4.ขยะอันตราย (ถังสีส้ม) ได้แก่ ขยะที่มีสารปนเปื้อนวัตถุอันตราย สารเคมี สำหรับปริมาณขยะภายในอาคารสำนักงานเขต ดังนี้ 1.ขยะทั่วไป 600 กิโลกรัม/วัน 2.ขยะรีไซเคิล 4.17 กิโลกรัม/วัน 3.ขยะเศษอาหาร 5 กิโลกรัม/วัน จัดเก็บทุกวัน 4.ขยะอันตราย 1 กิโลกรัม/เดือน จัดเก็บทุกเดือน ทั้งนี้ เขตฯ ประชาสัมพันธ์ให้บุคลากรและประชาชนที่มาติดต่อราชการร่วมกันคัดแยกขยะก่อนทิ้ง เพื่อความสะดวกในการจัดเก็บและนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ศูนย์การเรียนรู้การจัดการขยะมูลฝอยเขตบึงกุ่ม วิธีการคัดแยกขยะภายในศูนย์การเรียนรู้ฯ ประกอบด้วยฐานต่างๆ ดังนี้ ฐานที่ 1 การทำน้ำหมักชีวภาพจากขยะอินทรีย์ เช่น หัวปลา เศษอาหาร เศษผัก เปลือกผลไม้ต่างๆ ฐานที่ 2 การนำขยะรีไซเคิลมาใช้ประโยชน์ เช่น การทำกระถางต้นไม้ โต๊ะ-เก้าอี้ จากยางรถยนต์เก่า การทำอ่างล้างจานจากถังน้ำมัน ฐานที่ 3 การทำปุ๋ยอินทรีย์จากกิ่งไม้ ใบไม้ เศษอาหาร เศษผัก เศษผลไม้ต่างๆ เพื่อลดปริมาณมูลฝอย ซึ่งโครงการธนาคารกิ่งไม้ใบไม้ เคยได้รับรางวัลโครงการให้บริการที่ดีที่สุดที่มีความโดดเด่น ประจำปี 2561 (BMA Best Service we create the best for bangkok) ฐานที่ 4 การปลูกผักปลอดสารพิษ ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์และน้ำหมักชีวภาพ มาใช้ในการปรับปรุงดินและบำรุงพืชผักในแปลงสาธิต ฐานที่ 5 เป็นศูนย์อบรมเพื่อให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการคัดแยกขยะอันตรายและความปลอดภัยในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ก่อนนำส่งไปยังศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช สำหรับปริมาณขยะที่เขตฯ จัดเก็บเพื่อนำมาทำปุ๋ยอินทรีย์ และใช้ประโยชน์ภายในศูนย์การเรียนรู้ฯ ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม 2565 รวมปริมาณขยะอินทรีย์ทั้งหมด 10,365 กิโลกรัม
พัฒนาสวน 15 นาที (สวนแห่งใหม่) บริเวณบึงบัว ซอยเสรีไทย 43 พื้นที่ 11 ไร่ 1 งาน 8 ตารางวา เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของเอกชน ให้กรุงเทพมหานครใช้ประโยชน์ ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 ถึงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2575 รวม 10 ปี เขตฯ ดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์ เพื่อให้ประชาชนใช้เป็นพื้นที่ออกกำลังกายและพักผ่อนใกล้บ้าน ในระยะทางการเดินประมาณ 800 เมตร หรือใช้ระยะเวลา 15 นาที
ตรวจความเป็นระเบียบเรียบร้อยพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณหน้าบริษัท สยามกีฬา ซอยรามอินทรา 40 เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 5 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 112 ราย ดังนี้ 1.ถนนเสรีไทย ซอยเสรีไทย 9-11 (ช่วงเย็น เวลา 15.00-23.00 น.) ผู้ค้า 15 ราย 2.ถนนนวลจันทร์ (ช่วงเช้า เวลา 06.00-10.00 น.) ผู้ค้า 37 ราย 3.ถนนประเสริฐมนูกิจ ซอย 33, 36, 42 (ช่วงเช้า เวลา 06.00-10.00 น.) ผู้ค้า 10 ราย 4.หน้าตลาดอินทรารักษ์ (ช่วงเย็น เวลา 15.00-23.00 น.) ผู้ค้า 35 ราย และ 5.หน้าบริษัท สยามกีฬา ซอยรามอินทรา 40 (ช่วงเช้า เวลา 06.00-10.00 น.) ผู้ค้า 15 ราย
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 แพลนท์ปูน บริษัท วี แอนด์ พี โกลบอล จำกัด ซอยรามอินทรา 40 ในพื้นที่เขตฯ มีสถานประกอบการที่เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ ดังนี้ ประเภทต่อประกอบและพ่นสียานยนต์ 5 แห่ง ประเภทแพลนท์ปูน 2 แห่ง เขตฯ จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบวัดค่าฝุ่น PM2.5 สถานประกอบการในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัย พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมสถานประกอบการไม่ให้ปล่อยมลพิษอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มอบหมายให้เขตฯ กำชับผู้ประกอบการแพลนท์ปูน ปรับปรุงพื้นคอนกรีตที่ชำรุดเป็นหลุมให้ราบเรียบ เพื่อไม่ให้น้ำขังและไม่ให้เป็นที่สะสมของฝุ่นละออง ซ่อมแซมบ่อล้างทำความสะอาดล้อรถชำรุด ติดตั้งเครื่องฉีดพ่นละอองน้ำบริเวณโดยรอบ รวมทั้งเพิ่มแผงกั้นป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่น ปรับปรุงรางระบายน้ำไม่ให้อุดตัน ป้องกันไม่ให้น้ำปูนไหลออกนอกแพลนท์ปูน โดยดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน
สำรวจที่ดินสิ่งปลูกสร้าง บริเวณที่ว่างเปล่าซอยนวลจันทร์ 56 ถนนนวลจันทร์ สำหรับข้อมูลการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ประจำปี 2565 ดังนี้ แปลงที่ดินที่สำรวจ จำนวน 54,373 แปลง สิ่งปลูกสร้างที่สำรวจ จำนวน 24,908 หลัง ห้องชุดที่สำรวจ จำนวน 25,117 ห้อง ประเมินจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแล้ว จำนวน 13,551 ราย คงเหลือลูกหนี้ค้างชำระ จำนวน 1,285 ราย จดหมายที่รับคืนจากไปรษณีย์ (ตีกลับ) จำนวน 3,516 ฉบับ อย่างไรก็ตามสภาพที่ดินในปัจจุบัน อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์จากที่ดิน จึงจำเป็นต้องลงพื้นที่สำรวจสภาพพื้นที่จริง เพื่อปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันตามความเป็นจริง ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีป้าย การจัดส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้เสียภาษี เพื่อให้การจัดเก็บภาษีรายได้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
ในการลงพื้นที่วันนี้มี นายนันทพงศ์ แก้วศรี ผู้อำนวยการเขตบึงกุ่ม พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตบึงกุ่ม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี #บริหารจัดการดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)