Search
Close this search box.
ชงมหาดไทย ล้ม ม.44 ลุยเปิดประมูล ‘สัมปทานสายสีเขียว’

“บีทีเอส” เปิดหนี้ภาครัฐค้างจ่าย “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” 3 หมื่นล้านบาท มั่นใจพร้อมร่วมประมูลสัมปทานใหม่ ฟาก “กทม.” จ่อชงกฤษฎีกามหาดไทย ปลดล็อคคำสั่งม.44 ศึกษา พ.ร.บ.ร่วมทุน ดันสัมปทานสายสีเขียวภายในสัปดาห์หน้า

หลังจากกรุงเทพมหานคร หรือกทม.เดินหน้าชำระ “หนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว” แล้ว หลังจากนี้ได้ตั้งเป้าของบประมาณปี 2568 ศึกษา พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 เพื่อเปิดประมูลสัมปทานใหม่ที่จะสิ้นสุดในปี 2572

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญากรรมการผู้อำนวยการ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภายหลังจากที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ (กมธ.) คมนาคม สภาผู้แทนราษฎร เชิญบริษัทและหน่วยงาน อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องหารือถึงการดำเนินกิจการรถไฟฟ้าสายสี เขียวนั้น เบื้องต้นการหารือในครั้งนี้ได้มีการสอบถามถึงหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวในปัจจุบันว่าเป็นอย่างไร ขณะนี้ยังมีหนี้ ค่าจ้างเดินรถที่บริษัทฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอศาลปกครองสูงสุดพิจารณาคดี ส่วนหนี้งานระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) ทางกทม.ได้ชำระมาแล้ว

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า ในปัจจุบันภาครัฐยังคงค้างหนี้ค่าจ้างเดินรถรถไฟฟ้าสายสีเขียวกับบริษัท จำนวนกว่า 30,000 ล้านบาท ซึ่งดอกเบี้ยก็ยังคงเดินหน้าทุกวัน ตอนนี้บริษัทยังไม่มีการฟ้องร้องเพิ่มเติม ส่วนกรณีที่สัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวจะสิ้นสุดภายในปี72 นั้น เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกทม. แต่ปัจจุบันบริษัทยังมีสัญญาเดินรถร่วมกับกทม.ถึงปี 85

“หากสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวสิ้นสุดและมีการเปิดประมูลใหม่ ทางเรามีความพร้อมอยู่แล้วตามนโยบายของภาครัฐ ส่วนประเด็นที่กทม.จะยกสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวแลกกับหนี้ในปัจจุบันนั้น เรื่องนี้คงต้องรอให้กทม. ศึกษารายละเอียดก่อนมาเสนอเรา”

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาโครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้า BTS นั้น เบื้องต้นกทม.จะเดินหน้าลดการผูกขาด โดยเสนอรัฐบาลให้ยกเลิกคำสั่ง ม.44 นำระบบรถไฟฟ้ากลับสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและร่วมทุนตามกฎหมาย เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนต่อไป

“เราอยากให้รถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้าสู่กระบวนการเปิดประมูลใหม่ เพราะการต่อสัญญาสัมปทานจะดูแลเพียงไม่กี่คนไม่ได้ ซึ่งเราควรทำให้กระบวนการโปร่งใสเชื่อว่าจะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด”

นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ส่งหนังสือสอบถามความคิดเห็นมาที่กทม.ถึงสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่จะสิ้นสุดในปี 72 นั้น เบื้องต้นกทม.เตรียมส่งหนังสือตอบกลับยืนยันไม่เห็นด้วยที่จะยึดตามคำสั่งม.44 ของคสช.เพราะเงื่อนไขดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงไป โดยจะเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาในสัปดาห์หน้า

ขณะเดียวกันกทม.เตรียมส่งหนังสือรายงานความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวต่อกระทรวงมหาดไทยพิจารณา ทั้งหมด 3 เรื่อง ประกอบด้วย 1.กทม.ได้ชำระหนี้งานระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) จำนวน 23,000 ล้านบาทแก่บีทีเอสซีแล้ว ทำให้เงื่อนไขตามคำสั่งม.44 ของคสช.เปลี่ยนไป ซึ่งกทม.อยากให้ครม.พิจารณาตัดสินใจโดยเร็ว 2. กทม.เห็นควรให้สัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวดำเนินการตาม พ.ร.บ. การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ปี 2562 3. กทม.ขอให้ภาครัฐอุดหนุนค่างานโครงสร้างพื้นฐานและค่าติดตั้งระบบ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) ในส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ

นายวิษณุ กล่าวต่อว่า หากโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวดำเนินการตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 62 (PPP) จะต้องใช้ระยะเวลาจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษารายละเอียด ช่วงหมอชิต-สะพานตากสิน และหมอชิต-อ่อนนุช (เส้นทางไข่แดง) ตามกฎหมาย เบื้องต้นกทม.ได้ของบประมาณปี 68 แล้ว ซึ่งใช้เวลาศึกษาประมาณ 8-9 เดือน คาดว่ากระบวนการทั้งหมดรวมถึงการเสนอต่อครม.พิจารณาเห็นชอบแล้วเสร็จภายใน 2 ปี โดยในระหว่างที่รอครม.อนุมัติ สามารถดำเนินการศึกษาได้ก่อน เพราะหากรอครม.อนุมัติ คาดว่าจะดำเนินการไม่ทัน เนื่องจากเหลือเวลาดำเนินการเพียง 5 ปี

“เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกทม.มีสัญญาจ้างเดินรถกับบีทีเอสซีถึงปี 85 เมื่อสิ้นสุดสัญญารายได้จะตกเป็นของกทม. โดยการศึกษาดังกล่าวเป็นการศึกษาเพื่อหารูปแบบทางเลือกและแนวทางที่เหมาะสม เช่น การเจรจากับเอกชนรายเดิม, การเปิดประมูลหาเอกชนรายใหม่มาดำเนินการ ซึ่งมีเงื่อนไขสัญญาจ้างเดินรถค้างกับบีทีเอสซีถึงปี 85 ที่ผูกพันว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป และการเปิดประมูลใหม่โดยมีการชดเชยให้กับบีทีเอสซีที่มีสัญญาจ้างเดินรถค้างอยู่ในปัจจุบัน หากศึกษาแล้วเสร็จจะต้องเสนอต่อคณะกรรมการ PPP พิจารณา เพื่อให้กระบวนการเกิดความโปร่งใสด้วย”

นอกจากนี้ในประเด็นหนี้ค่างานโครงสร้างพื้นฐานที่รับโอนจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นั้น ปัจจุบันกทม.ได้รับโอนรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว (สายใต้) ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ แล้ว แต่รถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย (สายเหนือ) ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต อยู่ในกระบวนการยังไม่ได้รับโอน ซึ่งประเด็นนี้เป็นส่วนหนึ่งที่กทม.เสนอต่อภาครัฐไปด้วย

“ขณะนี้กทม.จ่ายค่าเดินรถไปแล้วยังทำให้ขาดทุนมหาศาล โดยเฉพาะค่างานโยธาขาดทุนปีละหลายพันล้านบาท ซึ่งภาครัฐควรช่วยสนับสนุนในเรื่องนี้ หากมีการรับโอนสายเหนืออีก จะทำให้กทม.มีหนี้เพิ่มขึ้น 50,000 ล้านบาท เชื่อว่ากทม.แบกรับไม่ไหว เบื้องต้นกทม.ได้ส่งหนังสือกลับไปที่ครม.ให้โอนกลับคืนรฟม.แทน” 

 

ที่มา:  นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 2 – 5 มิ.ย. 2567

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200