Search
Close this search box.
‘ชัชชาติ’ โชว์ผลงาน2ปี เปลี่ยนเมือง-เพิ่มความสุข

หมายเหตุ – นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร กทม. แถลงข่าวในโอกาสครบรอบ 2 ปีของการทำงาน ภายใต้ชื่องาน “2 ปี ทำงาน ‘เปลี่ยน ปรับ’ ยกระดับเมืองน่าอยู่” พร้อมทั้งแสดงวิสัยทัศน์การทำงานในอีก 2 ปีข้างหน้า ที่ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม

2ปีมาแล้วยังสนุกกับการทำงาน วันนี้มารายงานให้ประชาชนฟังว่าทำงานอะไรไปแล้วบ้าง เดิมกรุงเทพฯ เป็นเมืองเที่ยวสนุก แต่ประสิทธิภาพต่ำ หัวใจของเราคือเพิ่มประสิทธิภาพของเมืองให้ดีขึ้น นำมาซึ่งความน่าอยู่ เมืองที่มีประสิทธิภาพต่ำ ผมว่าพวกเราเหนื่อย เดินทางเหนื่อย แม้กระทั่งไปพักผ่อนหย่อนใจยังเหนื่อย แค่เดินไปสูดอากาศที่มีปัญหา PM2.5 ก็เหนื่อย ต้นทุนคุณภาพชีวิตลดลง เรามีปัญหากับกรุงเทพฯ มานานแล้ว ความล่าช้า มายด์เซตของข้าราชการยังหันหน้ารอว่าผู้ว่าฯจะสั่งอะไร ที่ผ่านมาเราเน้นคอนเซ็ปต์เจ้าหน้าที่ กทม. ลูกจ้าง ไม่ต้องหันหน้าให้ผม แต่หันหน้าให้ประชาชน มีปัญหาอะไรต้องลงไปช่วยในเชิงรุกผมอยู่ข้างหลังให้การสนับสนุน

Traffy Fondue (ทราฟฟี่ฟองดูว์) คือหนึ่งในตัวอย่างที่ได้ทำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหา โดยตัดขั้นตอนจากที่ต้องใช้เอกสารมากมายเปลี่ยนมาเป็นการออนไลน์ตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่ง 2 ปีที่เปิดให้ประชาชนร้องเรียนผ่านทราฟฟี่ฟองดูว์ ลงมือแก้ไขเสร็จสิ้นแล้ว 465,291 เรื่อง จาก 588,842 เรื่อง คิดเป็น 78% อยู่ระหว่างแก้ไข 58,456 เรื่อง ส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 40,655 เรื่อง และติดตาม 11,545 เรื่อง เฉลี่ยระยะเวลาที่ใช้ในการแก้ไขลดลง 97% จากเดิมใช้เวลาประมาณ 2 เดือนเหลือเพียง 2 วัน อย่างล่าสุดได้ติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างที่ซอยประชาอุทิศ 17 เสร็จภายใน 1 วัน 12 ชั่วโมง หลังได้รับแจ้งจากประชาชนผ่านทางทราฟฟี่ฟองดูว์ ทางเท้าถนนบรรทัดทอง ซ่อมพื้นผิวเสร็จภายใน 4 วัน ซึ่งประชาชนพึงพอใจให้คะแนน 5 ดาวมา เป็นต้น

ขณะนี้ได้เพิ่มความสะดวก ลดขั้นตอนให้แจ้งเรื่องร้องเรียนได้ง่ายขึ้น โดยลดคำถามจากเดิม 5 คำถาม เหลือ 3 คำถาม และนำ AI เข้ามาใช้ในการระบุประเภทของเรื่องร้องเรียน อีกทั้งเพิ่มเติมการติดตามเรื่องร้องเรียนที่อยู่บริเวณใกล้เคียง พร้อมให้ประชาชนเข้าไปตรวจสอบและให้คะแนนการแก้ไขของ กทม. เพื่อให้ กทม.กลับไปแก้ไขเพิ่มในส่วนที่ยังไม่พึงพอใจ นอกจากนี้ ยังมีการสะสมคะแนนให้ประชาชนที่เข้ามามีส่วนร่วม เพิ่มความสนุกในการใช้งานทราฟฟี่ฟองดูว์ ที่สำคัญประชาชนยังสามารถมั่นใจในความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัวว่าจะไม่ถูกเปิดเผย เพราะไม่มีการเก็บชื่อและรูปโปรไฟล์

ขณะที่กิจกรรม “ผู้ว่าฯสัญจร” วนซ้ำในรอบที่สองแล้ว หลังจากที่ได้สัญจรเข้าไปประชุมร่วมกับหน่วยงานและลงพื้นที่ครบทั้ง 23 หน่วยงาน และ 50 เขตมาแล้ว ซึ่งในช่วง 2 ปี ได้มีข้อสั่งการให้แก้ไขปัญหาในพื้นที่ไป 1,779 รายการ มีการดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว 1,251 รายการ ส่วนการลงพื้นที่ในรอบที่สองนี้จะเป็นการติดตามการแก้ไขปัญหาและรับฟังเสียงประชาชนเพิ่มเติม ตอกย้ำแนวคิดของ กทม.ในยุคนี้คือ “หันหลังให้ผู้ว่าฯ หันหน้าให้ประชาชน”

การทำทางเท้าให้น่าเดิน สวยงามและปลอดภัย เป็นสิ่งที่ กทม. มุ่งมั่นให้เอื้อต่อการใช้งานของคนทุกเพศทุกวัย โดยยึดมาตรฐานทางเท้าที่แข็งแรง คงทน และสวยงามด้วย ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้ปรับปรุงทางเท้าไป 785 กม. ขณะเดียวกันได้ปรับพื้นทางเข้าออกอาคารให้เรียบเสมอทางเท้า ลดความสูงของทางเท้าเหลือ 10 ซม. และ 18 ซม. และติดเบรลบล็อกแนวตรงสำหรับคนพิการและ ผู้สูงวัยได้ใช้ง่าย เดินง่ายขึ้นด้วย

นอกจากนี้ ยังได้จัดระเบียบหาบเร่แผงลอยให้ประชาชนเข้าถึงอาหารราคาถูกได้โดยไม่เบียดเบียนทางเดินเท้า ทำไปแล้ว 257 จุด เช่น จุดที่ถนนสารสิน ขณะนี้ได้จัดพื้นที่ขายชั่วคราวให้ก่อนจะขยับขยายเข้ามาอยู่ใน Hawker Center ที่จะสร้างเสร็จในปีนี้ พร้อมทั้งจัดระเบียบสายสื่อสารที่ รกรุงรังในถนนสายต่างๆ รวมระยะทาง 627 กม. รวมทั้งเปลี่ยนหลอดไฟฟ้าแสงสว่างให้เป็นหลอด LED กว่า 85,000 ดวง ที่มีอายุการใช้งานยาวกว่า เชื่อมระบบ IoT สามารถตรวจสอบหลอดไฟดวงที่เสียได้อัตโนมัติและแก้ไขได้รวดเร็ว ให้คนกรุงเทพฯเดินเท้ากลับบ้านอย่างสบายใจ รวมถึงจัดระเบียบสายสื่อสาร 627 กม.

ปัญหาฝนตก น้ำไม่ระบาย เดินทางลำบาก ซึ่งอยู่คู่กับกรุงเทพฯมายาวนาน นับตั้งแต่มีการถอดบทเรียนและรวบรวมข้อมูลจุดน้ำท่วมทั่วกรุงเทพฯ ในปี 2565 พบจุดสำคัญที่ต้องแก้ไข 737 จุด ขณะนี้แก้ไขแล้ว 370 จุด และจะแก้ไขได้ทันในปี 67 อีก 190 จุด ตัวอย่างบริเวณศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก มีการแก้ไขน้ำท่วมทุกมิติ โดยส่วนที่ทำเสร็จแล้ว ได้แก่ การทำท่อเชื่อมเร่งระบายน้ำ ก่อสร้างบ่อสูบน้ำ และลอกท่อระบายน้ำถึงคลองน้ำแก้ว และกำลังทำการก่อสร้างท่อหน้า มรภ.จันทรเกษม ปรับปรุงบ่อสูบน้ำ ถนนรัชดาฯ พร้อมปรับปรุงเขื่อนเดิม ปรับปรุงบ่อสูบน้ำซอยอาภาภิรมย์ 2 บ่อ และก่อสร้างระบบระบายน้ำเพิ่มเติม ถนนรัชดาฯ จุดหน้าธนาคารกรุงเทพศาลอาญา นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการเตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมก่อนที่จะเกิดฝน โดยการล้างท่อระบายน้ำทำไปแล้ว 4,200 กม. ทำความสะอาดคลองเปิดทางน้ำไหล 1,960 กม. ขุดลอกคลอง 217 กม. พร้อมทั้งทำการบำรุงรักษาประตูระบายน้ำ สถานีสูบน้ำ ล้างอุโมงค์ระบายน้ำทุกแห่ง และตรวจสอบเครื่องสูบน้ำทุกเครื่องให้พร้อมใช้งาน

เมืองที่ดีคือเมืองที่มีพื้นที่สาธารณะ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการใช้ชีวิตให้กับประชาชน ไม่จำเป็นต้องจ่ายแพงเพื่อเข้าถึงบริการต่างๆ ด้วยแนวคิดนี้ทำให้ กทม.พัฒนาพื้นที่สาธารณะ ประกอบด้วย สวนสาธารณะ 58 แห่ง ศูนย์นันทนาการ 36 แห่ง ห้องสมุด 34 แห่ง พิพิธภัณฑ์เด็ก 2 แห่ง ศูนย์กีฬา 12 แห่ง ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

สำหรับ ศูนย์กีฬาแบบใหม่ครบวงจร ปรับปรุงแล้ว 11 แห่ง เช่น ศูนย์กีฬาเบญจกิติ ศูนย์กีฬาบางขุนเทียน ศูนย์นันทนาการวัดดอกไม้ เตรียมขยายผลอีก 13 แห่ง เช่น ศูนย์กีฬาตลาดพลู ศูนย์กีฬาวังทองหลาง ศูนย์กีฬาเสนานิเวศน์ ศูนย์กีฬาทวีวัฒนา ศูนย์นันทนาการทุ่งครุ เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนในการทำศูนย์กีฬาแบบใหม่ ที่มีกิจกรรมหลากหลายและประเภทกีฬาใหม่ๆ อาทิ พิกเคิลบอล เทกบอล ปิงปอง บาสเกตบอล โดยที่สวนเบญจกิติเป็นต้นแบบขยายศูนย์กีฬาไปยังสวนอื่นๆ ทั่วกรุงเทพฯ เช่น บึงหนองบอน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ส่วนการเพิ่มพื้นที่แห่งความสร้างสรรค์ กำลังมีการปรับปรุงอาคารลุมพินีสถาน ในสวนลุมพินี สู่ Performance Art Hub ของคนกรุงเทพฯ ซึ่งกำหนดจะแล้วเสร็จในปี68

สวนสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ กำลังจะเกิดขึ้น ด้วยโครงการเชื่อมบึงหนองบอนสวนหลวง ร.9 รวมทั้งการเพิ่มสวนขนาดใหญ่ให้เป็นปอดฟอกอากาศ และสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของคนกรุงเทพฯ เช่น ที่บ่อฝรั่ง (ริมบึงบางซื่อ) ซึ่งจะเป็นสวนกีฬาทางน้ำแห่งใหม่และสวนป่าชุ่มน้ำบางกอก (เสรีไทย)

ส่วนสวน 15 นาที ซึ่งเป็นสวนขนาดเล็กใกล้ชิดชุมชนเพียงระยะการเดินไม่เกิน 15 นาที ล่าสุดได้เกิดขึ้นแล้วกว่า 100 แห่ง คาดว่าจะครบ 500 แห่ง ภายใน 4 ปี โดยขณะนี้ได้วางเกณฑ์มาตรฐาน 8 ข้อ เพื่อยกระดับคุณภาพของสวน 15 นาทีทุกแห่ง ประกอบด้วย 1.การเข้าถึงพื้นที่ 2.สิ่งอำนวยความสะดวก 3.กิจกรรมการใช้งาน 4.การออกแบบ 5.ความปลอดภัย 6.การมีส่วนร่วม 7.สุขภาวะ 8.สิ่งแวดล้อม เช่น ระบบนิเวศ ตัวอย่างสวนที่ได้มาตรฐาน เช่น สวนสุขใจ ยานนาวา สวนใต้แยกตากสิน สวนป่าสัก วิภาวดี 5 เป็นต้น

เพื่อลดข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข ของคนกรุงเทพฯ ปัญหาหมออยู่ไกล เข้าถึงยาก ไม่สะดวก เสียเวลา ถูกคลี่คลายลงด้วยการพัฒนาบริการต่างๆ เช่น โครงการตรวจสุขภาพฟรี 1 ล้านคน ได้ทุกคน ไม่จำกัดสิทธิ ซึ่งจะเปิดยาวไปถึงเดือนกันยายน 2567 มีการตรวจคัดกรองมากกว่า 14 รายการพื้นฐาน เพื่อรู้สัญญาณของโรคก่อนที่จะเป็นอันตราย มีเพิ่มเจาะเลือดส่งตรวจแล็บ เอกซเรย์ปอด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และภาวะแทรกซ้อนทางตา ประชาชนสามารถตรวจสอบปฏิทินตรวจสุขภาพของแต่ละเดือนและเลือกวันเวลาและสถานที่ที่สะดวกไปรับบริการได้ ซึ่งประชาชนที่ไปรับบริการมีความพึงพอใจที่ไม่ต้องรอคิว ไม่ต้องเดินทางไกล ลดภาระค่าใช้จ่าย

นอกจากนี้ กทม.ยังได้ขยายการบริการของศูนย์บริการสาธารณสุข รับตรวจรักษานอกเวลาจนถึง 2 ทุ่ม หรือเสาร์-อาทิตย์ ทุกพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน อีกทั้งยังขยายศูนย์ส่งเสริมและฟ้นฟูสุขภาพ (กายภาพบำบัด) แก้ออฟฟิศซินโดรม ปวดคอ บ่า ไหล หลัง ได้ที่ศูนย์ใกล้บ้าน 8 แห่ง เปิด Pride Clinic คัดกรอง-ปรึกษาฟรี สำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ จากเดิมมี 6 แห่ง เพิ่มเป็น 31 แห่ง มีผู้ใช้บริการเกือบ 20,000 ราย มีตั้งแต่การตรวจระดับฮอร์โมนและการขอรับฮอร์โมน ปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต เครียด ซึมเศร้า ปรึกษาด้านศัลยกรรมการผ่าตัด ตรวจหา HIV ซิฟิลิส และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และบริการยาป้องกันการติดเชื้อ HIV

ตลอดเวลา 2 ปี กทม. ดำเนินการด้านการป้องกันและต่อต้านการทุจริตอย่างเข้มข้น โดยมีการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนทั้งสิ้น 781 เรื่อง ในจำนวนนี้มีมูลทุจริต 56 เรื่อง ได้ดำเนินการถึงขั้นสอบสวนทางวินัย 44 เรื่อง และมีการให้ออกจากราชการ 29 ราย อยู่ระหว่างการพิจารณา 12 เรื่อง ส่งต่อให้ ป.ป.ช. หรือ ป.ป.ท. 5 เรื่อง

ในด้านการให้ บริการขออนุญาตต่างๆ มีความสะดวกยิ่งขึ้นด้วย BMA One Stop Service (https://bmaoss.bangkok.go.th) ซึ่งรวมศูนย์การขอใบอนุญาตไว้บนออนไลน์ โดยกำลังตั้งทีมอนุมัติกลางให้สามารถอนุมัติได้เร็วขึ้น ประชาชนสามารถติดตามทุกคำขออนุญาตทั้งออนไลน์และออฟไลน์ได้จาก Line OA กรุงเทพมหานคร (@bangkokofficial) ส่วนการขออนุญาตถ่ายทำ ที่ให้บริการอยู่ ขณะนี้กำลังพัฒนาแพลตฟอร์มให้เป็นระบบกลางที่ครบวงจรจบในที่เดียวต่อไป

ส่วนการเปิดฐานข้อมูล (Open Data) ได้มีการเปิดเผยข้อมูลด้านนโยบาย งบประมาณ สัญญาจ้าง ภาษี ฯลฯ ไปแล้วมากกว่า 1,000 ชุดข้อมูล มีผู้ใช้งานมากกว่า 3 ล้านครั้ง/ปี ด้านการเปิดระบบจัดซื้อจัดจ้าง มุ่งความโปร่งใสตั้งแต่การประกวดราคาจนถึงการบริหารสัญญา โดยเร็วๆ นี้ มีระบบที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าแข่งขันประมูลงานของ กทม. ด้วยการ Subscribe ให้ผู้รับจ้างรับการแจ้งเตือนโครงการใหม่และติดตามความคืบหน้าได้

ความพยายามในการแก้ไขปัญหาโครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้า BTS ที่มีมาต่อเนื่อง ได้ลุล่วงไปในก้าวแรก โดยสามารถชำระหนี้งานระบบของส่วนต่อขยาย 23,000 ล้านบาท และโอนกรรมสิทธิ์มาเป็นของ กทม. เรียบร้อยแล้ว สิ่งที่จะต้องทำต่อไปคือการลดการผูกขาด โดยเสนอรัฐบาลให้ยกเลิกคำสั่ง ม.44 นำระบบรถไฟฟ้ากลับสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและร่วมทุนตามกฎหมายเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนต่อไป

ที่ผ่านมา 2 ปี ประชาชนอาจมองว่าเราทำงานเฉพาะเส้นเลือดฝอย ถามว่า 4 ปีที่ผมไม่อยู่แล้วยังมีการเปลี่ยนแปลงอยู่หรือไม่ เชื่อว่าสิ่งที่เล่ามาทั้งหมดไม่ได้เปลี่ยนแค่มิติของชิ้นงาน แต่เชื่อว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอย่างชัดเจน ซึ่งสร้างประสิทธิภาพให้เมืองได้ โดยมี 6 ด้าน คือ ให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง กระจายอำนาจ ทำงานโปร่งใส ใช้เทคโนโลยีและข้อมูล แก้ปัญหาที่ท้าทายได้ และสร้างการมีส่วนร่วม

ส่วนสิ่งที่ปรับปรุงมีอีกมหาศาล เพราะยังมีเจ้าหน้าที่ที่มีพฤติกรรมผักชีโรยหน้า ยังมีกลุ่มผู้มีอิทธิพล กลุ่มผลประโยชน์ที่ฝังตัวมานาน เราก็ต้องไม่กลัวและเดินหน้าต่อ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาฝาท่อไม่เรียบ ปัญหาการจราจร ปัญหาการจัดระเบียบสายไฟฟ้าสายสื่อสาร และปัญหาถนนพระราม 2 หน้าที่เราไม่มีอำนาจดำเนินการ แต่ต้องไปบูรณาการ สำหรับสิ่งที่ กทม.ต้องทำให้ดีขึ้นคือ การปรับวัฒนธรรมการทำงาน บูรณาการข้ามหน่วยงาน และแก้กฎระเบียบล้าหลัง

“ยอมรับว่าสองปีที่ผ่านมายังมีสิ่งที่เราทำไม่ดี ต้องตั้งหน้าตั้งตาปรับปรุงให้ดีขึ้น เราพยายามทำงานให้เต็มที่ อยากให้ทุกคนเหนื่อยน้อยลงกับการอยู่ในเมืองนี้ อยากเพิ่มประสิทธิภาพเมืองให้ดีขึ้น ให้ทุกคนมีความสุข และใช้ชีวิตในเมืองนี้ให้ดีทั้งครอบครัว”

 



ที่มา:  นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 30 พ.ค. 2567 (กรอบบ่าย)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200