สภากทม.เร่งรัดแก้ไขปัญหาขาดแคลนวัสดุ-อุปกรณ์นักดับเพลิงครบทุกเขต ปรับให้ทันสมัยกู้ภัยในปัจจุบัน/รองผู้ว่าฯกทม. แจงแผนงบจัดซื้อปี’68 เร่งเพิ่มสถานีอีก 3 แห่ง
นายพีรพล กนกวลัย สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตพญาไท ได้เสนอญัตติด้วยวาจา ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร เรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากร วัสดุ อุปกรณ์ของสถานีดับเพลิง รวมทั้งภารกิจของสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยขอให้ฝ่ายบริหารควรให้ความสำคัญกับเรื่องภารกิจป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เนื่องจากภัยที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้มีความรุนแรงมากขึ้น และมีภัยใหม่ๆ เกิดขึ้นเสมอ เช่น เพลิงไหม้รถ EV ไฟไหม้ตึก คอนโดฯ อาคารสูง ซึ่งไม่สามารถใช้วิธีการดับเพลิงตามปกติได้ จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ที่พิเศษ อีกทั้งจากปัญหากรณีการจัดซื้อรถดับเพลิงในอดีต กว่า 20 ปี ทำให้ในปัจจุบันทุกเขต ทุกสถานีดับเพลิงมีปัญหาขาดแคลนวัสดุ อุปกรณ์สำหรับผู้ปฏิบัติหน้าที่ดับเพลิง รวมถึงเครื่องช่วยชีวิตที่มีอยู่ยังไม่ทันสมัย ไม่เพียงพอในการป้องกันชีวิตของ ผู้ปฏิบัติงาน สถานีดับเพลิงก็ยังไม่ทั่วถึง ไม่สามารถเข้าจุดเกิดเหตุทำหน้าที่ได้ ทันท่วงที จึงควรทบทวนภารกิจใหม่ เพราะภัยที่เกิดขึ้นหมายถึงชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน
รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในเรื่องของการศึกษาภัยใหม่ๆ นั้น ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำแผนป้องกันอุบัติภัย 5 ภัย แต่ในปี 2566 ผู้ว่าฯ ได้มีคำสั่งให้ กทม.จัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันถึง 9 ประเภทภัย ได้แก่ แผนอัคคีภัย แผนอุทกภัย แผนอาคารถล่มอันอาจเกิดจากแผ่นดินไหวและเกิดจากอัคคีภัย แผนภัยแล้ง แผนวาตภัย แผนสารเคมีรั่วไหล แผน PM2.5 แผนโรคติดต่อและอุบัติใหม่ และแผนอุบัติเหตุในการขนส่งสาธารณะและคมนาคม ในเรื่องการจัดหาอุปกรณ์ดับเพลิง ในปีงบประมาณ 2568 จะทำการ สั่งซื้อ block wall เพื่อดับเพลิงรถไฟฟ้า ผ้าคลุมดับเพลิง เครื่องดับเพลิงแบบสะพายหลัง ส่วนเรื่องของโดรนดับเพลิงจะต้องขอศึกษาความเป็นไปได้อีกครั้ง
สำหรับสถานีดับเพลิง เดิมกทม.มีสถานีปฏิบัติการดับเพลิงรวม 48 แห่ง ในปีนี้จะมีเกิดขึ้นใหม่อีก 3 แห่ง รวม 51 แห่ง จะครอบคลุมพื้นที่ 50 เขตของ กทม. และมีแผนก่อสร้างสถานีดับเพลิงใหม่และปรับปรุงสถานีเดิมอีกจำนวนมาก ในปี 2568-2569 พร้อมแผนเพิ่มอัตรากำลังให้เหมาะสมกับการปฏิบัติงานด้วย ในส่วนถังดับเพลิง ทำการสั่งซื้อทั้งหมด 37,590 ถัง รวมทั้งถังที่เราเก็บมาและถัง ที่จะติดตั้งใหม่เพื่ออุดช่องว่างชุมชนที่มี ความเสี่ยงสูง ลอตแรกจะนำส่งในเดือน พฤษภาคม จากนั้นจะส่งในเดือนมิถุนายน- สิงหาคม โดยจะมีการตรวจสอบคุณภาพ มอก.ก่อนทุกถัง
ส่วนเรื่องความล่าช้าของประปา หัวแดง 258 จุดทั่งกรุงเทพฯ ยอมรับเป็น ความเข้าใจผิด เนื่องจากการแก้ไขข้อบัญญัติ ของกรุงเทพมหานครเป็นอุปสรรคหนึ่ง ที่ทำให้เราไม่ได้รับเงินอุดหนุนเพื่อจัดการประปาหัวแดงภายในเดือนพฤษภาคม ทำให้ต้องมีการหารือกับการประปานครหลวงเพื่อจ้างจัดหาประปาหัวแดงใหม่ทั้งหมด ซึ่งจะพยายามทำให้เสร็จในเดือนกันยายนนี้
ที่มา: นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 26 เม.ย. 2567