ผู้ว่าฯ สัญจร สำนักอนามัย มุ่งลงทุนครั้งใหญ่ ในระบบสาธารณสุขปฐมภูมิ
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังการประชุม ร่วมกับคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารสำนักอนามัย และผู้เกี่ยวข้อง ในกิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจร สำนักอนามัย (สนอ.) ณ บริเวณชั้น 8 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกทม. ดินแดง ว่า สำนักอนามัยเป็น สำนักที่มีความสำคัญมาก เพราะเป็นการแพทย์ ระบบปฐมภูมิที่ลงไปสู่ทุกคน ที่ผ่านมาเป็นด่านปะทะทั้งเรื่องโควิด-19 และเรื่องต่างๆ ในชุมชน โดยสนอ.มีศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) ทั้งหมด 69 แห่ง และศูนย์บริการสาธารณสุข สาขา 71 แห่ง มีปัญหาเรื่องอัตรากำลัง ทั้งข้าราชการและลูกจ้างที่ยังมีตำแหน่งว่างอยู่ และมีผลเกี่ยวเนื่องกับกรอบอัตราค่าจ้างทั้งระบบต้องไม่เกิน 40% จึงได้ให้นโยบายในเรื่องการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ซึ่งนโยบายสำคัญคือการเพิ่มศักยภาพของศูนย์บริการสาธารณสุขให้ดีขึ้น หลายศูนย์ฯ อยู่ในสภาพทรุดโทรมจึงมีโครงการปรับปรุงและ สร้างใหม่ในหลายแห่ง
อีกประเด็นคือ การดูแลผู้สูงอายุ จะมีการจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุมากขึ้น เนื่องจากกำลังเข้าสู่ สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่แล้ว เป็นการนำ ผู้สูงอายุมาทำกิจกรรมร่วมกัน ไม่ให้ติดบ้าน ติดเตียง ปัจจุบันมีชมรมผู้สูงอายุอยู่ 222 แห่ง มีสมาชิกประมาณ 20,000 คน จะมีการเพิ่มศักยภาพให้สามารถดูแลผู้สูงอายุเชิง Active เพิ่มมากขึ้น รวมถึงขยายเตียงสำหรับผู้ป่วยติดเตียงมากขึ้น นอกจากนี้ จากการร้องเรียนหรือแจ้งปัญหาผ่าน Traffy Fondue เรื่องที่เกี่ยวกับสำนักอนามัยมากที่สุด คือเรื่องสุนัขและแมวจรจัด และเรื่องการให้อาหารนกพิราบ จะเร่งดำเนินการทำหมันสุนัขและแมวจรจัดเพิ่มมากขึ้น ตั้งเป้าปีนี้ประมาณ 20,000 ตัว
“ถึงเวลาลงทุนครั้งใหญ่กับระบบสาธารณสุขปฐมภูมิ เพราะมีผลต่อเรื่องความเหลื่อมล้ำ จึงให้เตรียมการปรับปรุง ศูนย์บริการสาธารณสุข และศูนย์ฯ สาขาทุกแห่ง รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาช่วย เช่น ระบบ Telemedicine เข้ามาเชื่อมโยงระหว่างแพทย์กับผู้รับบริการที่อยู่ทางไกล ที่ผ่านมา มีผู้ใช้บริการประมาณ 40,000 กว่าครั้ง ซึ่งการขยายเทคโนโลยีทำให้ใช้ทรัพยากรบุคคล ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น” นายชัชชาติ กล่าว
ผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า สำหรับการ เตรียมพร้อมช่วงเทศกาลปีใหม่ ได้มีการเพิ่ม สถานที่ฉีดวัคซีน และขยายเวลาในการให้บริการ ดังนั้น ถ้าเรารู้ว่าเราเป็นผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน เป็นกลุ่มเสี่ยง 608 หรือยังไม่ได้รับการ ฉีดวัคซีนกระตุ้นในระยะ 6 เดือน ควรจะ อยู่บ้าน ไม่ควรจะออกไปสถานที่จัดงานที่มีผู้คนเยอะๆ
นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร รองปลัดกทม. กล่าวเสริมว่า จากการประชุมของกระทรวง สาธารณสุข ร่วมกับกรุงเทพมหานคร เตียงในพื้นที่กรุงเทพฯ สำรองไว้ประมาณ 20,000 เตียง ถือว่าพอเพียง ซึ่งในส่วนของสำนักการแพทย์ และโรงพยาบาลวชิรพยาบาล ก็สำรองไว้อย่างพอเพียง ประชาชนสามารถมั่นใจได้
รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า กรุงเทพมหานครเปิดให้บริการวัคซีนป้องกันโควิด-19 หลายแห่ง ได้แก่ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ให้บริการฉีดวัคซีน Pfizer ฟรี วันที่ 29 ธันวาคม 2565 ตั้งแต่ เวลา 12.00-20.00 น. และศูนย์การค้า เทอร์มินอล 21 ซึ่งให้บริการโดยโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ เฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 10.00-16.00 น. รวมถึงศูนย์ฉีดวัคซีน อาคารกีฬาเวสน์ 1 ศูนย์เยาวชน กทม. (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง ซึ่งได้ขยายการให้บริการฉีดวัคซีนสำหรับผู้มีอายุ 5 ขวบขึ้นไป ทุกสัญชาติ ไปจนถึงเดือนมกราคม 2566 เฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น. สามารถจองผ่านแอปฯ QueQ หรือ Walk in ก็ได้ ทั้งนี้ ศูนย์ฉีดวัคซีน อาคารกีฬาเวสน์ 1 จะงดให้บริการชั่วคราวช่วงเทศกาลปีใหม่ คือ ในวันเสาร์ที่ 31 ธันวาคม 2565 และวันอาทิตย์ที่ 1 มกราคม 2566 และจะกลับมาให้บริการตามปกติในวันเสาร์ที่ 7 มกราคม 2566 เป็นต้นไป นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานอื่น อาทิ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งก็จัดตามห้างสรรพ สินค้าด้วยเช่นกัน สำหรับต่างชาติที่ท่องเที่ยว อยู่กับเราในช่วงเคาท์ดาวน์ก็สามารถเข้ารับบริการได้ เป็นการช่วยเหลือกัน
จากนั้น ผู้ว่าฯ กทม.ได้รับประทาน อาหารกลางวันร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักอนามัย โดยได้พูดคุยถึงชีวิตส่วนตัว การทำงาน สอบถามสารทุกข์สุกดิบ รับฟังปัญหาต่างๆ พร้อมรับปากเร่งรัดหน่วยงานดำเนินการจ่ายโบนัสก่อนขึ้นปีใหม่
ที่มา: นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 29 ธ.ค. 2565