‘ชัชชาติ’มั่นใจ กทม.เป็น’มหานครพลังงานแสงอาทิตย์’ได้
‘ชัชชาติ’คุมงบสิ่งแวดล้อมกทม.
เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ที่สำนักสิ่งแวดล้อม เขตดินแดง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังร่วมประชุมในกิจกรรมผู้ว่าฯสัญจร สำนักสิ่งแวดล้อม ว่า วันนี้เป็นสำนักที่ 3 ที่ได้มาเจอ ได้แก่ สำนักยุทธศาสตร์และผังเมือง และสำนักเทศกิจ ซึ่งถือว่ามีความสำคัญอันดับต้น รับผิดชอบหลายด้านที่จะทำให้เมืองน่าอยู่ ทั้งพื้นที่สีเขียว ที่สาธารณะ ขยะ ฝุ่น PM2.5 และเน็ตซีโร่ หรือการทำเมืองให้ยั่งยืน ด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เรื่องพื้นที่สีเขียวที่ผ่านมาทำได้ดี เป็นไปตามเป้าหมาย ได้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
“เรื่องขยะเป็นเรื่องใหญ่ใช้งบสูง ที่ผ่านมามีโครงการผูกพันเกือบ 60,000 ล้านบาท เกี่ยวกับขยะ ทั้งในแง่บริหารจัดการ การเช่ารถ ปีหนึ่งประมาณ 4,000 ล้านบาท ก็ได้ดูให้มีความโปร่งใส มีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงผลกระทบต่อประชาชน เช่น โรงขยะอ่อนนุชส่งกลิ่นเหม็น เขตสายไหมก็มีโครงการจะทำโรงไฟฟ้าเผาขยะเพิ่ม ต้องดูให้รอบคอบถึงที่ตั้งว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ สัญญาจ้างต่างๆ ดูให้คุ้มค่า เช่น เราจ้างรถดูดฝุ่น 54 คันทั่ว กทม.วันละประมาณ 12,000 บาท ใช้ดูดและกวาดถนน ให้เอาเทคโนโลยีเข้ามากำกับ เดี๋ยวไปดูเรื่องความคุ้มค่าด้วย เพราะค่าจ้างเป็นพันล้าน มีหลายสัญญาเป็นสัญญาระยะยาวทั้งนั้น ต้องดูเรื่องความโปร่งใสและประสิทธิภาพ” นายชัชชาติกล่าว
มอนิเตอร์ดาวเทียมรับมือฝุ่น
นายชัชชาติกล่าวถึงเรื่องฝุ่น PM2.5 ว่า สถานการณ์ตอนนี้มีความรุนแรงมาก ดู 3 แหล่ง 1.เผาไหม้ชีวมวล 2.ไอเสียรถยนต์ดีเซล และ 3.โรงงงานอุตสาหกรรม ได้ติดตั้งตัววัดเพิ่มในจุดเสี่ยง เช่น รอบโรงงานอุตสาหกรรม ไซต์งานก่อสร้าง โรงกลั่นน้ำมัน มีคนร้องเรียนว่ามีการปล่อยฝุ่นแต่ยังไม่มีตัวเลข ก็ให้ดูแลพื้นที่เสี่ยงเหล่านี้ มีถนน 17 สายไม่ได้ห้ามรถบรรทุกวิ่งเป็นเวลา เช่น ถนนทางรถไฟสายเก่า (สุขุมวิท) ต้องตรวจสอบว่าฝุ่น PM2.5 เพิ่มขึ้นจากการขนส่งหรือไม่ ส่วนการเผาชีวมวล ช่วงนี้เริ่มเห็นในเขตรอบนอก เช่น จ.ปทุมธานี เริ่มเห็นการเผาเป็นฮอตสปอตเยอะขึ้น ประมาณ 8-9 จุดรอบ กทม.
“ใน กทม.เอง ถ้าเราเห็นก็จัดการทันที เพราะมอนิเตอร์จากดาวเทียมอยู่ เห็นปุ๊บเราจะให้เขตเข้าไปดูฮอตสปอตเลย และเริ่มมีฮอตสปอตในกัมพูชาเยอะขึ้น ปัจจุบันเป็นภาวะลมมาจากตะวันออกเฉียงเหนือ ชีวมวลเผาทางตะวันออกเฉียงเหนือของ กทม.รวมถึงกัมพูชามีโอกาสพัดผ่านมา ประกอบกับอากาศหนาว ชั้นอากาศถูกบีบลง ความหนาแน่นฝุ่นมากขึ้น ทำให้เกิดสภาวะฝุ่นเยอะได้ ให้เร่งรัดกำจัดต้นตอของฝุ่น ตรวจเข้มเลย” นายชัชชาติกล่าว และว่า อย่างเมื่อวานเห็นรถเมลสาย 501 ปล่อยควันดำ ถ่ายรูปมา เดี๋ยวต้องลงไปตรวจที่อู่ ต้องเอาจริงเอาจัง ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแจ้งผ่านทราฟฟี่ฟองดูว์ด้วย ส่วนโรงงานก็ต้องคอยมอนิเตอร์และร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ
เล็งทำห้องปลอดภัยเพิ่ม
นายชัชชาติกล่าวถึงมาตรการรับมือฝุ่นอีกว่า วันก่อนได้คุยกับหมอที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ แนะนำว่าให้เพิ่มห้องปลอดภัยตามพื้นที่ต่างๆ อาจจะดูตามโรงเรียน หรือสถานที่ที่มีกลุ่มเปราะบาง ทำให้มีตัวกรองอากาศ ใช้งบประมาณของกองทุนหลักประกันสุขภาพ ทำห้องปลอดภัยเพิ่มเติมในพื้นที่เปราะบาง เรื่องฝุ่นเราดำเนินการเต็มที่ ที่ผ่านมามีการทำวอร์รูม มีข้อมูลอัพเดตตรวจพื้นที่ทุกวัน ห้ามรถวิ่งไปเป็นจำนวนมาก รวมทั้งไซต์ก่อสร้างที่ให้ปรับปรุง
นายชัชชาติกล่าวว่า เรื่องสุดท้ายเรื่องใหญ่เน็ตซีโร่หรือการลดภาวะเรือนกระจก สำนักสิ่งแวดล้อมดูแลโดยตรง ให้นโยบายไปว่าเริ่มจาก 2 ส่วนคือ 1.เริ่มจาก กทม.เองก่อน ต้องทำคาร์บอนฟุตปรินต์ของ กทม.ให้ชัดว่าคาร์บอนเท่าไหร่ และ 2.ทำคาร์บอนฟุตปรินต์ของเมืองว่าปล่อยก๊าซเรือนกระจกปีละกี่ตัน พอมีเป้าหมาย เราสามารถลดได้
ลุยโซลาร์เซลล์แบบลอยน้ำ
“นโยบาย ผมว่าอย่าไปตั้งไกลเกินไป บางทีเราตั้งอีก 15 ปีข้างหน้าจะเป็นเน็ตซีโร่ให้ทอนเป้าหมายให้เป็นรายปี เช่น ปีนี้จะลดกี่เปอร์เซ็นต์ พอตั้งเป้าหมายไกลสุดท้ายแล้วไม่มีใครตาม เพราะอยู่ไม่ถึงเวลานั้น ทำเป้าหมายให้สั้นลง แล้วเอาจริงเอาจัง เริ่มจากการทำในอาคารของ กทม.ก่อน เริ่มด้วยการทำโซลาร์เซลล์ ลดการใช้พลังงานที่มาจากฟอสซิล พยายามใช้ Renewal ให้มากขึ้น ตอนนี้มีการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เข้ามาประเมินอาคาร รวมถึงพิจารณาการใช้โซลาร์เซลล์แบบลอยน้ำ (floating) ในพื้นที่ กทม.อาจทำเพิ่มได้ เช่น บึงหนองบอน มีโรงสูบน้ำ บำบัดน้ำเสีย และอุโมงค์ระบายน้ำบึงหนองบอนอยู่ ถ้าเราเพิ่มโซลาร์เซลล์แบบลอยน้ำ ก็จะเอาไฟนั้นไปช่วยสนับสนุนระบบต่างๆ ที่ใช้ไฟ แม้กระทั่งสวนลุมพินีเองก็ตาม สมมุติเรามีห้องสมุดเด็ก มีศูนย์สร้างสุขทุกวัยอยู่ ก็ทำตรงพื้นที่น้ำ
สร้างแรงจูงใจให้ประชาชน
นายชัชชาติกล่าวว่า โซลาร์เซลล์แบบลอยน้ำไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อม ความจริงการทำโซลาร์เซลล์จะช่วยลดการระเหยของน้ำได้ แต่ต้องดูให้เหมาะสม สามารถเอาไฟที่ผลิตได้นี้ไปใช้ในที่ต่างๆ ของ กทม.ได้ รวมถึงอาคารทุกแห่ง โรงพยาบาล สถานที่ต่างๆ ก็ต้องประเมินว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้เป็นตัวอย่าง ขณะเดียวกันทั้งกรุงเทพฯก็ควรจะสนับสนุนเรื่องการใช้โซลาร์เซลล์ให้มากขึ้น
“จริงๆ แล้ว เราสามารถเป็นมหานครของพลังงานแสงอาทิตย์ได้เลย เพราะเราอยู่ในตำแหน่งที่มีแสงอาทิตย์ตลอดปี วันก่อนไปดูงานที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งก็ทำได้ดี ติดโซลาร์เซลล์ 5 เมกะวัตต์ ลดค่าไฟฟ้าได้ 30 เปอร์เซ็นต์ จุฬาลงกรณ์เองก็ติดโซลาร์เซลล์ 8 เมกะวัตต์ ลดค่าไฟได้ 38 เปอร์เซ็นต์ อนาคตเราต้องพยายามสนับสนุน สร้างแรงจูงใจให้ประชาชนสามารถลงทุนเรื่องโซลาร์เซลล์ให้มากขึ้น สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญ หัวใจหนึ่งคือเรื่องความโปร่งใส ใช้งบให้มีประสิทธิภาพ เรื่องความยั่งยืนเกี่ยวข้องกับสำนักสิ่งแวดล้อมค่อนข้างมาก” นายชัชชาติกล่าว
โอดลดภาษีที่ดิน-ท้องถิ่นแบกรับ
นายชัชชาติยังฝากถึงรัฐบาลเรื่องของขวัญปีใหม่ที่จะมอบให้กับประชาชน คือการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปี 2566 จำนวน 15 เปอร์เซ็นต์ ว่า ของขวัญชิ้นหนึ่งคือการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 15 เปอร์เซ็นต์ เราก็ดีใจประชาชนลดค่าใช้จ่ายได้ แต่เงินก้อนนี้คือของท้องถิ่น 100 เปอร์เซ็นต์ ใช้ดูแลคนในท้องถิ่น เป็นค่าอาหารกลางวันเด็ก เป็นเงินพัฒนาอะไรต่างๆ ในท้องถิ่น
“ของ กทม.เองถ้าลดไป 15 เปอร์เซ็นต์ น่าจะหายไปประมาณ 2,000 ล้านบาท ต้องกราบเรียนทางรัฐบาลว่าเราก็หนักกันมาตั้งแต่คราวก่อน ช่วงโควิดลดลงไป 90 เปอร์เซ็นต์ เงินเราหายไปเกือบ 20,000 ล้านบาท รัฐบาลชดเชยมาให้กว่า 1,000 ล้านบาท กลายเป็นของขวัญปีใหม่ของประชาชนที่รัฐบาลให้ แต่ท้องถิ่นต้องเป็นคนแบกรับ ก็ฝากเป็นตัวแทนท้องถิ่นช่วยแจ้งว่า ถ้าเป็นไปได้ก็ขอให้คืนมา เพราะท้องถิ่นทำงบประมาณแบบสมดุล ไม่สามารกู้เงินมาโปะได้ เพราะเราไม่ได้ทำแบบกู้เงินมาใช้เป็นงบ เราทำแบบสมดุล ก็ต้องฝากแทนท้องถิ่นด้วย” นายชัชชาติกล่าว
คุมเข้มปีใหม่เน้นระวังไฟไหม้
เมื่อถามถึงมาตรการช่วงเทศกาลปีใหม่ว่าได้กำชับเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยอย่างไร นายชัชชาติกล่าวว่า ลงไปตรวจพื้นที่ก่อน พื้นที่ปิดเสี่ยงเกิดอัคคีภัย ลงไปตรวจพื้นที่ตลอดตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ดูเรื่องทางหนีไฟ กำชับความปลอดภัย ทำไลน์กลุ่ม และตรวจประเมิน
“ในพื้นที่ปิดต้องดูเรื่องทางหนีไฟ วัสดุติดไฟ พื้นที่เปิดคงต้องดูมาตรการการควบคุมคน ไปเซ็นทรัลเวิลด์คุยมาตรการ มีอยู่ 3-4 แห่ง คือ เซ็นทรัลเวิลด์ ไอคอนสยาม พารากอน ต้องร่วมมือกันจำกัดคนไม่ให้เข้าพื้นที่มากเกินไป ขณะเดียวกัน มาตรการโควิดคงต้องดูด้วย ต้องป้องกันในระดับหนึ่ง กทม.ไม่สั่งห้ามจัดงานเคาต์ดาวน์ ระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยให้ดี ดื่มสุราก็อย่าขับรถ ดูแลเรื่องอัคคีภัย กทม.มีงานเฉลิมฉลอง วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ครบรอบ 215 ปี เป็นหลัก อาจมีงานวันที่ 9 มกราคม 2566 พิธีทำบุญวัดคู่เมือง จะทำบุญร่วมกันกับพระทั่ว กทม.” นายชัชชาติกล่าว
เร่งคืนผิวจราจรแนวรถไฟฟ้า
เมื่อถามถึงการคืนพื้นผิวจราจรตามแนวก่อสร้างรถไฟฟ้า นายชัชชาติกล่าวว่า เรื่องนี้คงต้องเร่งรัด เป็นนโยบายว่าต้องเร่งคืนพื้นที่ให้เร็วที่สุด ตอนนี้มีคนบ่นมา โดยเฉพาะถนนรามอินทรา รถไฟฟ้าสายสีชมพู วันก่อนก็มีคนมาร้องเรียนเรื่องการจัดเลนต่างๆ ยังมีปัญหา รวมถึงอุโมงค์ต่างๆ ที่อุโมงค์เสร็จ แต่ด้านบนยังไม่เสร็จ คงต้องเร่งรัดไปอีกครั้ง
วันเดียวกัน ที่ห้องประชุม ชั้น 8 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 (ดินแดง) นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมเร่งรัดการคืนพื้นที่ถาวรตลอดแนวสายทางโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม
กทม.ขีดเส้นเมษายน66
นายณรงค์กล่าวว่า นายชัชชาติห่วงการจราจรติดขัดใน กทม. ส่วนใหญ่มีจุดฝืดอยู่แนวการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่างๆ จึงหารือการคืนพื้นที่ถาวรตลอดแนวสายทางโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย สายสีส้ม สายสีชมพู และสายสีเหลือง ปัจจุบันงานก่อสร้างดำเนินการแล้วกว่า 90% ขอความร่วมมือ รฟม.และผู้รับเหมา ปรับแผนการดำเนินการกับหน่วยงานสาธารณูปโภค เพื่อเร่งรัดการวางท่อประปาหรือท่อร้อยสายไฟฟ้า รวมทั้งซ่อมผิวการจราจร ปรับปรุงเกาะกลาง การปรับปรุงจุดกลับรถ ทางขึ้น-ลงสถานี ส่วนใดสามารถดำเนินการได้ก่อน ให้เร่งดำเนินการ และให้ตรวจสอบระบบระบายน้ำที่เกี่ยวข้อง
นายณรงค์กล่าวว่า สำหรับจุดใดที่ไม่ต้องใช้พื้นที่แล้ว ให้นำแบริเออร์ออก ส่วนจุดใดต้องใช้พื้นที่ ขอให้จัดระเบียบและบริหารจัดการให้ใช้พื้นที่น้อยที่สุด เพื่อคืนผิวการจราจร ส่วนจุดใดคืนผิวการจราจรแล้ว เครื่องหมายจราจร ป้ายบอกเส้นทาง การขีดสีตีเส้นต้องพร้อม ทางเท้าก็ต้องปลอดภัย รวมถึงจัดลำดับความสำคัญ สิ่งใดกระทบกับประชาชนให้เร่งแก้ไข มอบหมายทุกหน่วยงานปรับแผนเพื่อเร่งรัดการทำงานทุกโครงการให้รวดเร็วขึ้น ตั้งเป้าหมายส่งมอบพื้นที่ทั้งหมดก่อนฤดูฝน หรือภายในเดือนเมษายน 2566 โดยให้ส่งแผนให้สำนักการโยธา กทม.ภายในสัปดาห์นี้
ที่มา: นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 27 ธ.ค. 2565