นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภาพรวมการร้องเรียนปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ผ่านระบบทราฟฟี่ ฟองดูว์ (Traffy Fondue) หลังพบข้อมูลความพึงพอใจสูงขึ้นต่อเนื่อง ว่า ทราฟฟี่ ฟองดูว์หัวใจสำคัญคือการให้อำนาจกับประชาชน นำเรื่องร้องเรียนมาแก้ไข เดิมกทม.รับเรื่องร้องเรียนผ่านโทร.1555 หรือ เอกสาร มีจำนวนเรื่อง 74,000 เรื่องเฉลี่ยต่อปี เมื่อมีการใช้ทราฟฟี่ ฟองดูว์มาเพิ่มอีกช่องทาง พบว่ามีจำนวนเรื่องร้องเรียนมากขึ้นเป็น 270,000 เรื่องต่อปี หรือมากกว่าค่าเฉลี่ยเดิมประมาณ 4 เท่า และเชื่อว่าจะมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อย ๆ
จากข้อมูลสถิติย้อนหลัง 12 เดือน มีจำนวนเรื่องร้องเรียน จำนวน 503,387 เรื่อง ซึ่งพบว่าเพิ่มขึ้น 100% จากสถิติ 2 ปีก่อนหน้านี้ และสามารถแก้ไขได้เสร็จสิ้นแล้ว จำนวน 392,120 เรื่อง (77.90%) ส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไข จำนวน 66,190 เรื่อง (13.15%) ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไข การจัดซื้อจัดจ้าง การขอจัดสรรงบประมาณ และการจัดทำเป็นนโยบาย และอีกส่วนเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับกรุงเทพมหานคร จำนวน 10,383 เรื่อง (2.06%)
“เดิมเราอาจทำงานโดยให้ผู้ว่าฯ เป็นหลัก แต่เมื่อมีทราฟฟี่ ฟองดูว์เข้ามา ทุกคนหันหน้าเข้าหาประชาชนมากขึ้น ดูว่าประชาชนต้องการอะไร มีเรื่องค้างอยู่ที่ใคร ใช้เวลาเท่าไหร่ในการแก้ ใครไม่สนใจประชาชนและใครเป็นคนไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งหมดนี้เราเห็นได้อย่างละเอียด” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
สำหรับข้อมูลสถิติการแจ้งเรื่องรายเดือน ตั้งแต่เดือนมิ.ย.65 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นเดือนแรกของการบริหารงาน พบว่า มีการแจ้งเฉลี่ย 24,000 เรื่อง / เดือน หรือ วันละ 800 เรื่อง เดือนมิ.ย.65 มีการแจ้งเรื่องมากที่สุด คือ 47,292 เรื่อง ภาพรวมการดำเนินการรับเรื่องในแต่ละเดือน เดิมใช้เวลา 32 วัน ขณะนี้ใช้เวลารับเรื่องเพียง 6.7 ชม. ทำให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปด้วยความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ซึ่งเดิมใช้เวลาแก้ปัญหาอยู่ที่ 57 วัน ปัจจุบันใช้เวลาเพียง 3 วัน
โดยความเร็วในการแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ เปรียบเทียบ มิ.ย.65 และเดือน ม.ค.66 มีดังนี้
1.ด้านความสะอาด เดิมใช้เวลา 34 วัน ปัจจุบัน 1 วัน เฉลี่ยระยะเวลาดำเนินการ 2 วัน
2.ด้านแสงสว่าง เดิมใช้เวลา 32 วัน ปัจจุบัน 6 วัน เฉลี่ยระยะเวลาดำเนินการ 11 วัน
3.ด้านการตัดต้นไม้ เดิมใช้เวลา 34 วัน ปัจจุบัน 2 วัน เฉลี่ยระยะเวลาดำเนินการ 3 วัน
ทั้งนี้ปัญหาอื่นใช้เวลาเฉลี่ยในการแก้ไขอยู่ที่ 3 วัน ส่งผลให้แนวโน้มความพึงพอใจเฉลี่ยรายเดือนสูงขึ้นที่ 4.11/5 กรุงเทพมหานครขอขอบคุณประชาชนและทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งทำให้กรุงเทพฯเป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน
• ชี้จุดแข็ง-จุดบกพร่องทราฟฟี่ ฟองดูว์ พร้อมรับ Feedback จากประชาชน เพื่อปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวถึงจุดแข็งและจุดบกพร่องของการนำระบบทราฟฟี่ ฟองดูว์มาใช้ โดยจุดแข็ง ประกอบด้วย 1. การเปลี่ยนจากระบบเดิม เป็นแพลตฟอร์มทำให้ลดจำนวนผู้ที่คุมการเข้า-ออกของเรื่องร้องเรียน หรือ Gate Keeper ทำให้ประชาชนสามารถแจ้งได้โดยไม่จำกัด 2. ไม่มีความฝืด ประชาชนไม่จำเป็นต้องแจ้งเรื่องในวัน เวลา ราชการเท่านั้น และจากข้อมูล กว่า 50% ประชาชนมักร้องเรียนนอกเวลาราชการ 3. สามารถขยาย Scale การรับเรื่องได้ไม่สิ้นสุด ไม่ต้องมีการหา Operator เพิ่ม และ 4. การมี Feedback Loop ให้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นได้ว่าดีหรือไม่
สำหรับข้อบกพร่อง ของระบบทราฟฟี่ ฟองดูว์ ประกอบด้วย 1. การแก้ไขเป็นการทำแบบชั่วคราว บางครั้งไม่ถาวร เช่น ปัญหาการทิ้งขยะ 2. การแก้ปัญหาไม่ต่อเนื่อง เช่น การแก้ปัญหาท่อระบายน้ำ แก้เพียงจุดเดียวไม่ได้แก้ทั้งระบบที่เชื่อมโยงกัน และ 3. หน่วยงานรับผิดชอบไม่เกี่ยวกับกรุงเทพมหานครโดยตรง เช่น ปัญหาการจอดรถซึ่งเป็นเรื่องของตำรวจ
อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวย้ำว่า กรุงเทพมหานครจะนำเอา Feedback ที่ได้รับทั้งหมดมาพัฒนาปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น ซึ่งกรุงเทพมหานครมีทีมงานที่จะคอย Monitor สำรวจการทำงานของเขตทุกเช้า และได้สั่งการให้รองปลัดกรุงเทพมหานคร นำปัญหาต่างๆมาปรับปรุงการทำงาน เพราะบางเรื่องต้องใช้งบประมาณในการดำเนินงานให้ดีขึ้น และให้เจ้าหน้าที่ได้มีทรัพยากรในการทำงานแก้ไขปัญหาให้ดีขึ้น
“เชื่อว่าประชาชนรู้สึกว่าเราได้ให้อำนาจกับประชาชนและเราเอาจริงเอาจังกับการแก้ปัญหา และมีการปรับปรุงในหลายๆ ด้าน โดยนำข้อมูลที่ได้รับมาต่อยอดการพัฒนาเชิงพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาอย่างถาวร เช่น การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางถนนในเขตกรุงเทพตะวันออก แก้ไขปัญหาหาบเร่แผงลอยในเขตกรุงเทพกลางและกรุงเทพใต้ การแก้ปัญหาการจัดเก็บขยะในเขตกรุงเทพเหนือ และการติดตั้งกล้องวงจรปิดในระบบ AI เพื่อตรวจจับและติดตามดำเนินคดีกับผู้ลักลอบทิ้งขยะ การพัฒนานวัตกรรมรถเก็บขนขยะ รถหัวลากมูลฝอยเพื่อความเหมาะสมของการเข้าเก็บขยะในพื้นที่ชุมชน หมู่บ้าน และพื้นที่เล็ก การติดตั้งเสาเอสการ์ดเพื่อป้องกันรถจักรยานยนต์ขับขี่บนทางเท้า การเพิ่มจุดบริการด่วนมหานคร BMA Express Service ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพระราม 2 เดอะมอลล์บางแค ซีคอนบางแค”
เรื่องร้องเรียน 500,000 เรื่อง นอกจากจะเป็นเรื่องบกพร่องที่เราต้องปรับปรุงแล้ว ยังแสดงให้เห็นว่าเป็นความไว้วางใจที่ประชาชนมอบให้เรา และยอมเป็นส่วนในการแก้ไขปัญหา ซึ่งต้องทำให้จุดนี้เข้มแข็งขึ้น ซึ่งขอขอบคุณทุกท่านที่ให้ความคิดเห็นและเห็นร่วมกันว่าประชาชนสำคัญที่สุด
*ขอบคุณหลายหน่วยงานช่วยแก้ไขปัญหาร้องเรียน
จากนั้น ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวถึงปัญหาร้องเรียนที่พบบ่อยครั้ง ว่า ปัญหาที่มักพบการร้องเรียนบ่อยๆ คือ ฟุตบาททางเท้า หาบเร่แผงลอย โดยเฉพาะในพื้นที่เขตป้อมปราบศัตรูพ่ายและเขตในเมือง แต่จะเห็นว่าหลายเขตดีขึ้น ปัญหาการทิ้งขยะ ซึ่งพยายามแก้ในระยะยาวให้มากขึ้น สำหรับขณะนี้ปัญหาที่พบการร้องเรียนเพิ่มขึ้นคือเหตุเดือดร้อนรำคาญจากการเปิดสถานบันเทิง ซึ่งได้แก้ไขด้วยการติดตั้งเครื่องวัดเสียงเก็บข้อมูล 24 ชั่วโมง เพื่อวางแผนแก้ไขปัญหาระยะยาว ทั้งนี้บางเรื่องอาจทำไม่ได้ทันที แต่กทม.จะพยายามทำให้เกิดการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนมากขึ้น
ทางด้าน นางสาวศนิ จิวจินดา ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกเพื่อแก้ไขปัญหาร้องเรียนทราฟฟี่ ฟองดูว์ ว่า ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้รับความร่วมมืออย่างดีจากหน่วยงานภายนอก อาทิ การไฟฟ้า การประปา ตำรวจ การรถไฟ กรมทางหลวง เป็นอย่างดี สามารถนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ว่าพื้นที่ใดมีปัญหา จากนั้นผู้บริหารกรุงเทพมหานครจะได้หารือกับผู้บริหารของหน่วยงานภายนอกเพื่อหารือแนวทางความร่วมมือการแก้ไข ซึ่งได้รับความร่วมดีด้วยดีเสมอมา
“การแก้ปัญหาโดยใช้ทราฟฟี่ ฟองดูว์ คือการเป็น Smart City ตัวจริง การนำเทคโนโลยีมาแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม เพราะเราคงไม่มีงบประมาณในการติดตั้งกล้อง CCTV ได้ทั้งกทม. การให้ประชาชนเป็นเซ็นเซอร์สำคัญ เป็นส่วนหนึ่งของสมาร์ทซิตี้ ในการส่งข้อมูลให้เรา เป็นหัวใจของ Empower หรือการให้อำนาจให้กับประชาชน หน้าที่ฝ่ายกทม.คือการเคารพสิ่งที่ประชาชนแจ้งมา และทำให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ซึ่งวันนี้หลายเขตต้องพลิกรูปแบบการทำงาน” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวทิ้งท้าย
นายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และโฆษกของกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า ตัวเลขภาพรวมสถิติการรับเรื่องร้องเรียนผ่านทราฟฟี่ ฟองดูว์ในวันนี้ มีนัยสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า ทำไมหลังจากที่มีทราฟฟี่ ฟองดูว์ ถึงมีเรื่องร้องเรียนเข้ามามากขึ้น นั่นเพราะว่ากทม.เอาประชาชนเป็นตัวตั้ง ประชาชนสามารถร้องเรียนได้ง่ายขึ้น และเชื่อมั่นใน กทม. ซึ่งกทม.จะนำข้อมูลทั้งหมดมาพัฒนาเพื่อกำหนดเป็นนโยบายในการทำงานต่อไป
———————-