ทีมข่าวเฉพาะกิจ
ในวันที่ค่าฝุ่นทะยาน สารพัดเรื่องราวไหลเข้า ‘สภากรุงเทพมหานคร’ ทั้งคอมเมนต์ ตามทวง ถามสด ตั้งทีมปลดล็อกปัญหา
ด้วยความเป็นห่วงว่าคนกรุงฯจะลำบาก ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อ้อนเพื่อนๆ ส.ก.ทุกเขต ในการประชุมสามัญ สมัยที่ 1 ครั้งที่ 3 ประจำปี พ.ศ.2567 สางปมที่คั่งค้างอย่าง ‘รถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2’ เพราะเห็นว่าคนมหานครต้องใช้สัญจรเยอะจริงๆ กระทั่งสมาชิกใจอ่อนไฟเขียวให้รับมอบงาน E&M หรือโครงการการรับมอบงานทรัพย์สินระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล)
ยังมีเรื่องราวที่ฟังแล้วบางภาคส่วนต้องหนาว ฟังแล้วแอ๊กชั่นต้องมาไม่ว่าจะ พีรพล กนกวลัย ส.ก.เขตพญาไท ถามหาแผนเผชิญเหตุแบบที่ไม่ต้องรอให้วัวหายแล้วล้อมคอก เพราะเห็นหลายเคสรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) เกิดขัดข้อง ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน สำหรับ เมธาวี ธารดำรงค์ ส.ก.เขตปทุมวัน เล่าความเดือดร้อนจากผู้ประกอบการร้านอาหารย่านบนถนนบรรทัดทอง ที่เบียดเสียดจนคนเดินถนนแทบต้องร้องขอชีวิต
ปมที่คาราคาซังสลัดไม่พ้นอย่างรถไฟฟ้าสายสีเขียว คืบหน้าแน่ๆ แล้วหนึ่ง แต่ที่ยังวนลูปกลับเป็นเรื่องธรรมดาๆ
น่าตกใจเมื่อทราบว่า ‘สถานพยาบาล’ อันเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ทุกสังคมต้องมีพร้อมรองรับความป่วยไข้ บางจุดของ กทม.กลับไม่มีสักแห่ง! สถานของ กทม.เองเครื่องไม้เครื่องมือพอมี แต่ยังเห็นช่องโหว่การให้บริการ
สภาอันทรงเกียรติของคนกรุงฯจัดให้แน่นๆ สะกิด กระทุ้ง พุ่งไปถึงประเด็นนี้ชนิดที่กัดไม่ปล่อย เพราะเห็นหนทางที่ควรเลือกเพื่ออุดช่องโหว่การรักษา ขยับให้กลุ่มเปราะบางเข้าถึงง่ายกว่าที่เป็นอยู่
งบสุนัขยังเยอะกว่าป่าวประกาศให้โลกรู้ ‘ศูนย์บำบัดยา’ มีที่เดียว
“ถ้าบ้านเมืองเราปล่อยให้ไม่มีที่บำบัดยาเสพติด กทม.จะทำอย่างไร ทำไมงบประมาณดูแลสุนัขถึงมีมากกว่างบดูแลประชาชน”
สุทธิชัย วีรกุลสุนทร หรือเฮียล้าน ส.ก.ตัวตึง เขตจอมทอง จั่วหัวถามตรงๆ เพราะติดใจที่สถานบำบัดยาเสพติดมีเพียง ‘บ้านพิชิตใจ’ แห่งเดียวในกทม. บางทีก็อ้างเต็ม ตึกก็เก่า แถมไม่มีการรีโนเวตใดๆ จัดหาสถานที่ฟ้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเพิ่มได้ไหม เห็นใจคนที่ติดยามีความทุกข์ ทำไมบริการของประชาชนถึงไม่พัฒนาขึ้นเลย
กางตัวเลขเทียบให้ดูชัดๆ อย่างในปี2567 วงเงินงบในกิจกรรมหลัก รวมทั้งสิ้น953,200 บาท ส่วนงบผลิตสื่อให้ความรู้ 4,854,900 บาท แต่ศูนย์ควบคุมสุนัขกลับใช้ถึง 18,979,400 บาท
“งบคนน้อยกว่าการดูแลสัตว์อีก ในปี 2567 งบ 2,100,400 บาท เชื่อว่าหน่วยงานพยายามจะทำ แต่งบอันน้อยนิดจะทำอะไรได้ สำนักอนามัย บางงบควรจะเยอะแต่ไม่ขอ บางงบไม่จำเป็นต้องขอเยอะดันขอเยอะ ตลกจริงๆ” สุทธิชัยเปรียบเปรย
พูดในฐานะคนรักสุนัข แต่เทียบอัตราส่วนของงบแล้วกลับรู้สึกว่าไม่แฟร์กับคน ที่ผ่านมาประชาชนเคยฟ้อง เจ้าตัวเคยประสาน กทม.เองก็มีศูนย์บำบัดยาเสพติด แต่เต็มตลอด ตำรวจจับยาแล้วไม่รู้จะเอาเขาไปไว้ที่ไหน พอปล่อยออกมาก็ก่อเหตุวนไปเวียนมา
“ผมเป็นประธานพิจารณางบ เรามีศูนย์ที่ดูแลสุนัข ‘ทัพทัน’ ที่ จ.อุทัยธานี สร้างอย่างกับวังเลย แต่กลับมาดูศูนย์บำบัดยาเสพติดมีอยู่แห่งเดียวใน กทม.คือ ‘บ้านพิชิตใจ’ ผมขอประกาศให้โลกรู้” สุทธิชัยลั่นกลางสภา กทม.
ติดใจว่า ‘บ้านพิชิตใจ’ สังกัดสำนักอนามัย กทม.ที่มีเพียงแห่งเดียว ยังมีสภาพที่เก่ามาก แต่ทำไมไม่คิดจะขยับขยาย
“พ่อแม่ ผู้ปกครอง เครียดมาก ถ้าลูกใครติดยาไม่รู้จะเอาไว้ที่ไหน สังคมก็ไม่ยอมรับ นี่คือสังคมปัจจุบันรุนแรงขึ้น ติดยามากขึ้น แต่ศูนย์บำบัดมีเพียงแห่งเดียวที่เป็นศูนย์ใหญ่” ส.ก.เขตจอมทองย้ำว่าต้องปรับปรุงเรื่องนี้
หลังฟังจบ รองผู้ว่าฯ ทวิดา กมลเวชช ที่ดูแลด้านสาธารณสุข ยอมรับว่าเก่าจริง เคยฟ้นฟูแล้วในปี 2563 แต่ยังโทรมอยู่ งบปี 2567 ’18 ล้าน’ ส่งไปซ่อมอาคารฝั่งอำนวยการแล้ว ส่วนของบ้านพักก็สั่งปรับภูมิทัศน์ และเข้าไปจัดการระบบน้ำ-ดิน ยอมรับว่าการให้บริการยังไม่ตอบโจทย์ เลยสั่ง ‘เพิ่มตึก’ ในปี 2569 และจะหาทางพัฒนาเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มศักยภาพ
ส.ก.สุทธิชัยฝากอีกนิด ขอให้ปรับหลักเกณฑ์ที่รับผู้ป่วยไม่ต่ำกว่า 18 ปีด้วยจะได้ไหม เพราะตอนนี้คนติดยาอายุน้อยลงทุกวัน
เพิ่มจิตแพทย์ด่วนหมอ 12 คนรักษา 6.6 หมื่น
‘จิตเภท, วิตกกังวล, ระแวง, กลัวสุดขีดจนผิดปกติ, ปรับตัวผิดปกติ, ซึมเศร้า, ฆ่าตัวตาย’
คือ 7 อันดับอาการทางจิตเวชที่สูงขึ้นทุกปี ตั้งแต่ 2564-2566 แถมยังพุ่งขึ้นไม่หยุด
เป็นความร้อนใจจน ดร.จอห์น สุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ส.ก.เขตลาดกระบัง เห็นว่าต้องให้น้ำหนัก ชงให้ กทม.อัพศักยภาพบุคลากรแพทย์ด้านจิตเวชให้ครอบคลุมในโรงพยาบาลสังกัด กทม. เพราะกรุงเทพฯแต่ละโซนมีโรงพยาบาลให้บริการในแต่ละพื้นที่น้อยมาก บางพื้นที่คือ ไม่มีเลย!
‘โรงพยาบาล 9 แห่ง จิตแพทย์ 12 คน นักจิตวิทยา 15 คน ต่อจำนวนผู้ป่วยด้านสุขภาพจิต 66,193 คน’ คือยอดที่น่าเป็นห่วง
รองผู้ว่าฯทวิดาชี้แจงทันทีว่า อัตราจิตแพทย์มีน้อย แม้จะมีเต็มอัตราก็คงจะไม่เพียงพอ มีเพียง 2 วิธีที่จะผ่อนภาระที่ได้คือ
1.’เทเลคอนซัลต์’ โดยนักจิตวิทยาและจิตวิทยาคลินิก พูดคุยวินิจฉัยเบื้องต้นแล้วส่งต่อไปให้จิตแพทย์ปลายทาง
2.เชื่อมแอพพลิเคชั่น อาทิ DMIND, สติ พูดคุยกับนักจิตวิทยาเบื้องต้น จากสถิติส่วนมากมีเพียงผู้เสี่ยงต่ำ แต่ถ้าเสี่ยงขั้นรุนแรง ศูนย์บริการสาธารณสุขจะส่งรักษาต่อ
นอกจากนี้ ยังให้เพิ่มการกั้นส่วนดูแลผู้ป่วยเบื้องต้น เพื่อขยายส่วนบริการดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตโดยเฉพาะ รวมถึงผู้ป่วยจากสารเสพติดให้มากขึ้น
อย่าปล่อยให้จรจัดให้ค่าสัตว์ ลดภาระสังคม
หยิบเรื่องสัตว์มาเทียบ เพราะเห็นความสำคัญของทุกชีวิตไม่แพ้คน
พุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ ส.ก.เขตยานนาวา ขอเสียงเห็นด้วยกับการก่อสร้างโรงพยาบาลสัตว์สังกัด กทม. เพราะยังไม่มีสักที่ ในขณะที่สัดส่วนประชากรสัตว์เลี้ยงตั้งแต่ปี 2561 พบว่ามากถึง 13.7 ล้านตัว แบ่งเป็น สุนัข 61% แมว 24% อื่นๆ 15%
ซึ่งถ้ามองดีๆ มีมูลค่าการตลาด คาดการณ์มูลค่าสัตว์เลี้ยงของไทยในปี 2569 จะมากถึงร้อยละ 66,748 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ยปีละ 8.4% มูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงทั่วโลกจะทะยานไปสู่ 217,615 ล้านเหรียญสหรัฐ เฉลี่ยปีละ 7.2% จูงใจให้นักธุรกิจบินมาเปิดธุรกิจโรงพยาบาลสัตว์กันพรึบ
และเมื่อซูมพฤติกรรมการเลี้ยงสัตว์ของไทยยังแบ่งได้ 3 ประเภทคือ
‘เลี้ยงแบบลูก 49%’ คนไทยมีลูกน้อยลง เมื่อเข้าสู่วัยชราจึงเลี้ยงสัตว์แทนลูก
‘เลี้ยงเพื่อสังคม 34%’ เป็นการตลาดที่ทำธุรกิจสัตว์เลี้ยง ตัวละหลายบาท
‘เลี้ยงเพื่อช่วยเหลือและบำบัดรักษา 17%’ โดยเฉพาะสุนัข แมวจรจัด ที่ถูกเก็บมาเลี้ยง
ค่าใช้จ่าย ค่าอาหาร ถือว่าแรงพอตัว 1,000-2,000 บาท/เดือน ถ้าเลี้ยงดีเสมือนลูก ก็ตก 14,200 บาท/ตัว/ปี แต่ทั้งเมืองมีสถานพยาบาลสัตว์เอกชน ประเภทที่ไม่มีที่พักสัตว์ป่วยไว้ค้างคืน 424 แห่ง แบบค้างคืนได้ไม่เกิน 10 ตัว 137 แห่ง, แบบพักได้เกิน 10 มีอยู่ 197 แห่ง, แต่คลินิกสัตวแพทย์ สังกัด กทม.มีแค่ 8 แห่ง เห็นชัดว่าไม่พอกับประชากรสัตว์
ยืนหนึ่งที่คนเลี้ยงมักพาไปรักษาคือ ‘คลินิกเอกชน’ 43.3% ส่วน รพ.สัตว์เอกชน 41.23% และ รพ.สัตว์รัฐบาล 9.8%
ส.ก.เขตยานนาวา ขยี้ปัญหาที่ตามมาจากการไม่มีเงินเลี้ยง ปลายทางคือ ‘ปล่อยให้จรจัด’ ถ้าเราแก้ตั้งแต่ต้นเหตุก็จะช่วยลดภาระให้สังคมได้
“ไม่เพียงเห็นแค่ชีวิตมนุษย์ แต่พวกเขาก็สำคัญเช่นกัน ถ้าสร้าง รพ.สัตว์และดูแลสัตว์อย่างทั่วถึง จะไม่เกิดสุนัข แมวจรจัด” พุทธิพัชร์วอนหนุนให้ผลักดันเรื่องนี้ เพื่อทุกประชากรในประเทศ
รองฯทวิดารับว่าเป็นปัญหาหนักอยู่เหมือนกัน ปัจจุบันยังติดขัด พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพฯ ปี 2528 ที่ไม่ให้อำนาจส่วนท้องถิ่นสร้าง รพ.สัตว์ อนุญาตเพียงควบคุมการเลี้ยงสัตว์และโรคระบาดในสัตว์แบบปฐมภูมิเท่านั้น ถ้าจะสร้างเป็น รพ.สัตว์ได้ต้องทำในเชิงพาณิชย์
สัญญาว่าจะศึกษาหนทางที่เป็นไปได้ ตามอำนาจที่ พ.ร.บ.พอจะมอบให้ ตอนนี้สัตวแพทย์มีน้อย ยังไม่สามารถรักษาเคสที่ซับซ้อนได้ จากข้อติดขัดนี้ก็น่าสนใจ ในการวางแนวทางและแก้ไขระเบียบบางอย่างใหม่ ให้ศูนย์รักษาสัตว์ภายใต้การกำกับของ กทม.ตอบโจทย์ให้เร็วที่สุด
เลิกผลักไสทำแท้งเถื่อน! โชว์รีเสิร์ชยิบ ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด
อีกประเด็นละเอียดอ่อน แต่ ส.ก.ทั้งสภาก็เอาด้วย เมื่อ ภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย ส.ก.เขตบางซื่อ ปลุกเพื่อนสมาชิกให้เปิดใจรับข้อมูลวิทยาศาสตร์ ยกสถิติที่มีอยู่จริง ไม่ใช่เพียงมายาคติของสังคม กระทั่งตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาแนวทาง ‘การให้บริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย ในสถานพยาบาลสังกัด กทม.’ ได้สำเร็จ
ลงพื้นที่ศึกษาพูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เคยทำแท้งมาก่อน และภาคเอกชนที่ต่อสู้ขับเคี่ยวมาเป็น 10 ปี รวมทั้งฟังเสียงแพทย์ที่ทั้งเห็นด้วยและเห็นค้าน ให้ตัวเลขเล่าเรื่องว่า ‘การทำแท้ง’ เป็นทางเลือกทางสุขภาพ
“พูดเป็นภาษาบ้านๆ ‘ไม่มีใครตั้งใจท้องเพื่อทำแท้ง'”
หยิบสถิติผู้เข้ารับการปรึกษาเพื่อยุติการตั้งครรภ์ ปี 2561-2565 กว่า 80% อายุ 20+ ส่วนวัยทำงาน 25+ มีมากกว่า 60% และคนอายุ 35-44 ปี ยังมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับคนอายุ 15-35 ปี ที่มีแนวโน้มลดลง ซึ่ง 56.9% ที่เลือกยุติการตั้งครรภ์ยังเคยมีลูกมาแล้วขั้นต่ำ 1 คน จึงลบล้างความเชื่อว่า คนทำแท้งคือวัยรุ่นท้องไม่พร้อม
ยังไม่รวมทำแท้งเพราะเดือดร้อนด้านปากท้อง 32.9%, มีรายได้ไม่แน่นอน 20.5% ส่วนใหญ่ยังต่ำกว่า 15,000 บาท/เดือน ถึง 75.4% แถม 60% นั้นยังคุมกำเนิดแล้วด้วย
“แบบเรียนสุขศึกษาระดับประถมสอนเราว่าไม่มีการคุมกำเนิดใดที่ให้ ผลได้ 100% ส่วนที่ไม่คุมกำเนิดก็มีหลายเหตุผล เช่น ไม่มีความรู้มากพอ, ถูกล่วงละเมิดทางเพศ, อายุมากประจำเดือนหมด ไม่มีทุนทรัพย์พอ บางคนเพิ่งแท้งก็ไม่คิดว่าจะตั้งครรภ์ได้” ภัทราภรณ์ยกตัวอย่าง
85.6% มีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ตามที่กฎหมายกำหนด หรือหากอายุครรภ์เกินนั้นก็จะเข้าเงื่อนไขที่กระทบต่อสุขภาพ หรือเกิดจากการกระทำความผิดทางเพศ รัฐก็สามารถให้บริการได้
“จึงไม่มีเหตุผลใดเลยที่รัฐจะไม่ให้บริการแก่ประชาชนกลุ่มนี้ จากข้อมูลสถิตินี้สามารถสรุปได้ว่า คนที่ยุติการตั้งครรภ์ส่วนใหญ่เป็นวัยทำงาน มีบุตรมาแล้ว พลาดตั้งครรภ์จากการคุมกำเนิด มีอายุครรภ์ต่ำกว่า 12 สัปดาห์ และอยู่ในฐานะที่ไม่พร้อมทางเศรษฐกิจ” ส.ก.เน้นย้ำ
ในขณะที่กฎหมายก็เปิดช่องไว้แล้ว เมื่อปี 2563 พรรคก้าวไกลผลักดันให้เกิดการแก้กฎหมายอาญา มาตรา 301 และ 305 ที่เกี่ยวข้องกับการยุติการตั้งครรภ์ ถ้าครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ ประสงค์จะเอาลูกออก ก็ไม่มีความผิด
“ผ่านมา 3 ปี รัฐกลับไม่ทำหน้าที่จัดบริการให้แก่ประชาชน ไม่ว่าจะจากกระทรวงสาธารณสุข หรือ กทม.เอง พูดง่ายๆ ถูกกฎหมายแล้ว แต่ไม่มีสถานที่ให้บริการของรัฐอย่างเพียงพอ มีเพียงเอกชนที่เข้ามาให้บริการเป็นส่วนใหญ่”
ส่วนภาคเอกชนก็แบกรับการจ่ายยา Medabon ที่ใช้ยุติการตั้งครรภ์ จาก 79,133 รายทั่วประเทศ ใน 5 ปีที่ผ่านมา มากถึง 77.3% ส่วน รพ.รัฐใน กทม.น้อยมากๆ แค่ 0.3% เท่านั้น ข้อติดขัดของ กทม.หลักๆ คือโรงพยาบาลปฏิเสธ หรือไม่ก็ส่งต่อไปเอกชน
ส.ก.บางซื่อชี้ว่า ในปีที่ผ่านมา รพ.สังกัดกรุงเทพฯ 11 แห่ง ให้บริการรวมกันแค่ 19 รายเท่านั้น ทั้งที่จริงมีผู้ขอใช้บริการมากถึง 8,000 ราย และ สปสช.ก็จ่ายให้แค่ 3,000 บาทต่อเคส น่าเห็นใจเพราะส่วนใหญ่เป็นผู้มี รายได้น้อยอยู่แล้ว การไม่มีตัวเลือกให้ก็เหมือนผลักไปสู่ทางที่อันตรายต่อชีวิต เพราะในตอนนี้วิธีทำแท้งเถื่อนมีสารพัด ทั้งคลินิก ซื้อยาออนไลน์ที่ขายเกลื่อน X (ทวิตเตอร์) ส่งตรงถึงหน้าบ้าน
ภาพนอนหยั่งขา น่ากลัวเลือดสาดที่ปรากฏผ่านสื่อจนกลายเป็นภาพจำ แต่ความเป็นจริงก้าวหน้าไปมาก ล่าสุดมี 2 วิธีคือ 1.กินยา Mifepristone ให้เกิดการขับออกใน 8-13 วัน แค่ทานยา ดูอาการสักพักก็กลับบ้านได้ เช่นเดียวกับวิธีที่ 2.สอดกระบอกสุญญากาศ เพียง 15 นาที มีอัตราสำเร็จสูงถึง 99% ปลอดภัย รวดเร็ว คอนเฟิร์มว่าตรงตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก (WHO)
ไม่รีรอ ยื่นข้อเสนอ 3 ข้อ 1.โรงพยาบาลในสังกัด กทม.ให้บริการเอง แทนการส่งตัวไปเอกชน 2.จ่ายยาได้ 3.ช่วยประชาสัมพันธ์ข้อเท็จจริงว่าเป็นทางเลือกด้านสุขภาพ ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด
“28 กุมภาพันธ์นี้ เป็นวันยุติการตั้งครรภ์ปลอดภัยสากล เป็นนิมิตหมายอันดีที่เราจะเลิกปากว่าตาขยิบ เพราะบริการที่ไม่เพียงพอ ไม่ได้ทำให้การทำแท้งลดลง แต่ผลักภาระให้ประชาชนไปหาทางเลือกเถื่อนหลังบ้านที่อันตรายต่อชีวิต
ดิฉันทำรีเสิร์ชทั้งหมดนี้ ก็นั่งคิดนอนคิดว่าไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่สถานพยาบาลของ กทม.จะไม่ให้บริการ ในเมื่อกฎหมายก็ถูกมาแล้ว 3 ปี อุปกรณ์ก็พร้อม หากแพทย์ไม่เต็มใจ จ้างบุคลากรที่เต็มใจมาเสริมได้ สิ่งเดียวที่น่าจะขาด คือความกล้าหาญและเจตจำนงในการแก้ปัญหาให้ประชาชนเท่านั้นจริงๆ”
ภัทราภรณ์ทิ้งท้าย ปิดจบด้วยความหวังว่าผู้แทนของคนกรุงฯ จะเห็นความสำคัญของทุกชีวิต ด้านรองผู้ว่าฯและสำนักอนามัยเองก็เห็นด้วย ซึ่งตอนนี้เปิดให้บริการปรึกษาทุกแห่งแล้ว พร้อมส่งต่อ รพ.สังกัด กทม.ทั้ง 5 แห่งช่วยดูแล
เป็นเสียงที่มีแรงผลัก ตอกย้ำว่าถึงเวลาขยายทางเลือกด้านสุขภาพ ผ่านศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง และโรงพยาบาลสังกัด กทม. 11 แห่งที่มีอยู่แล้ว ให้เป็นมากกว่าแค่อาคาร แต่เป็นสถานที่โอบรับทุกประชากร พร้อมพยาบาลทุกชนชั้นในสังคม
บรรยายใต้ภาพ
สุทธิชัย วีรกุลสุนทร
สุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา
พุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์
ภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย
ที่มา: นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 29 ม.ค. 2567