(21 ธ.ค.66) เวลา 14.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตประเวศ ประกอบด้วย
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 แพลนท์ปูนบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ท่าหลวง) จำกัด รามคำแหง 2 ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับให้ผู้ประกอบการปรับปรุงแนวรั้วโดยรอบให้มีความสูงไม่ต่ำ 6 เมตร ซึ่งด้านล่าง 2 เมตรเป็นรั้วทึบ ด้านบน 4 เมตรเป็นรั้วโปร่ง ปรับปรุงพื้นที่ให้ลาดเอียงเพื่อไม่ให้น้ำจากการล้างทำความสะอาดพื้นตกค้างตามแอ่ง เมื่อน้ำแห้งก่อให้เกิดการสะสมของฝุ่นปูนทราย ปรับปรุงบ่อคายกากและบ่อตกตะกอน รวมถึงขนย้ายเศษปูนที่ตกตะกอนออกไปทิ้ง เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำปูนและเศษปูนล้นออกมานอกบ่อ ตรวจสอบเครื่องพ่นละอองน้ำให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เปิดเครื่องพ่นละอองน้ำบริเวณทางเข้า-ออก และพื้นที่โดยรอบตลอดเวลาการทำงาน ปรับปรุงบ่อล้างล้อรถโม่ปูนบริเวณทางเข้า-ออก พร้อมทั้งมอบหมายให้เขตฯ จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ประเภทสถานประกอบการ/โรงงาน 18 แห่ง ประเภทแพลนท์ปูน 5 แห่ง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมสถานประกอบการไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ โรงเรียนแก่นทองอุปถัมภ์ วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล คัดแยกขวดพลาสติก กระดาษ กระป๋อง ในห้องเรียน มีกรงขยะคัดแยกบริเวณจุดบริการด้านล่างอาคารเรียน และสนามโดม มีชมรมของนักเรียนในการรับ-ส่ง/รวบรวมตามชนิด และดำเนินการจำหน่ายเป็นทุนสนับสนุนชมรม 2.ขยะอินทรีย์ มีถังขยะคัดแยกเศษอาหารบริเวณจุดล้างถาดอาหาร และนำมาเลี้ยงไส้เดือน มีกรงตาข่ายสำหรับนำเศษวัชพืช ใบไม้แห้ง เพื่อมาทำปุ๋ยหมัก 3.ขยะอันตราย นำขยะใส่ถังขยะเฉพาะ รวบรวมและแจ้งฝ่ายรักษาความสะอาดฯ จัดเก็บไปกำจัดอย่างถูกวิธี 4.ขยะทั่วไป มีการอบรมประชาสัมพันธ์เรื่องคัดแยกขยะก่อนทิ้ง ทั้งในหลักสูตรการสอน และจากหน่วยงานภายนอก เช่น มูลนิธิ IVL สำนักงานเขตประเวศ มีถังขยะสำหรับทิ้งตามจุดต่างๆ เพื่อรอการจัดทิ้งตามวันเวลาที่เขตฯ กำหนด สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 1,989 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 830 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 155 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 1,000 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 4 กิโลกรัม/เดือน
สำรวจสวน 15 นาที สวนคลองปักหลัก 2 ริมถนนกาญจนาภิเษกฝั่งขาเข้า เขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ 1.สวนพัฒนาภิรมย์ พื้นที่ 3 ไร่ 2.สวนสุขภาพประเวศ พื้นที่ 10 ไร่ 3.สวนวงเวียนเจ้าแม่กวนอิม พื้นที่ 2 งาน 4.สวนเฉลิมพัฒน์ พื้นที่ 3 ไร่ 5.สวนกาญจนาบารเมษฐ์ พื้นที่ 3 ไร่ และ 6.สวนปักหลักพื้นที่ 2 ไร่ สำหรับสวนคลองปักหลัก 2 พื้นที่ 3 ไร่ กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของกรมทางหลวง ซึ่งอนุญาตให้ใช้พื้นที่ปรับปรุงภูมิทัศน์ ที่ผ่านมาเขตฯ ได้สำรวจและออกแบบปรับปรุงพื้นที่เพื่อจัดทำเป็นสวน 15 นาทีแห่งใหม่ ปลูกต้นราชพฤกษ์ ต้นเฟื่องฟ้า ปรับปรุงบ่อบัวกลางสวน จัดทำทางเดินรอบสวน สำหรับออกกำลังกายและพักผ่อนหย่อนใจ ในโอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารเขตประเวศ ได้ร่วมกันปลูกต้นราชพฤกษ์ เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียว และกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง เพิ่มความร่มรื่นและสวยงามให้กับสวนดังกล่าว
ในการนี้มี นายดิชา คงศรี ผู้อำนวยการเขตประเวศ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตประเวศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี
—– (จิรัฐคม…สปส. รายงาน)