(21 ธ.ค. 66) เวลา 14.00 น. พญ.วันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาแนวทางดำเนินงานสภาคนเมืองประจำเขต โดยมีคณะกรรมการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องสุทัศน์ ชั้น 2 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์) ได้มีคำสั่งกรุงเทพมหานคร แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการดำเนินงานสภาคนเมืองประจำเขต ซึ่งมีปลัดกรุงเทพมหานครเป็นประธานกรรมการ โดยคณะกรรมการฯ มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณากำหนดแนวทางในการดำเนินงานสภาคนเมืองประจำเขต โครงสร้างของสภาคนเมืองประจำเขต มุ่งเน้นไปยังประชาชนในพื้นที่ที่อยู่นอกชุมชน เช่น กลุ่มบ้านในรั้ว หรือหมู่บ้านจัดสรร อาคารชุด กลุ่มประชาสังคมที่ขับเคลื่อนประเด็นต่าง ๆ สถานประกอบการ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งไม่มีช่องทางเข้ามามีส่วนร่วมกับสำนักงานเขตหรือกรุงเทพมหานคร ทั้งประเด็นด้านการดำเนินงาน การแก้ปัญหา และการพัฒนาในพื้นที่ เพื่อให้สอดรับกับการสร้างความยั่งยืนในการพัฒนาเมือง โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนจากทุกภาคส่วนอย่างครบถ้วน ครอบคลุมรอบด้าน เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และมีประสิทธิภาพ
ที่ประชุมได้มีการพิจารณาแนวทางการดำเนินงานสภาคนเมืองประจำเขต โดยปรับโครงสร้างของคณะกรรมการสภาคนเมืองประจำเขตด้วยการทบทวนการดำเนินงานของสภาคนเมืองประจำเขต กำหนดแนวทางในการปรับโครงสร้างฯ ให้มุ่งเน้นไปยังกลุ่มนิติบุคคลหรือผู้แทนหมู่บ้าน หมู่บ้านจัดสรร อาคารชุด (มีสัดส่วนมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ ) กลุ่มผู้แทนภาคธุรกิจ บริษัท ห้างร้าน สถานประกอบการ ครอบคลุมทุกกลุ่มในแต่ละพื้นที่ กลุ่มนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา และตัวแทนภาคประชาสังคมหรือกลุ่มที่ขับเคลื่อนประเด็นต่าง ๆ ในพื้นที่ โดยให้มีองค์ประกอบของคณะกรรมการฯ ในสัดส่วนที่เหมาะสมตามบริบทของพื้นที่เขต พร้อมดำเนินการจัดประชุมคณะกรรมการสภาคนเมืองประจำเขต 6 เดือน/ครั้ง เพื่อรับฟังผลการดำเนินการจากคณะกรรมการสภาคนเมืองประจำเขตชุดย่อยที่เป็นผู้ปฏิบัติงาน และสามารถเรียกประชุมคณะกรรมการฯ วาระเร่งด่วนได้ในภาวะฉุกเฉิน โดยกำหนดให้มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อช่วยเสนอทิศทางการพัฒนาเขตเชิงพื้นที่เฉพาะด้าน จำนวน 5 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความปลอดภัย 2. ด้านสาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐาน และการจราจร 3. ด้านเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต 4. ด้านสิ่งแวดล้อมและเพิ่มพื้นที่สีเขียว และ 5. ด้านการศึกษาและเทคโนโลยี เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางและเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการกรุงเทพมหานคร และขยายขอบเขตการพูดคุยเพื่อให้ครอบคลุมประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ทุกภาคส่วนในพื้นที่ สร้างการสื่อสารสองทางระหว่างกรุงเทพมหานครและประชาชน ตามหลักการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี ส่งเสริมการสร้างเมืองประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างยั่งยืน ตามนโยบายของผู้บริหารกรุงเทพมหานครที่มีเป้าหมายเพื่อให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองน่าอยู่ของทุกคนอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้สำนักงานปกครองและทะเบียน กรุงเทพมหานคร เป็นผู้ดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์คุณสมบัติของคณะกรรมการฯ โดยคณะกรรมการฯ ต้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสียหรือเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของพรรคการเมือง มีภูมิลำเนาหรือสถานประกอบการหรือมีการเสียภาษีอยู่ในพื้นที่เขตนั้น ๆ รวมถึงกำหนดระเบียบการเลือกตั้งประธานคณะกรรมการฯ จากคณะกรรมการสภาคนเมืองทั้ง 5 ด้าน ให้ชัดเจน ปรับปรุงคำสั่งและโครงสร้างของสภาคนเมืองประจำเขต รวมถึงพิจารณาชื่อเปลี่ยนชื่อ “สภาคนเมืองประจำเขต” ให้มีความเป็นประชาคมที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองและท้องถิ่นร่วมกัน พร้อมถอดบทเรียนจากปัญหาต่าง ๆ ของคณะกรรมการชุมชนและไม่ให้ซ้ำซ้อนการทำงาน บทบาท อำนาจ หน้าที่ ระหว่างกันอีกด้วย โดยให้สำนักงานปกครองและทะเบียนนำเข้าสู่การประชุมคณะกรรมการฯ ในครั้งต่อไป
#บริหารจัดการดี
—————-