(14 ธ.ค.65) เวลา 14.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่เขตคลองเตย เพื่อติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย
ตรวจจุดเสี่ยงภัยด้านอาชญากรรม ในพื้นที่เขตฯ มี 3 จุด ได้แก่ 1.ซอยภูมิจิตร มีสภาพทางกายภาพเป็นจุดเปลี่ยว และเป็นจุดลับตาคน อีกทั้งมีการก่ออาชญากรรม 2.ซอยฟาร์มวัฒนา มีสภาพทางกายภาพเป็นจุดเปลี่ยว 3.สะพานเขียว มีสภาพทางกายภาพเป็นจุดเปลี่ยวในเวลากลางคืน เขตฯ ได้ดำเนินการแก้ไขโดยจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจร่วมกับสถานีตำรวจนครบาลในพื้นที่ ตรวจตราความเรียบร้อย และติดตั้งตู้เขียว รวมถึงการติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างและกล้อง CCTV เพื่อป้องกันเหตุอาชญากรรม สร้างความอุ่นใจแก่ประชาชนผู้ใช้เส้นทางดังกล่าว
ติดตามมาตรการป้องกันฝุ่น PM2.5 ตรวจวัดควันดำรถโดยสารประจำทางและรถโดยสารประจำทางปรับอากาศ บริเวณอู่คลองเตย เขตการเดินรถที่ 4 ถนนเกษมราษฎร์ โดยใช้เครื่องตรวจวัดควันดำด้วยระบบความทึบแสง จากนั้นเร่งเครื่องยนต์อย่างรวดเร็วจนสุดคันเร่ง และคงไว้ที่ความเร็วสูงสุดไม่น้อยกว่า 2 วินาที ทำการตรวจวัดค่าควันดำ 2 ครั้ง ใช้ค่าสูงสุดที่วัดได้เป็นเกณฑ์ตัดสิน สำหรับค่ามาตรฐานควันดำ ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดมาตรฐานค่าควันดำของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยการอัด พ.ศ.2564 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 13 เมษายน 2565 กำหนดค่ามาตรฐานควันดำตรวจด้วยเครื่องมือวัดระบบความทึบแสงต้องไม่เกิน 30% และตรวจด้วยเครื่องมือวัดระบบกระดาษกรองต้องไม่เกิน 40% ส่วนค่ามาตรฐานเสียงระดับเสียงปลายท่อไอเสียรถยนต์ต้องไม่เกิน 100 เดซิเบล ในพื้นที่เขตฯ มีกิจการที่เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ดังนี้ แพลนท์ปูน 2 แห่ง โรงงาน/สถานประกอบการ 10 แห่ง โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ 8 แห่ง อู่รถเมล์ 2 แห่ง ทั้งนี้รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบกิจการที่เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยกำชับผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามแนวทางป้องกันฝุ่น PM2.5 ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ อาคาร ดิ เอ็มโพริโอ เพลส ซอยสุขุมวิท 24 ซึ่งได้รับรางวัลแก้วไพฑูรย์ กลุ่มอาคารสูงตามโครงการเครือข่ายกรุงเทพสีเขียว จัดโดยกรุงเทพมหานคร ลักษณะอาคารเป็นอาคารชุดพักอาศัย ขนาดพื้นที่ 39,600 ตารางเมตร จำนวน 3 อาคาร (368 ห้อง) ได้แก่ อาคาร A จำนวน 35 ชั้น อาคาร B จำนวน 42 ชั้น อาคาร C จำนวน 12 ชั้น วิธีการคัดแยกขยะโดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ ขยะรีไซเคิล แม่บ้านแยกนำไปขายเป็นรายได้ ขยะอินทรีย์ นำไปทำปุ๋ยอินทรีย์ และน้ำหมักชีวภาพ ขยะอันตราย และขยะทั่วไป เขตฯ ดำเนินการจัดเก็บ สำหรับปริมาณขยะก่อนและหลังทำการแยกขยะ และขยะที่สามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ ขยะทั่วไป ก่อนดำเนินการ 90.60 ตัน/ปี หลังดำเนินการ 80.78 ตัน/ปี ขยะรีไซเคิล คัดแยกได้ ปี พ.ศ. 2564 จำนวน 21.50 ตัน /ปี ขยะอินทรีย์ ประเภทกากกาแฟ คัดแยกได้ 3.65 ตัน/ปี นำมาทำปุ๋ยหมักใบไม้ ประเภทเปลือกผลไม้ คัดแยกได้ 2.40 ตัน/ปี นำมาทำน้ำหมักจุลินทรีย์ชีวภาพ สำหรับใช้ในการบำบัดน้ำเสียในอาคาร เขตฯ จัดเก็บขยะวันเว้นวันต่อสัปดาห์
ในการลงพื้นที่วันนี้มี นางเบญญา อินทรวงศ์โชติ ผู้อำนวยการเขตคลองเตย พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตคลองเตย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#ปลอดภัยดี #สุขภาพดี #สิ่งแวดล้อมดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)