(27 พ.ย.66) เวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตสวนหลวง ประกอบด้วย
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ หมู่บ้านเอื้อสุข ซอยพัฒนาการ 58 พื้นที่ 650 ไร่ ประชากร 1,000 คน บ้านเรือน 28 หลังคาเรือน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2565 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ รวบรวมเศษวัชพืชและใบไม้ไปไว้ที่จุดทำขยะปุ๋ยหมัก ลูกบ้านคัดแยกนำไปทิ้งจุดที่กำหนด ประสานเขตฯ จัดเก็บขยะเศษอาหาร 2.ขยะรีไซเคิล ลูกบ้านคัดแยกขยะนำมาวางไว้ตามจุดพักแยกขยะ จำนวน 5 จุด ได้แก่ จุดพักแยกขยะใหญ่ 1 จุด จุดพักแยกขยะย่อย 4 จุด พนักงานของหมู่บ้านใช้รถ 3 ล้อสีส้ม จัดเก็บตามจุด เพื่อรวบรวมนำไปขายเป็นรายได้ของพนักงาน 3.ขยะทั่วไป ลูกบ้านนำขยะใส่ถุงดำวางไว้หน้าบ้านตนเอง พนักงานของหมู่บ้านใช้รถ 3 ล้อสีส้ม จัดเก็บตามซอย นำไปรวมใส่ถังรองรับมูลฝอย ขนาด 8 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งหมู่บ้านฯ จัดหาเอง เพื่อรอการจัดเก็บจากเขตฯ 4.ขยะอันตราย ลูกบ้านคัดแยกขยะนำมาวางไว้ตามจุดพักแยกขยะ 5 จุด ประสานเขตฯ เข้าจัดเก็บวันที่ 1 และ 15 ของทุกเดือน สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 48,510 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 47,400 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 1,000 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 100 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 10 กิโลกรัม/เดือน
ตรวจความเป็นระเบียบพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณซอยพัฒนาการ 34-36 เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 4 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 69 ราย ดังนี้ 1.บริเวณซอยพัฒนาการ 25 ผู้ค้า 24 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-22.00 น. 2.บริเวณซอยรามคำแหง 4 ผู้ค้า 23 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-21.00 น. 3.บริเวณซอยพัฒนาการ 34-36 ผู้ค้า 11 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-14.00 น. และ 4.บริเวณซอยอ่อนนุช 17 แยก 16 ผู้ค้า 11 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-22.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ จะดำเนินการยกเลิกหรือยุบรวมพื้นที่ทำการค้าบริเวณซอยพัฒนาการ 34-36 ผู้ค้า 11 ราย ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ กวดขันผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสิ่งของรุกล้ำเข้ามาในทางเท้าหรือเกินแนวเส้นที่กำหนด ขอความร่วมมือผู้ค้าให้จัดเก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน รวมถึงพิจารณายกเลิกจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย โดยให้ย้ายมาทำการค้าในจุดที่เขตฯ กำหนด หรือ Hawker Center บริเวณตลาดพัฒนาการ 34 ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เน้นจุดที่มีความต้องการของผู้บริโภค อยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม มีจุดล้างทำความสะอาดภาชนะ จุดคัดแยกขยะและกำจัดขยะรวม โดยคำนึงถึงช่วงเวลาทำการค้าและความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของพื้นที่
ติดตามถนนสวย ถนนศรีนครินทร์ ความยาว 4,800 เมตร พื้นที่เกาะกลาง 21,600 ตารางเมตร เขตฯ จะดำเนินการปลูกต้นไม้ล้านต้น บริเวณเกาะกลางถนนศรีนครินทร์ ได้แก่ ต้นเทียนทอง 118,580 ต้น ต้นไทรอังกฤษ 27,340 ต้น ต้นทองอุไร 380 ต้น ต้นเสลา 230 ต้น ต้นข่อย 4,208 ต้น ที่ผ่านมาเขตฯ ได้ปลูกต้นไม้เพิ่มเติม ถนนสวย ถนนพัฒนาการ ความยาว 6,500 เมตร พื้นที่เกาะกลาง 12,000 ตารางเมตร ต้นไม้ที่มีอยู่เดิม ได้แก่ ต้นนนทรี 433 ต้น ต้นมะฮอกกานี 186 ต้น ต้นปาล์มหางกระรอก 35 ต้น ต้นไทรเกาหลี 50 ต้น ต้นเฟื่องฟ้า 1,950 ต้น ต้นทองอุไร 250 ต้น ต้นยี่โถ 120 ต้น ต้นการะเกดหนู 2,000 ต้น ต้นชาฮกเกี้ยน 40,000 ต้น ต้นไทรทอง 20,000 ต้น ต้นไม้ที่ปลูกใหม่ ได้แก่ ต้นเสลา 180 ต้น ต้นเฟื่องฟ้า 3,000 ต้น ต้นชาฮกเกี้ยน 150 ต้น ต้นเข็มพิษณุโลก 3,020 ต้น ต้นไทรเกาหลี 300 ต้น ต้นทองอุไร 1,500 ต้น เพื่อความร่มรื่นสวยงามตลอดเส้นทาง เพิ่มพื้นที่สีเขียวและสร้างกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง
สำรวจสวน 15 นาที บริเวณซอยอ่อนนุช 46 พื้นที่ 4 ไร่ 2 งาน 31 ตารางวา ซึ่งเป็นพื้นที่ทางสาธารณะ ลักษณะพื้นที่คล้ายด้ามขวาน เขตฯ มีแนวคิดจะพัฒนาเป็นสวนน้ำ จัดทำทางเดินวิ่งรอบบึง พร้อมทั้งก่อสร้างศาลาพักผ่อนริมบึงและอาคารเอนกประสงค์ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ประสานสำนักการโยธาและสำนักสิ่งแวดล้อม พิจารณาหาแนวทางปรับปรุงทางเข้าออกสวน รวมถึงออกแบบสวนให้มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่และเกิดประโยชน์จากการใช้ที่ดินดังกล่าว ที่ผ่านมาเขตฯ ได้จัดทำสวน 15 นาที สวนใหม่ จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1.สวนหย่อมซอยพัฒนาการ 25 หรือสวนพัฒนาการไลค์พาร์ค พื้นที่ 864 ตารางเมตร 2. สวนหย่อมในสถานีบริการน้ำมัน ปตท. ถนนอ่อนนุช พื้นที่ 400 ตารางเมตร ดำเนินการปลูกต้นไม้และไม้ประดับ รวมถึงได้รับการสนับสนุนเก้าอี้จาก บริษัท โมเดอร์นฟอร์มกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) สำหรับนั่งพักผ่อนและทำกิจกรรมภายในสวน
ตรวจมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการ Q Prime ซอยอ่อนนุช 46 เป็นการก่อสร้างทาวน์โฮม ความสูง 3 ชั้น ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันฝุ่น PM2.5 อย่างเคร่งครัด ปรับสภาพพื้นดินและเก็บเศษวัสดุจากก่อสร้างให้เรียบร้อย ฉีดล้างทำความสะอาดล้อรถบรรทุกล้อรถโม่ปูนก่อนออกจากโครงการ ตรวจวัดค่าควันดำอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งมอบหมายให้เขตฯ จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ ติดตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ได้แก่ ประเภทหม้อไอน้ำ (Boiler) 1 แห่ง ประเภทอู่พ่นสีรถยนต์ 13 แห่ง ประเภทแพลนท์ปูน 3 แห่ง ประเภทสถานที่ก่อสร้าง 4 แห่ง ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ป้องกันไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด
พร้อมกันนี้ได้สอบถามถึงการคัดแยกขยะเขตสวนหลวง มีข้าราชการและบุคลากร 773 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล แต่ละฝ่ายเก็บรวบรวมไว้แล้วนำไปขาย รายได้มอบให้พนักงาน 2.ขยะอินทรีย์ แต่ละฝ่ายมีการคัดแยกขยะ นำไปทิ้งตามจุดที่กำหนด 3.ขยะอันตราย ตั้งจุด drop off ตามจุดที่กำหนด 4.ขยะทั่วไป แต่ละฝ่ายมีจุดคัดแยกทั่วไป สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 1,938 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 988 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 66 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 132 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 750 กิโลกรัม/เดือน
ในการลงพื้นที่วันนี้มี นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นายบัญชา สืบกระพัน ผู้อำนวยการเขตสวนหลวง พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตสวนหลวง สำนักสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)