(8 พ.ย.66) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตบางนา ประกอบด้วย
เยี่ยมชมสวน 15 นาที สวนหย่อมคลองเคล็ด สวนสาธารณะใหม่ ซอยบางนา-ตราด 23 พื้นที่ 520 ตารางวา ซึ่งเขตฯ ได้ปรับปรุงภูมิทัศน์ ปลูกต้นไม้ ปูหญ้า ประดับภาพวาดตามแนวรั้วทางเดินริมคลอง ที่ผ่านมาเขตฯ ได้จัดทำสวน 15 นาที สวนหย่อมประติมากรรมสี่แยกบางนา (ควายเหล็ก) สวนสาธารณะใหม่ ถนนสุขุมวิท พื้นที่ 2 งาน 65 ตารางวา ซึ่งเป็นที่ดินของกรมทางหลวง โดยปลูกเสริมต้นทองอุไร ต้นชะแมบทอง ต้นประดู่ ต้นเข็มพิษณุโลก จัดวางเก้าอี้นั่ง นอกจากนี้เขตฯ ได้ปรับปรุงสวนสาธารณะเดิมให้มีความร่มรื่นและสวยงาม จำนวน 2 สวน ได้แก่ 1.สวนบึงในฝันสวรรค์บางนา พื้นที่ 11 ไร่ 3 งาน 76 ตารางวา โดยปลูกเสริมต้นทองอุไร ต้นหูกระจง จัดสวนหย่อมและมุมพักผ่อน เพิ่มลานกีฬา สนามเปตอง สนามตะกร้อ จุดถ่ายรูปและนั่งเล่นริมบึง 2.สวนหย่อมใต้ทางด่วนบางนา พื้นที่ 8 ไร่ 18 ตารางวา เป็นพื้นที่ของการทางพิเศษฯ โดยปลูกเสริมต้นทองอุไร ปลูกไม้ดอก ปรับพื้นที่ทางเดินและปูตัวหนอน
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 แพลนท์ปูนบริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (CPAC) ถนนลาซาล ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้รับจ้างให้ดูแลทำความสะอาดพื้นอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันฝุ่นละอองสะสม ตรวจสอบบ่อคายกากปูนเป็นประจำ ไม่ให้มีเศษปูนล้นออกมา พร้อมทั้งมอบหมายให้เขตฯ จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง อาทิ ประเภทสถานประกอบการ/โรงงาน ประเภทแพลนท์ปูน ประเภทสถานที่ก่อสร้าง ประเภทตรวจวัดควันดำ ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กำชับสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อลดมลพิษทางอากาศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
สำรวจ Hawker Center บริเวณตลาดดวงพลอย ซอยลาซาล 33 ซึ่งเขตฯ ได้สำรวจพื้นที่ว่างหรือตลาดนัดของเอกชน เพื่อจัดทำ Hawker Center (ศูนย์อาหาร) ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยเน้นจุดที่มีความต้องการของผู้บริโภค และอยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม มีจุดล้างทำความสะอาดภาชนะ จุดคัดแยกขยะและกำจัดขยะรวม ซึ่งบริเวณตลาดดวงพลอย สามารถรองรับผู้ค้าได้ 5 ราย จัดเก็บค่าใช้จ่ายในอัตราที่ตลาดกำหนด ที่ผ่านมาเขตฯ ได้จัดทำ Hawker Center บริเวณตลาดต้นไทร รองรับผู้ค้าได้ 50 ราย จัดเก็บค่าเช่าในอัตราที่ตลาดกำหนด ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่ เพื่อจัดทำ Hawker Center โดยคำนึงถึงช่วงเวลาทำการค้าและความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อ รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ผู้ค้าย้ายเข้ามาทำการค้าในจุดที่เขตฯ จัดทำเป็น Hawker Center เพื่อความเป็นระเบียบในพื้นที่ต่อไป
ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 6 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 214 ราย ได้แก่ 1.ปากซอยสุขุมวิท 103 (อุดมสุข) รวมผู้ค้า 124 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-18.00 น. ผู้ค้า 87 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 18.00-23.00 น. ผู้ค้า 37 ราย 2.ถนนสรรพาวุธ (หน้าองค์การแก้วเดิม) ผู้ค้า 22 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-21.00 น. 3.ปากซอยสุขุมวิท 107 (แบริ่ง) รวมผู้ค้า 13 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-21.00 น. ผู้ค้า 3 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 14.00-21.00 น. ผู้ค้า 10 ราย 4.ปากซอยสุขุมวิท 66/1 ผู้ค้า 22 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-21.00 น. 5.หน้าเดอะเครน ตรงข้ามห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลบางนา รวมผู้ค้า 13 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-10.00 น. ผู้ค้า 4 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 14.00-20.00 น. ผู้ค้า 9 ราย และ 6.หน้าห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีบางนา รวมผู้ค้า 20 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-10.00 น. ผู้ค้า 15 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 14.00-21.00 น. ผู้ค้า 5 ราย ส่วนพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 9 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 213 ราย ได้แก่ 1.ถนนเทพรัตน (ขาออก) ผู้ค้า 6 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-24.00 น. 2.ซอยสุขุมวิท 103 (ซอยอุดมสุขเลขคี่) รวมผู้ค้า 49 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-09.00 น. ผู้ค้า 18 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 10.00-23.00 น. ผู้ค้า 31 ราย 3.ซอยสุขุมวิท 103 (ซอยอุดมสุขเลขคู่) ผู้ค้า 22 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 16.00-24.00 น. 4.ถนนสรรพาวุธ ฝั่งซ้ายหน้าวัดบางนานอก ผู้ค้า 13 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-12.00 น. 5.ถนนสรรพาวุธ ซอย 2 (เลียบด่วน) ผู้ค้า 14 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-16.00 น. 6.ถนนสรรพาวุธ ท่าน้ำวัดบางนานอก ผู้ค้า 12 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-16.00 น. 7.ซอยเพี้ยนพิน ผู้ค้า 26 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 16.00-20.00 น. 8.ซอยสุขุมวิท 105 (ลาซาล) ผู้ค้า 47 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-21.00 น. และ 9.ถนนเทพรัตน (ขาเข้า) ผู้ค้า 24 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-10.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ มีเป้าหมายยกเลิกหรือยุบรวมพื้นที่ทำการค้า จำนวน 2 จุด ได้แก่ 1.ถนนเทพรัตน (ขาออก 2.ถนนสรรพาวุธ ซอย 2 (เลียบด่วน)
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะอย่างครบวงจร บริษัท ยูแทคไทย จำกัด ถนนลาซาล (สุขุมวิท 105) พื้นที่ 17 ไร่ 1 งาน 9 ตารางวา ซึ่งประกอบกิจการประกอบและทดสอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (I.C.) มีพนักงาน 3,592 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ โครงการกินเกลี้ยงจาน รณรงค์ให้พนักงานตักอาหารให้พออิ่ม แล้วรับประทานให้หมด เพื่อลดขยะอินทรีย์ จัดหาที่ทิ้งคัดแยกและจัดเก็บขยะอินทรีย์โดยเฉพาะ 2.ขยะรีไซเคิล 3.ขยะทั่วไป พนักงานทุกคนจะผ่านการอบรมเรื่องการจัดการและคัดแยกขยะภายในพื้นที่บริษัท ตั้งแต่เริ่มเป็นพนักงานบริษัท จัดหาชุดถังขยะ 4 ประเภท (พลาสติก แก้ว โลหะ ทั่วไป) ติดตั้งกระจายโดยรอบพื้นที่บริษัท มีห้องพักเก็บขยะโดยเฉพาะ 4.ขยะติดเชื้อ จัดหาที่ทิ้งขยะติดเชื้อ หน้ากากอนามัยใช้แล้ว และชุดตรวจ ATK มีห้องพักเก็บขยะติดเชื้อโดยเฉพาะ สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและวิธีการจัดการ ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 11,880 กิโลกรัม/เดือน ส่งให้บริษัทที่ได้รับอนุญาตคัดแยกส่วนที่รีไซเคิล หรือใช้ประโยชน์ ส่วนที่เหลือนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงผสม (RDF) ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 3,844 กิโลกรัม/เดือน ส่งให้บริษัทที่ได้รับอนุญาตคัดแยก จำหน่ายต่อ หรือรีไซเคิล ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 4,573 กิโลกรัม/เดือน นำไปเป็นอาหารปลา ขยะติดเชื้อก่อนคัดแยก 30 กิโลกรัม/เดือน ส่งกำจัดโดยการนำไปเผากับบริษัทกรุงเทพธนาคม ปริมาณขยะรวมทั้งหมด 20,327 กิโลกรัม/เดือน ขยะที่เกิดขึ้นในบริษัทสามารถจัดการได้ทั้งหมด โดยไม่มีการส่งกำจัดกับทางกรุงเทพมหานคร
ในการนี้มี คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตบางนา สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#เศรษฐกิจดี #สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)