ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สี่ (ครั้งที่ 4) ประจำปีพุทธศักราช 2566 วันนี้ (25 ต.ค.66) : นายกิตติพงศ์ รวยฟูพันธ์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตทุ่งครุ เสนอญัตติขอให้กรุงเทพมหานครจัดทำแนวทางปฏิบัติกรณีเกิดเหตุไฟไหม้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) เนื่องจากปัจจุบันมีแนวโน้มที่คนทั่วโลกต้องการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) มากขึ้น และบริษัทผลิตรถยนต์ได้ผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) เข้าสู่ตลาดเป็นทางเลือกในการซื้อรถยนต์มากขึ้นด้วย แต่เนื่องจากเป็นช่วงเริ่มต้นการใช้งาน ความรู้ความเข้าใจต่าง ๆ เกี่ยวกับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) ยังมีไม่มาก โดยเฉพาะในเรื่องความปลอดภัยจากการเกิดเพลิงไหม้ จากการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) ทั้งช่วงเวลาที่รถจอดขณะชาร์จไฟ และจากอุบัติเหตุ สาเหตุหลักเกิดจากแบตเตอรี่ของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) ซึ่งการดับเพลิงจะยากและใช้เวลานานกว่ารถยนต์สันดาป รวมทั้งสารเคมีจากแบตเตอรี่ที่จะเป็นอันตรายต่อผู้ประสบเหตุและพนักงานดับเพลิงและยังตกค้างในสิ่งแวดล้อมด้วย ดังนั้น เพื่อให้เกิดมาตรฐานความปลอดภัยในการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) กรุงเทพมหานครจึงควรหาแนวทาง วิธีการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ใช้รถหน่วยงานดับเพลิงของกรุงเทพมหานครในการแก้ไขปัญหาหากเกิดกรณีไฟไหม้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบเหตุอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย
“เทคโนโลยีรถไฟฟ้า มีทั้งเรื่องที่ดีและเรื่องร้ายตามมา เรื่องดี คือ ยอดขายรถEV เติบโตขึ้น โอกาสไฟไหม้ต่ำ และเทคโนโลยีพัฒนาขึ้นทุกวัน แต่เรื่องร้ายคือ เวลาเกิดไฟไหม้จะเกิดขึ้นหนักและนาน หากจอดทิ้งไว้ก็สามารถไหม้ได้ ที่สำคัญคือดับจะทำได้ยาก เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของเจ้าหน้าที่ดับเพลิงเอง จากตัวเลขยอดขายที่โตขึ้น จะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นรถในกรุงเทพฯ จากข้อมูลประเทศจีนพบว่ามีอุบัติเหตุไฟไหม้รถEVเพิ่มมากขึ้น ซึ่งความยากของการดับเพลิงรถ EV คือ อาจต้องใช้เวลาดับเพลิงทั้งวัน ดับแล้วอาจไหม้ขึ้นอีก หากแบตเตอรี่อยู่ในโครงเหล็กจะทำให้ดับยาก รวมถึงแบตเตอรี่ยังสามารถระอุได้หลายวัน ซึ่งหากเจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยยังไม่รู้จักรถEVทุกประเภท และไม่ได้รับการอบรมการดับเพลิงที่ถูกวิธีอาจทำให้เกิดอันตรายได้” ส.ก.กิตติพงศ์ กล่าว
ทั้งนี้ ในที่ประชุมมีสมาชิกสภากรุงเทพมหานครร่วมอภิปรายเพื่อให้คำแนะนำและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์กับงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตจอมทอง และนางกนกนุช กลิ่นสังข์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตดอนเมือง
รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า แนวปฏิบัติกรณีเกิดเหตุไฟฟ้ารถยนต์พลังงานไฟฟ้า ขณะนี้สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้อบรมและฝึกเจ้าหน้าที่เพื่อป้องกันและเผชิญเหตุแล้ว ซึ่งจากสถิติเหตุเพลิงไหม้รถพลังงานไฟฟ้าพบว่าเพิ่มมากขึ้นจริง ถึงแม้สถิติเพลิงไหม้รถพลังงานไฟฟ้าจะน้อยกว่าเหตุเพลิงไหม้จากยานยนต์ประเภทอื่น แต่พบว่าต้องใช้ปริมาตรน้ำที่มากกว่าและดับยากกว่า ทำให้ต้องมีสารเคมีและวิธีการปฏิบัติที่แตกต่างกันออกไป
กทม.จึงได้ประชุมหารือร่วมกับค่ายผู้ผลิตรถยนต์และผู้เชี่ยวชาญ เกี่ยวกับแนวทางการกำกับมาตรฐาน กำหนดมาตรการความปลอดภัยจากการใช้รถแบตเตอรี่ไฟฟ้า และสถานีชาร์จไฟในพื้นที่กทม. ได้ข้อสรุปให้จัดตั้งคณะทำงาน 3 คณะ เพื่อดูแล 3 เรื่อง คือ คณะที่ 1 ดูแลเรื่องกฎหมาย มาตรฐาน ระเบียบ และแผนงานที่เกี่ยวข้อง คณะที่ 2 ดูแลด้านการเผชิญเหตุ อาทิ การกู้ภัยตามมาตรฐาน NFPA1600 การกู้ชีพตามมาตรฐานสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) การดูแลด้านทรัพยากรการกู้ภัย คณะที่ 3 ดูแลด้านข้อมูลและประชาสัมพันธ์ การนำเข้าข้อมูล Risk Map การประชาสัมพันธ์ในทุกเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน
ในส่วนของแผนปฏิบัติการเผชิญเหตุ กรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ยานยนต์ไฟฟ้า มีทั้งขั้นตอนก่อนเกิดเหตุ ได้แก่ การเตรียมพร้อม โดยจัดทำแผนปฏิบัติงานการกู้ภัยทางถนน มาตรฐานรถ วัสดุ อุปกรณ์ในการกู้ภัยทางถนน และภาคีเครือข่ายปฏิบัติการ และการป้องกัน โดยกำหนดจุดติดตั้งการเติมประจุไฟฟ้าที่ได้มาตรฐาน เหมาะสม และปลอดภัย การจัดเก็บฐานข้อมูลรถพลังงานไฟฟ้าจากภาคเอกชนและแนวทางปฏิบัตินำเข้าสู่ระบบการจัดเก็บฐานข้อมูล BKK Risk Map การรณรงค์ให้ความรู้ ข้อมูลและแนวทางปฏิบัติแก่ผู้ใช้ ขั้นตอนขณะเกิดเหตุ ได้แก่ การรับแจ้งเหตุ ผ่านสายด่วน 199 การจัดกำลังบุคลากรร่วมกับภาคีเครือข่าย และการจัดหารถกู้ภัย รถกู้ชีพ อุปกรณ์เครื่องมือสำหรับกู้ภัย การปฏิบัติการเมื่อเกิดเหตุ โดยประเมินสถานการณ์ วิเคราะห์การเข้าถึงและขั้นตอนหลังเกิดเหตุ เพื่อลดผลกระทบกับประชาชน สำหรับการกำจัดแบตเตอรี่ของรถยนต์พลังงานไฟฟ้านั้นกทม.อยู่ระหว่างการศึกษาและหาข้อมูลเกี่ยวกับการกำจัดแบตเตอรี่ด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม
นายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. กล่าวถึงแนวทางการดับเพลิงแบตเตอรี่รถพลังงานไฟฟ้า ว่า กทม.มีอุปกรณ์พร้อม และมีการอบรมเทคนิคในการดับเพลิงรถEV และบ้านเรือนที่ใช้โซล่าร์เซลล์ โดยผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ และสภาวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย โดยร่วมกันถอดบทเรียนจากที่เกิดเหตุเพื่อมานำมาแก้ไขจุดบกพร่อง ที่ผ่านมาพบว่ามีเหตุเพลิงไหม้บริษัทที่ใช้แบตเตอรี่ 2 แห่ง และสามารถดับเพลิงได้ดี แต่ใช้เวลานาน ซึ่งบทเรียนทั้งหมดนี้จะนำมาใช้เป็นหลักสูตรเพื่อทบทวนให้กับเจ้าหน้าที่ดับเพลิงในทุกปี นอกจากนี้สปภ.ยังอยู่ระหว่างการจัดหารถกู้ภัย จำนวน 15 คัน และรถยกเพื่อย้ายรถEV เพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงาน
————————