ปัจจุบัน กรุงเทพมหานคร (กทม.) เริ่มมีการพัฒนาเมืองเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจาก “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ได้รับตำแหน่งเข้ามาเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.)จากการเลือกตั้งของประชาชนแบบแลนสไลด์ในช่วงที่ผ่านมา
ล่าสุดภายใต้การบริหารงานของ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์”ได้รับตำแหน่งเข้ามาเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ขณะนี้กทม.ได้ดำเนินการตามนโยบายแล้ว 211 นโยบาย จากเดิมที่มี นโยบายที่หาเสียงอยู่ที่ 216 นโยบาย เพิ่มขึ้นเป็น 226 นโยบาย ซึ่งยังมี 11 นโยบายที่ยังไม่ได้ดำเนินการ ส่วนอีก 4 นโยบายที่ยุติการดำเนินการ
ในปี 2566 กทม.ได้จัดสรรงบประมาณกว่า 5,024 ล้านบาท เพื่อดำเนินการสู่โครงการเส้น เลือดฝอย แบ่งเป็น ปรับปรุงถนน ตรอก ซอย และสิ่งสาธารณ ประโยชน์ 4,435 ล้านบาท ขุดลอกคูคลอง 437 ล้านบาท ล้างทำความสะอาดท่อ 152 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีการจัดสรรงบประมาณ 200,000 บาทต่อชุมชนและจัดทำงบประมาณแบบ Zero Base Budgeting มีมูลค่างบประมาณมากกว่า 1,000 ล้านบาท
จากงบประมาณเฉลี่ยของ กทม. ในปี 2562-2566 แบ่งเป็น รายจ่ายประจำพื้นฐาน 46,847 ล้านบาท คิดเป็น 59% รายจ่ายประจำและรายจ่ายผูกพัน คิดเป็น 77% ของงบประมาณกทม. ประจำปี โครงการงบลงทุนนโยบายผู้บริหาร 18,555 ล้านบาท รายการผูกพัน 14,016 ล้านบาท คิดเป็น 18% คาดว่าในปี 67 จะมีรายการผูกพัน 18,959 ล้านบาท
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ปัจจุบันกทม.ได้เตรียมหารือรัฐบาลชุดใหม่เกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) สายสีเทา ช่วงวัชรพลทองหล่อ ระยะทาง 16.3 กิโล เมตร (กม.) วงเงิน 29,130 ล้านบาท และโครงการรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา (LRT-Light Rail Transit) สายสีเงิน ช่วงบางนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วงเงิน 48,380 ล้านบาท เบื้องต้นทั้ง 2 เส้นทางดังกล่าว มีแผนศึกษาที่จะดำเนินการให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP
“กทม.จะเสนอรัฐบาลใหม่เป็นผู้ลงทุนทางด้านนี้ เนื่อง จากผลการศึกษาพบว่า กทม.ต้องลงทุนด้านงานโยธาจำนวนมากประมาณ 60,000 ล้านบาท หากต้องนำงบประมาณ จำนวน 60,000 ล้านบาท มาลงทุน อาจจะกระทบกับภารกิจด้านอื่นของ กทม.ได้ โดยหน่วยงานที่เหมาะสมเข้ามารับผิดชอบดูแล คือ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)”
ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงบางหว้า – ตลิ่งชัน จากการศึกษาพบว่าโครงการฯ จะมีประชาชนมาใช้บริการ ประมาณ 35,000 คนต่อวัน ซึ่งยังไม่มาก เบื้องต้นจะหารือร่วมกับกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เจ้าของเขตทางที่จะดำเนินการก่อสร้างต่อไป
นอกจากนี้กทม.มีแผนทบทวนรถโดยสารด่วนพิเศษ สายสาทร-ราชพฤกษ์ (BRT) โดยสิทธิเดินรถของบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ในโครงการฯจะสิ้นสุดสัญญาวันที่ 31 สิงหาคม 2566 เบื้องต้นกทม.จะมีการปรับรูปแบบสถานี, เพิ่มความถี่การให้บริการบางช่วง, ปรับเป็นช่องจราจรร่วม, ปรับเป็นรถพลังงานไฟฟ้า ฯลฯ เพื่อลดต้นทุนและลดค่าบริหารจัดการ
“ที่ผ่านมาผู้โดยสารมีไม่มาก ขณะนี้ได้มอบหมายสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) พิจารณา หากจะดำเนินการต่อไป ต้องเพิ่มจำนวนรถในราคาไม่แพงมากนัก ทั้งนี้อาจจะพิจารณาให้เป็นรถโดยสารปกติ แต่มีการเพิ่มป้ายรถเมล์บริเวณสี่แยก เพื่อให้ผู้โดยสารมาใช้บริการมากขึ้น”
ส่วนการดำเนินการทบทวนรถโดยสารด่วนพิเศษ สายสาทร- ราชพฤกษ์ (BRT) ในครั้งนี้ ทาง กทม.จะจ้างเดินรถเพื่อไม่ให้ กระทบต่อประชาชน โดยจะเพิ่มประสิทธิภาพด้วยการลดความถี่บางช่วงของเส้นทาง เพื่อเพิ่มความถี่ในบางช่วงแทน คาดว่า จะเริ่มดำเนินการเดินรถรูปแบบใหม่ตามผลการศึกษาภายใน เดือนสิงหาคม 2567
รายงานข่าวจากกรุงเทพ มหานคร (กทม.) กล่าวว่า ขณะนี้กทม.ได้ดำเนินการก่อสร้างส่วนต่อขยายท่าเทียบเรือคลองแสนแสบ จำนวน 4 ท่า และก่อสร้างท่าเรือวัดป่าเชิงเลนคลองชักพระ จำนวน 1 ท่า คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2567 ทั้งนี้ กทม.ได้รับจัดสรรงบประมาณปี 2567 เพื่อพัฒนาและก่อสร้างท่าเรืออีก 7 แห่ง ประกอบด้วย 1. ท่าเรือราชินี 1 ท่า 2. ท่าเรือ ม.นวมินทร์ฯ 1 ท่า 3. ท่าเรือคลองพระขโนงคลองประเวศบุรีรมย์ 3 ท่า 4. ส่วนต่อขยายท่าเรือคลองแสนแสบ 2 ท่า นอกจากนี้ยังมีแผนเตรียมปรับ ปรุงท่าเรืออโศก เนื่องจากในปัจจุบันมีปริมาณประชาชนใช้บริการหนาแน่น ประมาณ 4,200 คนต่อวัน โดยตั้งเป้าจะพัฒนา ให้แล้วเสร็จภายในปี 2568
ปัจจุบันกทม.มีการให้บริการเรือไฟฟ้า ที่ช่วยลดต้นทุน 244 บาทต่อคน จากเดิมอยู่ที่ 401 บาทต่อคน ทั้งหมด 2 เส้นทาง ประกอบด้วย 1. เรือไฟฟ้าคลองผดุงกรุงเกษม มีผู้โดยสารเฉลี่ย 390 คนต่อวัน 2. เรือไฟฟ้าคลลองแสนแสบ ช่วงศรีบุญเรืองมีนบุรี มีผู้โดยสารเฉลี่ย 370 คนต่อวัน
“กทม.เตรียมพิจารณาเพิ่มรูปแบบการเดินเรือ เพิ่มเชื่อมต่อการเดินทางให้แก่ประชาชน เบื้องต้นกทม.อยู่ระหว่างการศึกษาการเดินเรือรูปแบบใหม่ โดยเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาเสนอแนวเส้นทางและระบบการบริหารจัดการเรืออย่างมีประสิทธิภาพในคลองที่สามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า, รถโดยสาร ฯลฯ รวมทั้งลักษณะทางกายภาพ คลอง และสาธารณูปโภค เช่น สะพาน, เขื่อนกันดิน และความคุ้มค่า”
สำหรับแผนผลักดันโครงการขนาดใหญ่ด้านคมนาคมของกทม.จำนวน 8 โครงการ รวมวงเงิน 99,932 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการขนาดใหญ่ที่สานต่อ จำนวน 6 โครงการ ประกอบด้วย 1. รถไฟฟ้าสายส่วนต่อขยายสีเขียว ช่วงบางหว้า-ตลิ่งชัน วงเงิน 14,804 ล้านบาท 2. รถไฟฟ้าสายสีเงิน ช่วงบางนา-สุวรรณภูมิ วงเงิน 48,380 ล้านบาท 3. โครง การรถไฟฟ้าสายสีเทา ช่วงวัชรพลทองหล่อ วงเงิน 29,130 ล้านบาท 4. โครงการก่อสร้างทางยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง วงเงิน 1,664 ล้านบาท 5. โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแยกเกียกกายช่วงที่ 2 วงเงิน 925 ล้านบาท 6. โครงการก่อสร้างปรับปรุงถนนรามคำแหง 24 และหัวหมาก วงเงิน 729 ล้านบาท และโครงการขนาดใหญ่ด้านคมนาคมที่เริ่มดำเนินการใหม่ จำนวน 2 โครงการ ประกอบด้วย 1. โครงการต่อเชื่อมพุทธมณฑลสาย 3 กับ 4 วงเงิน 1,300 ล้านบาท 2. โครงการก่อสร้างถนนเชื่อมถนนรัตนโกสินทร์สมโภชและถนนนิมิตใหม่ วงเงิน 3,000 ล้านบาท
คงต้องจับตาว่าโครงการขนาดใหญ่ของกทม.จะเดินไป ตามแผนหรือไม่
ที่มา: นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 29 มิ.ย. – 1 ก.ค. 2566