ช่วยลดภาระตร.-จ่อขยายเพิ่มอีก500จุดภายในปี69
กทม. – เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ที่โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เป็นประธานเปิดโครงการ Bangkok Area Traffic Control Project (BATCP) โดยมี นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. ตัวแทนจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือ ไจก้า และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
นายชัชชาติกล่าวว่า เป็นประวัติศาสตร์สำคัญในการปรับปรุงสภาพการจราจร ปัจจุบัน กทม. ติดตั้งระบบสัญญาณไฟจราจรอัตโนมัติ (Area Traffic Control) โดยนำร่อง จำนวน 13 แยก 4 ถนน ประกอบด้วย 1.ถนนพระราม6 2.ถนนราชวิถี 3.ถนนพหลโยธิน 4.ถนนประดิพัทธ์ และมีเป้าหมายติดตั้ง 500 จุดภายในปี 2569 เนื่องจากที่ผ่านมา มีการใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรเกือบ 1,000 คน ในการควบคุมสัญญาณไฟจราจร แบ่งเป็นผู้กดสัญญาณไฟทางแยกกว่า 500 คน ซึ่งการเชื่อมต่อข้อมูลสัญญาณไฟจราจรแต่ละทางแยกทำได้ไม่คล่องตัว การนำเทคโนโลยีมาช่วยจะทำให้การประเมินสัญญาณไฟจราจรมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยลดภาระของเจ้าหน้าที่ โดยในอนาคตอาจมีการเชื่อมต่อข้อมูลจราจรผ่านระบบมือถือ เพื่อให้ประชาชนสามารถวางแผนการเดินทางล่วงหน้าได้มากขึ้น
ทั้งนี้ เทคโนโลยีดังกล่าวทำหน้าที่เก็บข้อมูลต่างๆ เช่น ความหนาแน่นของรถบนถนน ระยะเวลารอสัญญาณไฟจราจร ความยาวขบวนแถวรถติด เพื่อเป็นข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรภายในศูนย์ควบคุมสัญญาณไฟจราจรตัดสินใจปล่อยสัญญาณไฟจราจรตามแยกต่างๆ ให้สอดคล้องกับสภาพการจราจรที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นๆ
ด้านนายวิศณุกล่าวว่า กทม. นำระบบ Area Traffic Control หรือกล้องมุมสูงตรวจนับปริมาณรถบนถนนระยะไกล มาติดตั้งตามสี่แยกต่างๆ พร้อมเชื่อมต่อกับสัญญาณไฟจราจร วัตถุประสงค์เพื่อให้การควบคุมจังหวะสัญญาณไฟจราจรแต่ละย่าน แต่ละทิศทาง มีความสัมพันธ์และสอดคล้องกับปริมาณการจราจรที่แท้จริง เทคโนโลยีนี้มีคุณสมบัติในการประมวลผล และสามารถสั่งการควบคุมสัญญาณไฟจราจรทางแยกจากส่วนกลางได้
ขณะเดียวกัน ยังติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับปริมาณรถติดถึงปลายแถว เพื่อนำค่ามาคำนวณให้สัมพันธ์กับจังหวะสัญญาณไฟจราจรทางแยกบนถนนสายหลัก ผ่านการสั่งการจากศูนย์ควบคุมกลางด้วยระบบอัตโนมัติ รวมถึงติดตั้งโปรแกรมประมวลผลปริมาณจราจรที่ผ่านทางแยก เพื่อนำไปเป็นข้อมูลในการตัดสินใจเปลี่ยนจังหวะสัญญาณไฟ
จากการติดตั้งเทคโนโลยีดังกล่าว พบว่า ช่วงจราจรไม่หนาแน่นทำให้รถวิ่งคล่องตัวขึ้น 30% ส่วนช่วงการจราจรหนาแน่นรถวิ่งคล่องตัวขึ้น 10% โดยในปริมาณการจราจรเท่ากัน ช่วยลดระยะแถวคอยของรถรอสัญญาณไฟจราจรได้ 30%
สำหรับการติดตั้งเทคโนโลยีครั้งนี้ กทม.ได้รับความร่วมมือจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือ ไจก้า เป็นหน่วยงานของรัฐบาลญี่ปุ่น คอยให้คำปรึกษาตลอดจนความช่วยเหลือด้านการพัฒนาประเทศอย่างเป็นทางการในนามของรัฐบาลญี่ปุ่นแก่ประเทศกำลังพัฒนา ทั้งการพัฒนาในด้านเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงส่งเสริมการยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศ
ก่อนหน้านี้ กทม.เริ่มทดลองโครงการนำระบบกล้องปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) มาตรวจจับผู้ขับขี่ที่ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร และเก็บข้อมูลด้านการจราจร จำนวน 20 ทางแยก ได้แก่ 1.วงศ์สว่าง 2.ห้วยขวาง (ถนนรัชดาภิเษกถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ) 3.สวนรื่นฤดี (ถนนสุโขทัย-ถนนราชสีมา) 4.แยกนิด้า 5.สี่แยกการเคหะ (แยกที่ดิน) 6.แยกศรีอยุธยา(ถนนพระราม 6-ถนนศรีอยุธยา) 7.แยกราชวัตร(ถนนพระราม 5-ถนนนครไชยศรี) 8.รามคำแหง 9.เจ้าคุณทหาร 10.ราชประสงค์ (ถนนราชดำริ-ถนนพระราม 1)
11.ศาลาแดง (ถนนพระราม4-ถนนสีลม) 12.อังรีดูนังต์ (ถนนพระราม4-ถนนอังรีดูนังต์) 13.รัชโยธิน 14.แยกผังเมือง 15.อรุณอมรินทร์ (ถนนปํนเกล้า-ถนนอรุณอมรินทร์ ) 16.สะแกงาม 17.พระราม 9 18.วังเดิม (ถนนวังเดิม-ถนนอรุณอมรินทร์) 19.บุคคโล และ20.ท่าดินแดง (ถนนสมเด็จเจ้าพระยา-ถนนท่าดินแดง)
ที่มา: นสพ.ข่าวสด ฉบับวันที่ 27 มิ.ย. 2566