(27 มิ.ย.66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมเปิดงานการประชุมเสวนา Bangkok as Regional Headquarters Symposium ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า วันนี้เป็นสำคัญวันหนึ่งของกรุงเทพมหานคร เป็นครั้งแรกที่ได้จัดการเสวนาเพื่อพูดคุยกับนักลงทุนที่จะมาเปิดสำนักงานสาขาที่กรุงเทพมหานคร บางครั้งเมื่อพูดถึงกทม. บางคนอาจนึกถึงเรื่องมลภาวะ ขยะหรือรถติด แต่หัวใจที่สำคัญที่สุดของเมืองคือเรื่องเศรษฐกิจ เชื่อว่าเมืองคือตลาดแรงงาน เมืองจะมีคุณภาพได้ก็ต้องมีการลงทุนที่มีคุณภาพ มีคนเก่งอยู่ในเมือง สร้างงานและทำให้เกิดการจ้างงาน ต้องขอขอบคุณทางประเทศญี่ปุ่นเพราะเราเหมือนมิตรแท้ที่อยู่กันมาอย่างยาวนานรวมถึงบริษัทญี่ปุ่นอื่นๆ อีกจำนวนมากที่ลงทุนอยู่ในประเทศไทย ในอนาคตหน้าที่หลักของเมืองนอกจากจะต้องดึงคนเก่งมาที่อยู่ในเมือง ดูแลเรื่องความสะอาดหรือรถติดแล้ว ต้องดูแลผู้ที่มาลงทุนอย่างเหมาะสมด้วย กทม. พร้อมจะเป็นผู้ที่อำนวยความสะดวกให้แก่เพื่อนนักทุนชาวต่างชาติ และจะมีมาตรการช่วยเพื่อส่งเสริมการทำธุรกิจในกทม. ให้เป็นไปด้วยดี
“ผมเชื่อว่านักลงทุนทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพมหานครที่จะร่วมกันสร้างงาน สร้างเศรษฐกิจ และกรุงเทพมหานครจะพยามยามปรับปรุงสิ่งต่างๆ เพื่อให้การทำงานเกิดความสะดวกและมีประสิทธิภาพสูงสุด” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวในช่วงท้าย
ผศ.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้เป็นโอกาสที่ดีที่จะได้นำเสนอนโยบายใหม่ๆ ของกรุงเทพมหานคร ต้องบอกว่าวันนี้กรุงเทพฯพร้อมแล้วที่จะเป็นทางเลือกเพื่อเป็น Regional Headquarters สำหรับบริษัทที่จะขยายธุรกิจ ซึ่งกรุงเทพฯ มีความพร้อมในแง่ทั้งตลาดใหญ่ และการออกกฎหมายของทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (The Board of Investment of Thailand : BOI) เพื่อทำให้บริษัทมีความสามารถในการแข่งขันและต้นทุนไม่สูง สิ่งสำคัญอีกอย่างคือเรื่องคุณภาพชีวิตของกทม. ไม่แพ้ชาติใด ซึ่งวันนี้ถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีในการที่ได้ร่วมจัดการเสวนาในวันนี้
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวต่อไปว่า ตัวอย่างจุดแข็งของกทม. เช่น ค่าครองชีพซึ่งไม่สูงเมื่อเทียบกับเมืองหลวงในชาติอื่นๆ ยกตัวอย่างบริษัท Agoda ที่ไม่ได้มี Headquarters อยู่ในกทม. แต่พนักงานทั้งหมดอยู่ในกทม.เกือบ 3,000 คน ซึ่งการจ้างงานนี้ก็ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียน จะเห็นว่ากทม. ก็ต้องอำนวยความสะดวกและหาความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นทั้ง BOI กรมสรรพากร หรือกระทรวงการต่างประเทศเกี่ยวกับการให้ Visa ซึ่งในอนาคตกทม. จะจัดตั้งศูนย์ลักษณะ One Stop Service ขึ้นมาเพื่อช่วยดูแลนักลงทุนหรือชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในกทม. เพื่อการใช้ชีวิตที่ง่ายขึ้น
สำหรับการจัดงานเสวนาในครั้งนี้มี ผศ.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวบรรยายเชิงนโยบายดึงดูดการลงทุนในกรุงเทพมหานคร คุณอนิณ เมฆสุขใส ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการพิเศษโครงการเชิงยุทธศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (The Board of Investment of Thailand : BOI) กล่าวบรรยายเชิงนโยบายและสิทธิประโยชน์ในการเปิดสำนักงานภูมิภาค และคุณโมริ เคนทาโร่ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารจัดการธุรกิจธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวบรรยายเรื่องปัจจัยในการเปิดสำนักงานภูมิภาค
สำหรับการประชุมเสวนา “Bangkok as Regional Headquarters symposium” กำหนดจัดขึ้น เพื่อร่วมผลักดันให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องในการจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคให้แก่เหล่าบรรดานักลงทุนจากญี่ปุ่นซึ่งกรุงเทพมหานครได้รับการสนับสนุนความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (The Board of Investment of Thailand : BOI) และองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น Japan External Trade Organization (JETRO Bangkok) รวมทั้งเพื่อจะได้นำเสนอจุดเด่นซึ่งเป็นปัจจัยด้านบวกที่จะส่งเสริมและดึงดูดบริษัทต่างชาติในการพิจารณาเป็นข้อได้เปรียบในการตัดสินใจเลือกลงทุนและมาจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคเพื่อดำเนินทางธุรกิจ อีกทั้งได้รับทราบถึงประเด็นที่เป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้อง “The Policies of BMA to Attract Foreign Companies”เพื่อผลักดันภารกิจให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและการลงทุนในเขตพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร ตลอดจนเพื่อเพิ่มโอกาส และมูลค่าการลงทุนอันจะนำไปสู่ประโยชน์ด้านเศรษฐกิจร่วมระหว่างไทยและญี่ปุ่นอย่างยั่งยืนต่อไป
กรุงเทพมหานคร มุ่งหวังจะเป็นหมุดหมายสำคัญในภูมิภาคย่าน Southeast Asia ที่จะนำเสนอศักยภาพของเมืองกรุงเทพฯ ให้กลายเป็นเมืองที่ชาวต่างชาติ ตลอดจนบริษัทธุรกิจเอกชน บริษัทข้ามชาติ หรือ MNCs นั้น ให้ความสนใจเปิดสำนักงานภูมิภาคในประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพฯ นั้น ถือเป็นเมืองมหานครชั้นนำแห่งหนึ่งของโลกที่มีการเปิดประเทศต้อนรับให้แก่เหล่าบรรดานักลงทุนจากนานาประเทศมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างขนานใหญ่ โดยในปัจจุบันนอกเหนือไปจากปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ของไทยที่ถือเป็นศูนย์กลางในทุก ๆ ด้านที่สำคัญแล้ว ในด้านการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่งโลจิสติกส์และซัพพลายเชนแล้ว ในด้านการลงทุนไทยยังมี Mega Projects อันเป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณลงทุนตามโครงการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งต่างเป็นแรงจูงใจและการมุ่งหวังร่วมกันของคนในประเทศที่จะสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจ และเพื่อให้เกิดการกระตุ้นพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย สามารถส่งผ่านกลไกขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อนำไปสู่กลุ่มของประเทศที่มีรายได้สูงในอนาคตโดยเร็วที่สุด