(26 มิ.ย. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 14/2566 ณ ห้องนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อที่ประชุมว่า ในระยะ 1 ปีที่ผ่านมา ต้องขอขอบคุณผู้บริหารทุกท่านที่ร่วมดำเนินการตามนโยบายเป็นอย่างดี ในส่วนของปีหน้าให้เริ่มทำตั้งแต่ตอนนี้และตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน โดยสำนักงานเขตให้ดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ พัฒนาถนนสวย ปลูกต้นไม้ สวน 15 นาที ปรับปรุงทางเท้า ติดตั้ง/ซ่อมไฟ จัดระเบียบพื้นที่หาบเร่ พัฒนา Hawker Center ดูแลจุดน้ำท่วม ดูแลจุดจราจรฝืด ปรับปรุงจุดเสี่ยง ปรับปรุงทางริมคลอง พัฒนาลานกีฬา/บ้านหนังสือ/ศูนย์พัฒนาเด็กฯ/โรงเรียน ส่วนภาพรวมของ กทม. จากนี้ไปจะมีการพัฒนา Traffy Fondue เป็น Traffy Fondue Plus นำเทคโนโลยีมาใช้ในเรื่องต่าง ๆ ให้มากขึ้น จัดการจราจรด้วย AI ปรับปรุงทางเท้า แสงสว่าง การปรับปรุงพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ชั้นใน ปรับปรุงข้อบัญญัติต่าง ๆ ให้สอดคล้องบริบทปัจจุบัน เป็นต้น
สำหรับที่ประชุมได้มีการรายงานความคืบหน้าเรื่องต่าง ๆ อาทิ การแก้ไขปัญหาไฟฟ้าดับริมถนนและริมคลอง โดยได้มีการจัดทำแอปฯ สำรวจไฟฟ้าแสงสว่าง BMA STREET LIGHT ซึ่งขณะนี้มีรายงานข้อมูลสำรวจมาแล้ว 50 เขต อยู่ระหว่างดำเนินการนำเข้าข้อมูลให้ครบถ้วน ความคืบหน้าการเปลี่ยนโคมไฟฟ้า LED พร้อมระบบติดตามการทำงาน (Internet of Things: IoT) ถนนสายหลักและสายรอง จำนวน 51 เส้นทาง ดำเนินการติดตั้งไปแล้ว 4,390 โคม จาก 5,000 โคม คิดเป็น 85% ความคืบหน้าการเปลี่ยนโคมไฟฟ้า LED พร้อมระบบ IoT ถนนและซอยในพื้นที่สำนักงานเขต ดำเนินการติดตั้งไปแล้ว 11,000 โคม จาก 20,000 โคม คิดเป็น 55% กำหนดงานเสร็จสิ้นช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2566 ในส่วนของข้อมูลสำรวจไฟฟ้าแสงสว่างริมคลอง มีโคมไฟทั้งหมด 12,892 โคม เป็นโคมไฟเอกชน 87 โคม ใช้งานได้ 9,873 โคม ชำรุด 2,932 โคม ดำเนินการซ่อมแล้ว 517 โคม และอยู่ระหว่างดำเนินการซ่อม 2,415 โคม
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รายงานถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับการปรับปรุงลานกีฬาของกรุงเทพมหานคร และศูนย์กีฬาเบญจกิติ เขตคลองเตย โดยในการปรับปรุงลานกีฬานั้นจะดำเนินการนำร่องลานกีฬา 12 แห่ง แบ่งเป็น 3 ส่วน ดังนี้ ส่วนที่ 1. รับ CSR จากภาคเอกชน (ONTRACK) 3 แห่ง ได้แก่ 1. ลานกีฬามหานครปลอดยาเสพติด เขตบางรัก 2. ลานกีฬาพญาไท (สวนพญาไทภิรมย์) เขตพญาไท 3. ลานกีฬารวมน้ำใจพระราม 3 เขตธนบุรี ส่วนที่ 2 สร้างโมเดลในการพัฒนาสู่ลานกีฬาอื่น ๆ 8 แห่ง ได้แก่ การใช้โมเดลการจัดแข่งขันประกวดออกแบบลานกีฬา (สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์) จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ 1. ลานกีฬาชุมชนร่มเย็น เขตบางแค 2. ลานกีฬาโครงการบ้านเอื้ออาทรบึงกุ่ม เขตบึงกุ่ม 3. ลานกีฬาชุมชนหมู่บ้านไพรฑูรย์นิเวศ เขตจตุจักร 4. ลานกีฬาชุมชนบุปผาสวรรค์ เขตบางกอกน้อย 5. ลานกีฬาชุมชนพัชรัฐ เขตบางเขน 6. ลานกีฬาเคหะฉลองกรุงโซน 5 เขตหนองจอก และการใช้โมเดลการทำประชาพิจารณ์ก่อนการออกแบบลานกีฬา (WE!PARK) จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1. ลานกีฬาโรงเรียนกุหลาบวิทยา ดำเนินการปรับปรุงเรียบร้อยแล้ว 2. ลานกีฬาชุมชนน้องใหม่ รอการพัฒนาในลำดับถัดไป และส่วนที่ 3 ใช้งบประมาณของกรุงเทพมหานครปรับปรุง 1 แห่ง ได้แก่ ลานกีฬาหมู่บ้าน เอส.เค เขตบางบอน ซึ่งดำเนินการปรับปรุงเรียบร้อยแล้ว โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้กำชับให้มีการดูเรื่องระบบการจองคิวเล่นหรือใช้อุปกรณ์ออกกำลังกายให้ดี ให้ทุกคนได้ใช้หรือเล่นได้อย่างทั่วถึงเท่าเทียมกันและเป็นระบบ
ส่วนการปรับปรุงศูนย์กีฬาเบญจกิติ เขตคลองเตย เป็นการเพิ่มศูนย์กีฬาแห่งใหม่ใจกลางกรุงเทพฯ ด้วยการปรับปรุงโกดังเก่าของโรงงานยาสูบที่อยูบริเวณสวนเบญจกิติ ปัจจุบันมีการเปิดให้บริการได้ในบางชนิดกีฬาแล้ว เช่น บาสเกตบอล แบดมินตัน แทคบอล พิคเคิลบอล และในอนาคตจะทยอยเปิดให้มีพื้นที่สำหรับการเล่นกีฬาประเภทอื่นเพิ่มเติม อาทิ ฟุตซอล เทเบิลเทนนิส เอ็กซ์ตรีม เรือเป็ด เรือคยัค ต่อไป
————————— (พัทธนันท์/มุทิตา…สปส. รายงาน)