‘ผู้ว่าฯ ชัชชาติ’ ถกคณะกรรมการพลิกโฉมศาลาว่าการ กทม.และลานคนเมืองครั้งแรก มอบโจทย์ศึกษาให้ละเอียดรอบคอบและเป็นรูปธรรม ย้ำแนวคิด ‘พิพิธภัณฑ์เมือง’ ต้องมุ่งยกระดับเมือง กระตุ้นเศรษฐกิจพร้อมคืนชีวิตชีวาให้คนกรุงเทพฯ
(10 พ.ย.65) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการศาลาว่าการกรุงเทพมหานครและลานคนเมือง สู่พิพิธภัณฑ์เมืองกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2565 ณ ห้องประชุม ชั้น 19 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัจจุบันศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร มีอยู่ 2 แห่ง คือ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้ากับที่ดินแดง การติดต่อราชการอาจจะลำบาก รวมไปถึงปัญหาด้านการจราจร จึงมีแนวคิดที่จะย้ายศาลาว่าการกรุงเทพมหานครจากเสาชิงช้ามาอยู่ที่ดินแดงทั้งหมด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พื้นที่และเพื่อความสะดวกในการเป็นศูนย์รวมการติดต่อราชการของพี่น้องประชาชน
สำหรับอาคารศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า สร้างมาตั้งแต่ปี 2499 เป็นระยะเวลา 60 กว่าปีแล้ว ตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพชั้นใน สมัยก่อนถือว่าเป็นสะดือกรุงเทพฯ เป็นแหล่งรวมของแต่ละย่านในพื้นที่รัตนโกสินทร์ชั้นใน จึงมีการเสนอแนวคิดแรกที่จะทำพิพิธภัณฑ์ ซึ่งต่อมาได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุด เพื่อพิจารณาเรื่องนี้ โดย ชุดที่ 1 เป็นคณะกรรมการบริหารจัดการในการย้ายหน่วยงาน/ส่วนราชการภายในศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า ไปศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง โดยมีรองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ ผิวงาม เป็นประธานกรรมการฯ เพื่อดูข้อกำหนดในการย้าย โดยเฉพาะศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า มีหน่วยงานอยู่ 8 แห่ง ข้าราชการและบุคลากรประมาณ 2,500 คน จึงต้องพิจารณาโดยละเอียดว่าจะปรับเปลี่ยนอย่างไร จะต้องทำอะไรเพิ่มเติมเป็นการภายใน รวมไปถึงใช้เวลาเตรียมความพร้อมแค่ไหน เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่สามารถทำได้ภายในพรุ่งนี้หรือมะรืนนี้ได้
ส่วนชุดที่ 2 เป็นคณะกรรมการบริหารจัดการศาลาว่าการกรุงเทพมหานครและลานคนเมือง สู่พิพิธภัณฑ์เมืองกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้เชิญคนนอกเข้ามาศึกษาว่าพื้นที่นี้สามารถทำอะไรได้บ้าง เพื่อให้เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย รวมไปถึงพิจารณาผลกระทบต่อชุมชนบริเวณนี้ด้วย เพราะที่ผ่านมาบริเวณนี้เป็นแหล่งเศรษฐกิจสำคัญ ร้านค้าโดยรอบจะมีข้าราชการและบุคลากรไปจับจ่ายใช้สอย หากมีการทำเป็นพิพิธภัณฑ์แล้วจะมีผลกระทบหรือไม่ แต่จากการพูดคุยก็ได้ข้อสรุปที่สำคัญ คือทุกคนเห็นว่ากรุงเทพมหานครควรจะมีเมืองที่เป็นแหล่งเรียนรู้หรือพิพิธภัณฑ์ของเมือง อย่างเช่น ภูเก็ตและเชียงใหม่
“ถามว่าพวกเราฝันมากไปหรือเปล่า ก็ต้องฝันให้ไกลและต้องไปให้ถึง ภายใน 1 เดือนก็จะมาประชุมหารือร่วมกันอีกครั้ง และอาจต้องศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้กำหนดไว้ 2 ปี ต้องทำให้รอบคอบและเป็นรูปธรรม แต่หากคณะกรรมการเห็นว่าไม่เหมาะสมก็จะไม่ทำ” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องที่คณะกรรมการได้ถกแถลงกันเกือบ 2 ชั่วโมงในวันนี้ มีอยู่ 4 อย่าง เรื่องแรกคืออยากให้เป็นศูนย์กลางของความเป็นคนเมือง ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องพิพิธภัณฑ์เท่านั้น แต่ความเป็นคนเมืองจะต้องผนวกอยู่ในพิพิธภัณฑ์นี้ว่าเราเริ่มจากอดีต ปัจจุบันและทิศทางของเมืองในอนาคตจะเป็นอย่างไร เป็นรูปแบบที่กว้าง ไม่ใช่พิพิธภัณฑ์ในรูปแบบเก่า เรื่องที่ 2 การทำให้เกิดการฟื้นฟูสภาพเมืองชั้นในให้มีความคึกคัก โดยเชื่อมโยงกับหลายพื้นที่มากขึ้น ตั้งแต่ราชดำเนินกลางที่มีหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ โลหะประสาท ภูเขาทอง วัดสุทัศน์ เชื่อมโยงไปยังเยาวราช ศาลหลักเมือง พระบรมมหาราชวัง และสนามหลวง ซึ่งพื้นที่ตรงนี้จะเป็นศูนย์กลางทำให้เกิดการฟื้นฟูสภาพการตื่นตัว โดยเชื่อมโยงกันกับบริบทที่มีอยู่แล้ว เรื่องที่ 3 หากมีการลงมือทำก็จะต้องเป็นหมุดหมายสำคัญในการดึงดูดผู้คนให้มาเยี่ยมชมด้วยความมีชีวิตชีวา หากมากรุงเทพฯ ก็ต้องมาเช็คอินที่นี่ เรื่องที่ 4 ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ มีพื้นที่ให้คนทุกเพศทุกวัยเข้ามามีกิจกรรมร่วมกันได้ ตามนโยบายที่จะทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคนและมีชีวิตของคนเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย เป็นหมุดหมายใหม่ของเมืองที่มีชีวิตและสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้พี่น้องประชาชนได้
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)