(4 มิ.ย.66) เวลา 15.00 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ร่วมงาน “Bangkok Pride Parade 2023” โดยตั้งแต่เวลา 14.30 น. ขบวนเริ่มเดินจากหน้าหอศิลปวัฒนธรรม ฯ (BACC) บริเวณแยกปทุมวัน ถนนพระราม 1 ฝั่งสยามพิวรรธน์ ไปจนถึงแยกราชประสงค์ บริเวณลานเซ็นทรัลเวิลด์
” หัวใจของงานนี้คือความเข้าใจซึ่งกันและกัน ถ้าเราเข้าใจความรู้สึกของคนอื่นเราจะอยู่ด้วยกันอยากมีความสุขมากขึ้น โดยเริ่มจากเรื่องเพศ แนวความคิด ความพิการ นั่นคือสิ่งสำคัญของเมือง เราควรปลูกฝังความคิดเรื่องความเท่าเทียมกันให้เป็นวัฒนธรรมอยู่ในหัวใจทุกๆ วัน ไม่ทำแค่วันนี้วันเดียว นอกจากนี้ กทม.จะสร้างเป็นวัฒนธรรมองค์กร ในเรื่องความเท่าเทียมกันเรื่องการแต่งกาย มีคลินิกดูแลสุขภาพและจะไม่มีการเหยียดกันเรื่องเพศในที่ทำงาน สนับสนุนเรื่องการแต่งกายตามเพศสภาพอย่างอิสระ เนื่องจาก กทม. วัดการทำงานที่ความสามารถ เรื่องเพศสภาพจึงไม่เกี่ยวกับการแข่งขันในการพิจารณาเรื่องผลงาน นอกจากนี้ กทม. พร้อมที่จะร่วมงานกับรัฐบาลใหม่ เพื่อผลักดันกฎหมายด้านการส่งเสริมเรื่องความเท่าเทียมกันให้มากขึ้น” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวก่อนขึ้นเวทีเปิดงาน ณ ลานหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์
บริษัท นฤมิตไพรด์ จำกัด จับมือ กรุงเทพมหานคร พร้อมองค์กรสิทธิเพศหลากหลายกว่า 30 องค์กร จัดงาน “บางกอกไพรด์ 2023 (Bangkok Pride 2023)” เพื่อสร้างการยอมรับความหลากหลายทางเพศในสังคมไทยและพื้นที่สร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมสำหรับชุมชน LGBTQIAN+ ภายใต้แนวคิด “Beyond Gender ประเด็นความไม่เท่าเทียมทางเพศใดที่คุณอยากก้าวข้าม” โดยปิดถนนเดินขบวนอย่างสร้างสรรค์ทั้งสิ้น 6 ขบวน จากแนวคิด “สุขภาวะของผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+ well-being)” การมีสุขภาวะที่ดีสำคัญต่อคุณภาพชีวิต เริ่มตั้งแต่บริเวณแยกปทุมวัน ถนนพระราม 1 ฝั่งสยามพิวรรธน์ จนถึงแยกราชประสงค์ บริเวณลานเซ็นทรัลเวิลด์
ในส่วนของกรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นำคณะผู้บริหาร ทูตสื่อสาร กทม.และทีมงานศูนย์สร้างสุขทุกวัย สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ร่วมในขบวนที่ 6 Security (ความปลอดภัย) โดยขบวนนี้บอกเล่าถึง I’m Home โดยมีแนวคิดหลักเพื่อการยืนยันถึงสิทธิในการที่มีความปลอดภัยในชีวิตของ LGBTQIAN+ ผ่านการสนับสนุนและอำนวยความสงบปลอดภัยจากทุกภาคส่วน รวมถึงเสรีภาพในการแสวงหาความสงบสุขทางจิตวิญญาณของแต่ละบุคคล และรณรงค์ให้มีการเปิดกว้างทางศาสนาสำหรับทุกเพศ
สำหรับการจัดงานในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมงานมากมาย อาทิ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล, แพรทองธาร ชินวัตร พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลจากพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยชาว LGBTQIAN+ นับหมื่นคน และศิลปิน ดารามากมาย อาทิ เกรซ-กาญจน์เกล้า ด้วยเศียรเกล้า, มดดำ-คชาภา ตันเจริญ , เขื่อน-ภัทรดนัย เสตสุวรรณ, ทราย- อินทิรา เจริญปุระ, ป๋อมแป๋ม-นิติ ชัยชิตาทร, เก่ง-ธชย ประทุมวรรณ, เปิ้ล-ไอริณ ศรีแกล้ว, ต้น-ธนษิต จตุรภุช , Miss Grand Thailand นำโดย ฟ้า-อิงฟ้า วราหะ, ชาล็อต ออสติน และ อุ้ม-ทวีพร พริ้งจำรัส, หลิน-มชณต สุวรรณมาศ, นัท-ณัฏฐ์ กิจจริต, นุชชี่-อนุชา บุญยวรรธนะ, กอล์ฟ-ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์, คุณชายอดัม หม่อมราชวงศ์เฉลิมชาตรี ยุคล , เอม ภูมิภัทร ถาวรศิริ, รวมถึง Influencer หมอแล็บแพนด้า, เบ๊น อาปาเช่, กัน จอมพลัง, สิตางค์, หญิงลี, กลุ่ม Powerpuff Gay , เปอโชต์ และ ปันปัน Drag Race ที่มาร่วมสร้างสีสันในงาน ภายใต้มาตรการรักษาความปลอดภัย
กทม.ส่ง “ทูตสื่อสารกทม.” 7 คน ร่วมงาน “Bangkok Pride 2023” พร้อมตะโกนก้องว่า “กทม.สนับสนุนความหลากหลายทางเพศ” ในทุกมิติของหน่วยงาน
ในโอกาสนี้ กรุงเทพมหานครได้ส่งตัวแทนทูตสื่อสาร กทม. (BMA PR Ambassador) จำนวน 7 คน เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อประชาสัมพันธ์ความเป็นเมืองน่าอยู่ของกรุงเทพมหานคร ที่มีนโยบายเปิดกว้างสำหรับทุกคน พร้อมเข้าใจความแตกต่างถือพลังที่มีคุณค่าไม่ใช่ความขัดแย้ง และไม่ใช่แค่ความแตกต่างหลากหลายทางเพศเท่านั้น ทั้งความคิด พื้นฐานชีวิต สำหรับเพศไม่ได้มีแค่ 2 สี 2 เฉด แต่เพศคือสเปคตรัมที่มีเฉดสีมากมาย และในที่ทำงานของกรุงเทพมหานครยังได้เปิดกว้างให้ข้าราชการและบุคลากรทุกสายอาชีพ สามารถแต่งกายได้ตามเพศสภาพ โดยให้ความสำคัญที่คุณค่าความเป็นมนุษย์และผลของงานมากกว่าเพศ
กทม.พร้อมที่จะเดินไปด้วยกันกับทุกคนด้วยการสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ ประกอบด้วย 1. เรื่องสังคม โดยส่งเสียงเรื่องความเท่าเทียม ความหลากหลาย รณรงค์ส่งเสริม รวมถึงการแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง 2. เรื่องเศรษฐกิจ เพราะชาว LGBTQIAN+ นั้นร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น ท่องเที่ยว ภาพยนตร์ ดนตรี บันเทิง รวมไปถึงอุตสาหกรรมการแพทย์ ซึ่งกรุงเทพมหานครยินดีและพร้อมที่จะร่วมมือและสนับสนุน 3. เรื่องสาธารณสุข กทม.ร่วมมือกับเครือข่ายต่าง ๆ อาทิ คลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย (BKK Pride Clinic) โดยได้ดำเนินการนำร่องจัดตั้ง “คลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย กรุงเทพมหานคร” (BKK Pride Clinic) ในโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ กทม. เฟสแรกตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ และโรงพยาบาลสิรินธร และตั้งเป้าให้ครบทั้ง 11 โรงพยาบาลในสังกัด ในส่วนของศูนย์บริการสาธารณสุข สังกัดสำนักอนามัย กทม. มีแผนจะนำร่องเปิดให้บริการใน 16 แห่ง โดยเฟสแรกเปิดแล้ว 2 แห่ง ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข 21 วัดธาตุทอง เขตวัฒนา และศูนย์บริการสาธารณสุข 28 กรุงธนบุรี เขตคลองสาน พร้อมเตรียมเปิดเฟสที่สองเพิ่มเติมอีก 4 แห่ง ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข 3 บางซื่อ เขตบางซื่อ ศูนย์บริการสาธารณสุข 25 ห้วยขวาง เขตห้วยขวาง ศูนย์บริการสาธารณสุข 43 มีนบุรี เขตมีนบุรี และศูนย์บริการสาธารณสุข 48 นาควัชระอุทิศ เขตหนองแขม
#ปลอดภัยดี #สุขภาพดี #สร้างสรรค์ดี #เศรษฐกิจดี
#bangkokpride2023 #ทูตสื่อสารกทม.
—————–