กทม. ติดตามสถานการณ์-เฝ้าระวังการแพร่ระบาดเชื้อโนโรไวรัสใกล้ชิด

นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวถึงมาตรการเชิงรุกของ กทม. ในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโนโรไวรัส (Norovirus) ว่า สนพ. มีระบบเฝ้าระวังตรวจสอบข่าวการระบาดของโรคอาหารเป็นพิษจากเชื้อโนโรไวรัสอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถป้องกันได้ด้วยการยึดหลัก “กินร้อน ใช้ช้อนกลาง หมั่นล้างมือ” โดยล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาด ล้างให้นานไม่น้อยกว่า 15 วินาที ก่อนรับประทานอาหาร ก่อนใช้มือหยิบอาหาร หรือหลังหยิบจับสิ่งของ หรือสิ่งสกปรกต่าง ๆ รับประทานอาหารที่ร้อนและปรุงสุกใหม่ ล้างผักและผลไม้ให้สะอาด ใช้ช้อนกลางเสมอ ดื่มน้ำสะอาด ภาชนะที่ใช้ในการกินและดื่มต้องสะอาด หากเด็กมีอาการติดเชื้อท้องเสียพ่อแม่ควรงดให้ลูกไปโรงเรียน ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการทำอาหารให้ผู้อื่นรับประทาน รักษาให้หายดีก่อน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส ทั้งนี้ ประชาชนสามารถเข้ารับคำปรึกษาได้ผ่านระบบพบแพทย์ทาง Telemedicine แอปพลิเคชัน “หมอ กทม.” เพื่อตรวจวินิจฉัยอาการได้อย่างรวดเร็ว หรือหากต้องการปรึกษาเรื่องสุขภาพ สามารถ โทร. 1646 สายด่วนสุขภาพ สนพ. ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง

สำหรับโรคติดเชื้อโนโรไวรัส (Norovirus) และโรต้าไวรัส (Rotavirus) เป็นสาเหตุของโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน อาการและลักษณะอุจจาระไม่ได้มีลักษณะจำเพาะ จึงต้องอาศัยการตรวจอุจจาระทางห้องปฏิบัติการ เพื่อแยกจากการติดเชื้อก่อโรคอุจจาระร่วงอื่น ๆ การติดต่อเกิดจากการได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ปากโดยตรง โดยเชื้ออาจปนเปื้อนมากับมือ สิ่งของ เครื่องใช้หรือของเล่นต่างๆ รวมทั้งอาหารและน้ำ โดยเฉพาะอาหารที่ปรุงไม่สุก เช่น หอย ผักผลไม้สดที่ล้างไม่สะอาด รวมทั้งสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง สัมผัสกับสิ่งของที่มีเชื้อแล้วนำนิ้วเข้าปาก โดยเฉพาะในเด็ก จึงสามารถเกิดการระบาดได้ง่ายในกลุ่มเด็กตามโรงเรียน ส่วนผู้ใหญ่มักไม่แสดงอาการ บางคนอาจมีอาการเพียงเล็กน้อย เด็กเล็กที่ภูมิคุ้มกันต่ำกว่าปกติ อาจมีอุจจาระร่วงเรื้อรังนานนับเดือน ทั้งนี้ โดยปกติผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นและหายได้เองภายใน 2-3 วัน แต่ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงโดยเฉพาะในเด็กเล็ก หรือผู้สูงอายุอาจก่อให้เกิดการขาดน้ำได้ ดังนั้น ควรดื่มน้ำเกลือแร่ โออาร์เอส เพื่อทดแทนการเสียน้ำและเกลือแร่ หากรักษาเบื้องต้นแล้วยังไม่ดีขึ้น ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อให้การรักษาอย่างใกล้ชิดทันที ปัจจุบันยังไม่มียาเฉพาะในการกำจัดเชื้อไวรัสนี้ จะรักษาตามอาการ และยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อโนโรไวรัส

นางภาวิณี รุ่งทนต์กิจ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวว่า สนอ. ได้ติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโนโรไวรัส (Norovirus) ในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างใกล้ชิด ซึ่งศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ทั้ง 69 แห่ง ได้จัดเตรียมยา เวชภัณฑ์ในการให้บริการอย่างเพียงพอ รวมทั้งจัดเตรียมทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) เพื่อสอบสวนและควบคุมโรคกรณีเกิดการระบาดของโรค ประสานอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) ให้เฝ้าระวังและแจ้งเหตุกรณีพบผู้ป่วยในพื้นที่ โดยให้ประสานศูนย์บริการสาธารณสุข เพื่อดำเนินการป้องกัน ควบคุมโรค พร้อมประสานสำนักงานเขต สำนักการศึกษา สำนักพัฒนาสังคม รณรงค์ประชาสัมพันธ์ส่งเสริมความรู้ให้กับบุคลากรของสถานศึกษา และประชาชนให้สร้างความตระหนัก ให้ป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากการเจ็บป่วยจากเชื้อโนโรไวรัส รวมถึงประชาสัมพันธ์เน้นย้ำมาตรการป้องกันโรค ด้วยการล้างมือก่อนและหลังรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง รับประทานอาหารที่ปรุกสุกใหม่ ไม่ควรรับประทานอาหารที่สุก ๆ ดิบ ๆ และควรอุ่นร้อนก่อนรับประทาน ดื่มน้ำสะอาด น้ำต้มสุก หรือน้ำดื่มที่ผ่านมาตรฐาน

นางสาวพิศมัย เรืองศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (สนศ.) กทม. กล่าวว่า สนศ. มีมาตรการเชิงรุกโดยให้โรงเรียนในสังกัด กทม. รายงานสถานการณ์เมื่อพบความเสี่ยง การติดเชื้อ และการระบาดผ่านช่องทาง Online ในแบบสำรวจข้อมูล Google Form พร้อมทั้งกำชับให้โรงเรียนเฝ้าระวังและสังเกตอาการของนักเรียนในโรงเรียนทุกคน และดำเนินการตามมาตรการทางการแพทย์และการสาธารณสุข ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้แจ้งเตือนโรคอุจจาระร่วงจากโนโรไวรัส และเป็นไปตามแนวทางที่ได้แจ้งให้โรงเรียนในสังกัด กทม. ได้ถือปฏิบัติ พร้อมขอความร่วมมือสำนักงานเขตกำกับดูแลโรงเรียน ตรวจสอบความพร้อมของอาคารเรียน ห้องเรียน เครื่องเล่นเด็ก ด้านสภาพแวดล้อม ความสะอาด สุขาภิบาล วัสดุการเรียนการสอน และการดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อในสถานศึกษาเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ สนศ. ประสาน สนอ. และ สนพ. ถึงแนวทางการป้องกันการติดเชื้อโนโรไวรัสและโรต้าไวรัส วิธีการสังเกตอาการของโรค และวิธีการปฏิบัติตนเมื่อมีอาการอุจจาระร่วง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค รวมทั้งจัดทำแนวทางและแผนเผชิญเหตุ เพื่อเวียนแจ้งให้โรงเรียนในสังกัด กทม. ได้ทราบและปฏิบัติ หากพบผู้ป่วย หรือการการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโนโรไวรัสในโรงเรียน กทม. ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการอุจจาระร่วง ให้โรงเรียนประสานส่งต่อสถานพยาบาลในพื้นที่เขตซึ่งอยู่ใกล้บริเวณโรงเรียนเพื่อรักษาผู้ป่วยติดเชื้อ

ขณะเดียวกันได้กำชับเน้นย้ำกระบวนการปรุงอาหารมีความสะอาดและปลอดภัย เพื่อให้นักเรียน ครู และบุคลากรได้รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ถูกหลักอนามัย มีภาชนะใส่ หรือบรรจุอาหารที่สะอาดและป้องกันแมลงนำโรค รวมทั้งกำหนดแนวทางการป้องกันโรคระบาดในเด็กที่เกิดจากความสะอาดของอาหารและน้ำดื่ม โดยขอความร่วมมือสำนักงานเขตกำกับโรงเรียนในพื้นที่ปฏิบัติตามคู่มือแนวทางการจัดการอาหารปลอดภัยในสถานศึกษา ตลอดจนบูรณาการบุคลากรและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องออกตรวจประเมินการจัดการอาหาร อาหารเสริม (นม) น้ำดื่มและน้ำแข็ง เพื่อให้นักเรียนทุกคนได้รับการบริโภคอาหารที่มีคุณค่าตามหลักโภชนาการ สอดคล้องกับระบบ Thai School Lunch for BMA และเป็นไปตามมาตรการแนวทางการจัดการอาหารปลอดภัยในสถานศึกษา ตลอดจนกำหนดแผนบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการสื่อสารและประสานงาน การเตรียมความพร้อมสถานพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขจากสถานพยาบาลในพื้นที่เขตซึ่งอยู่ใกล้บริเวณโรงเรียน สนับสนุนพื้นที่ภายในโรงเรียนให้เป็นสถานที่เผยแพร่ความรู้สู่ชุมชนเกี่ยวกับมาตรการป้องกันโรค

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200