(1 พ.ย. 67) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต้อนรับนักศึกษาภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และบรรยายเรื่องการประยุกต์ใช้แนวคิด sandbox กับการบริหารและขับเคลื่อนงานกรุงเทพมหานคร และ Bangkok Health Zoning ผ่านระบบออนไลน์
รองผู้ว่าฯ ทวิดา ได้บรรยายสรุปถึงข้อมูลทรัพยากรและบริบทพื้นฐานของกรุงเทพมหานคร เพื่อให้นักศึกษาเข้าใจบริบทขั้นพื้นฐานว่ากรุงเทพมหานครนั้นเป็นเมืองที่ลึก ต้องทำความเข้าใจหลายเรื่อง ทั้งด้านประชากร พื้นที่ ในหนึ่งวันกทม.ต้องดูแลคนกว่า 10 ล้านคน การที่กรุงเทพมหานครเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ความพิเศษ คือ กทม. สามารถมีโรงพยาบาลในสังกัดและมีอำนาจกำกับควบคุมดูแล ซึ่ง กทม. มีโรงพยาบาลในสังกัดทั้งสิ้น 11 แห่ง อีก 1 แห่งคือโรงพยาบาลวชิรพยาบาลที่อยู่ภายใต้การกำกับของกทม. เช่นเดียวกัน แต่ปัญหาคือทั้งกรุงเทพฯ มีโรงพยาบาลทั้งหมด 140 แห่ง 21 แห่งกำกับดูแลโดยรัฐ ฉะนั้น Network Governance จึงมีความสำคัญและมีไว้เพื่อเมื่อทรัพยากรเราไม่เพียงพอ และเรื่องที่เราไม่ถนัด
รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวต่อไปว่า ต้องยอมรับว่าการทำงานระบบราชการเป็นการทำงานแบบไซโล กระบวนงานไม่ถูกเชื่อมกัน แต่ละหน่วยงานมีกฎระเบียบต่างกัน ทำให้ในหน่วยงานกทม. ไม่มีหน่วยไหนที่สามารถทำงานได้แบบเบ็ดเสร็จ Network Governance จึงตอบโจทย์ในเรื่องนี้ องค์ประกอบของ Network Governance สำคัญคือเป้าหมายต้องตรงกัน ต้องร้อยกระบวนงานเข้าหากัน สื่อสารกันอย่างสม่ำเสมอ มีกติกาการทำงานและใช้ทรัพยากรร่วมกันบนพื้นฐานเป้าหมายร่วมกัน และต้องมีความเชื่อมั่นซึ่งกันและกันด้วย ซึ่งการทำงานด้านสาธารณสุขก็ต้องทำให้เป็นเครือข่ายตั้งแต่ระดับปฐมภูมิจนถึงตติยภูมิ
ในส่วนการเปิด sandbox เพื่อเป็นพื้นที่ในการทดลองในด้านนโยบาย ก็เพื่อทดลองแก้ไขกติกาบางอย่างให้ทำงานได้ดีขึ้น ความสำเร็จของการเปิด sandbox ซึ่งเป็นรากฐานของการทำนวัตกรรมนั้น เมื่อรู้ว่าผิด ต้องไปทางอื่น เมื่อล้มก็ล้มให้เร็ว สำเร็จต้องขยายผลให้เร็ว ที่ผ่านมากทม. มีการเปิด sandbox ทางสุขภาพ คือ ดุสิตโมเดล และราชพิพัฒน์โมเดล เมื่อเกิดผลสำเร็จจึงขยายผลพัฒนาเป็นการทำงานแบบ Bangkok Health Zone ทั้ง 7 โซน นี่คือผลจากการใช้ Network Governance และ Policy Sandbox
โดยในวันนี้ นิสิตระดับปริญญาตรี ภาควิชารัฐศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 สาขารัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จำนวน 65 คน ได้เข้าเยี่ยมชมและรับฟังการบรรยายในหัวข้อ “ราชพิพัฒน์โมเดล และการจัดบริการด้านสุขภาพและการแพทย์” ณ โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา Network Management in Public Affairs และวิชา Local Governance โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นิสิตได้มีความเข้าใจเกี่ยวกับการรายวิชาเพิ่มมากขึ้น