Flag
Search
Close this search box.
ปั้นสวน ลานนกเขาในหมู่บ้านวิเศษสุขนคร ติดตามการใช้จ่ายงบประมาณโครงการปรับปรุงซอยประชาอุทิศ 76 และซอยพุทธบูชา 36 เร่งแก้ปัญหาลักลอบทิ้งขยะประชาอุทิศ 76 แยก 5 ชมคัดแยกขยะชุมชนนูรุ้ลฮุดาพุทธบูชา เขตทุ่งครุ

(11 ก.ค. 67) เวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตทุ่งครุ ประกอบด้วย

พัฒนาสวน 15 นาที สวนลานนกเขา บริเวณหมู่บ้านวิเศษสุขนคร ซอยประชาอุทิศ 79 แยก 6 ในโอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารเขตทุ่งครุ ได้ร่วมกันปลูกต้นรวงผึ้ง เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง ตลอดจนเพิ่มความร่มรื่นและสวยงามให้กับสวนดังกล่าว เขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ 1.สวนหย่อมหน้าหมู่บ้านวิเศษสุขนคร โครงการ 17-18 พื้นที่ 3 ไร่ 3 งาน 70 ตารางวา 2.สวนหย่อมหน้าหมู่บ้านวิเศษสุขนคร โครงการ 10 พื้นที่ 2 ไร่ 2 งาน 69 ตารางวา 3.สวนหย่อมซอยประชาอุทิศ 54 แยก 6 พื้นที่ 2 งาน 30 ตารางวา 4.สวนหมู่บ้านสราญสิริ พื้นที่ 3 ไร่ 3 งาน 70 ตารางวา 5.สวนหย่อมหน้าหมู่บ้านนริศา พื้นที่ 1 ไร่ 1 งาน สวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1.สวนหย่อมหน้าโรงเหล็ก ซอยประชาอุทิศ 33 พื้นที่ 1 ไร่ 1 งาน 15 ตารางวา 2.สวนหย่อมลานนกเขา ซอยประชาอุทิศ 79 พื้นที่ 2 งาน 94 ตารางวา 3.สวนหย่อมลานตระกร้อ ซอยประชาอุทิศ 33 (หมู่บ้านสวนธนซอย 1) พื้นที่ 2 งาน 54 ตารางวา อยู่ระหว่างดำเนินการ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ สำรวจพื้นที่ว่างเพื่อจัดทำสวน 15 นาทีให้ครบ 10 แห่ง ออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในสวนให้ตรงกับความต้องการของประชาชนที่เข้ามาใช้บริการ

ติดตามการใช้จ่ายงบประมาณโครงการปรับปรุงซอยประชาอุทิศ 76 จากคลองรางขมิ้น ถึงคลองรางโพธิ์ และซอยแยกซอยประชาอุทิศ 76 จากซอยประชาอุทิศ 76 ถึงหมู่บ้านกานดาเพลส ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ เกิดปัญหาน้ำท่วมขัง โดยเขตฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงยกระดับถนนให้สูงขึ้น พร้อมจัดทำบ่อพักและวางท่อระบายน้ำใหม่ ผลงานที่ทำได้ 70% ส่วนปัญหาและอุปสรรคในการก่อสร้างคือ การขุดวางท่อประปาใหม่ทั้ง 2 ฝั่ง ยังไม่แล้วเสร็จ ประกอบกับพื้นที่ดังกล่าวมีน้ำท่วมขังทำให้การวางท่อระบายน้ำดำเนินการได้ล่าช้า คงเหลือในส่วนของบ่อพักและประตูปิดกั้นน้ำ 4 บ่อ โดยผู้รับจ้างยืนยันว่าสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ การก่อสร้างจะแล้วเสร็จ 85% ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จะลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าครั้งต่อไปในวันที่ 5 สิงหาคม 2567

ติดตามการใช้จ่ายงบประมาณโครงการปรับปรุงซอยพุทธบูชา 36 จากคลองรางราชพฤกษ์ ถึงคลองราชพฤกษ์ โครงการปรับปรุงซอยพุทธบูชา 36 จากคลองราชพฤกษ์ ถึงคลองสามัคคี และโครงการปรับปรุงสะพานข้ามคลองซอยพุทธบูชา 36 ซึ่งเดิมซอยดังกล่าวมี 2 ช่องจราจร โดยเขตฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงขยายถนนเป็น 4 ช่องจราจร ส่วนปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานคือ การขุดล้อมย้ายต้นไม้ แบ่งเป็น ไม้ยืนต้น 337 ต้น ไม้พุ่ม 713 ต้น ไม้ประดับ 1,420 ต้น ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว การขุดวางท่อประปาใหม่ ทั้ง 2 ฝั่ง รวมถึงวางข้ามคลอง 4 คลอง ยังไม่แล้วเสร็จ รื้อเสาไฟฟ้าทิ้ง 29 ต้น แล้วเสร็จ 9 ต้น ปักเสาไฟฟ้าใหม่ 150 ต้น แล้วเสร็จ 82 ต้น ย้ายสายสื่อสาร ยังไม่แล้วเสร็จ โครงการปรับปรุงซอยพุทธบูชา 36 จากคลองรางราชพฤกษ์ ถึงคลองราชพฤกษ์ ผลงานที่ทำได้ 40% โครงการปรับปรุงซอยพุทธบูชา 36 จากคลองราชพฤกษ์ ถึงคลองสามัคคี ผลงานที่ทำได้ 35% และโครงการปรับปรุงสะพานข้ามคลองซอยพุทธบูชา 36 ผลงานที่ทำได้ 5% ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ประสานการไฟฟ้า การประปา NT และผู้รับจ้างอย่างต่อเนื่อง วางแผนการทำงานร่วมกันในการเข้าพื้นที่ ทั้งการรื้อเสาไฟฟ้า ย้ายสายไฟฟ้า และหักเสาไฟฟ้า รวมถึงการย้ายสายสื่อสาร การขุดวางท่อระบายน้ำและทำบ่อพัก โดยจะลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าในวันที่ 5 สิงหาคมนี้เช่นกัน

ตรวจสอบพื้นที่รกร้างและการลักลอบทิ้งขยะ บริเวณซอยประชาอุทิศ 76 แยก 5 ถนนเลียบทางด่วนกาญจนาภิเษก ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ สำรวจหาเจ้าของที่ดินหรือผู้ครอบครอง แจ้งให้ดำเนินการล้อมรั้วในที่ดินของตน เพื่อป้องกันการลักลอบทิ้งขยะ จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจออกตรวจพื้นที่ กวดขันดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ ดำเนินการจัดเก็บขยะ ฝ่ายรายได้สำรวจการใช้ประโยชน์จากที่ดิน หากไม่มีการใช้ประโยชน์หรือปล่อยให้รกร้างว่างเปล่าให้จัดเก็บภาษีตามอัตราที่กำหนดไว้ โดยจะลงพื้นที่ตรวจสอบความเรียบร้อยอีกครั้งในวันที่ 5 สิงหาคม 2567

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ชุมชนนูรุ้ลฮุดา ซอยพุทธบูชา 36 แยก 8 ถนนพุทธบูชา พื้นที่ 7 ไร่ ประชากร 379 คน บ้านเรือน 95 หลังคาเรือน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2558 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ คัดแยกขยะเศษอาหารและขยะอินทรีย์ก่อนทิ้ง โดยนำไปทำปุ๋ยหมักใบไม้แห้ง และปุ๋ยหมักระบบคีย์โฮล แยกเศษอาหารส่งเกษตรกรเพื่อเลี้ยงสัตว์ (โครงการไม่เทรวม) ในชุมชนใกล้พื้นที่เกษตรกรรม เกษตรกรได้รับขยะเศษอาหารจากโรงเรียนและตลาดเพื่อนำมาเลี้ยงปลา แพะ ไก่ไข่ และวัว 2.ขยะรีไซเคิล ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้การคัดแยกขยะประเภทต่าง ๆ ประชาชนคัดแยกขยะรีไซเคิลที่ขายได้ โดยรายได้จากการขายจะส่งให้กับมัสยิดศูนย์กลางของชุมชนเพื่อเป็นการทำบุญร่วมกันของคนในชุมชน บางส่วนเก็บรวบรวมนำมาขายในร้านรับซื้อของเก่าในบริเวณชุมชน 3.ขยะทั่วไป คัดแยกขยะทั่วไปทิ้งตามวันเวลาที่รถเก็บขนมูลฝอยเข้าดำเนินการจัดเก็บ 4.ขยะอันตราย จัดจุดพักคัดแยกขยะอันตราย เพื่อรอฝ่ายรักษาความสะอาดฯ ดำเนินการจัดเก็บทุกวันที่ 15 ของเดือน สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 400 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 200 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 150 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 40 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 10 กิโลกรัม/วัน

พร้อมกันนี้ได้สอบถามถึงการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 5 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 185 ราย ดังนี้ 1.ตลาดในซอยประชาอุทิศ 79 ผู้ค้า 147 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-10.00 น. 2.บริเวณสวนหย่อมโครงการ 18 ในซอยประชาอุทิศ 79 ผู้ค้า 13 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-21.00 น. 3.หน้าแฟลต กทม. ประชาอุทิศ 90 ผู้ค้า 13 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-17.00 น. 4.ปากซอยพุทธบูชา 46 ผู้ค้า 7 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-10.00 น. และ 5.ปากซอยพุทธบูชา 44 ผู้ค้า 5 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-20.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ มีเป้าหมายยกเลิกพื้นที่ทำการค้าบริเวณซอยพุทธบูชา 46 ผู้ค้า 7 ราย ที่ผ่านมา เขตฯ ได้จัดทำ Hawker Center บริเวณสวนหย่อมหมู่บ้านวิเศษสุขนคร โครงการ 10 ในซอยประชาอุทิศ 79 รองรับผู้ค้าได้ 24 ราย ช่วงเวลาทำการค้า รอบเช้า 06.00-14.00 น. ผู้ค้า 11 ราย รอบเย็น 14.00-21.00 น. ผู้ค้า 13 ราย

ในการนี้มี นายพงศ์ศักดิ์ พูลยรัตน์ ผู้อำนวยการเขตทุ่งครุ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตทุ่งครุ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล

#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี
—–  (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200