Flag
Search
Close this search box.
คอลัมน์ Sustainable Talk: จบ’เทศกาลสาดสนุก’ แต่โลกเศร้าแบกกองขยะมหาศาล เปิดวิธีสนุกด้วยช่วยโลกด้วย

ผ่านพ้นเทศกาลมหาสงกรานต์ของไทย ปีนี้รัฐบาลประกาศจัดสุดยิ่งใหญ่ หนึ่งในหมุดหมาย Soft Power ดันเป็นเทศกาล ระดับโลก ที่ใคร ๆ ก็อยากมาร่วมสาดน้ำ สาดความสุข ในประเทศไทย ยิ่งปีนี้อากาศร้อนแบบ “โลกเดือด” หลายพื้นที่ที่ได้จัดเต็มสาดความบันเทิงกันเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น สมุทรปราการ ชลบุรี ภูเก็ต ปลุกขบวนรถพาเหรด แสง สี เสียง แปรอักษรโดรนสุดอลังการเต็มท้องฟ้าสนามหลวง ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย ชาวต่างชาติ ประทับใจไม่รู้ลืมกับเทศกาลมหาความสุขครั้งนี้ ทางหอการค้าไทย ประเมินเม็ดเงินสะพัดครั้งนี้ไม่ต่ำกว่า 128,834 ล้านบาท ได้รับเสียงชื่นชมอื้ออึง ทั้งคนไทย และต่างชาติ เห็นได้จากสำนักข่าวต่างประเทศต่างพากันรายงานบรรยากาศสนุกครึกครื้น

ยิ่งเทศกาลสุดยิ่งใหญ่ ผู้คนต่างหลั่งไหลมาเที่ยวเท่าไร ปฏิเสธไม่ได้ว่า สิ่งที่ตามมาหนีไม่พ้น “ปริมาณขยะ” มหาศาล ที่กองพะเนินหลังจบงานในแต่ละวัน นับปริมาณขยะแค่ใน กทม.ทั่วทั้ง 50 เขต ช่วงสงกรานต์ระหว่างวันที่ 10-16 เม.ย. 67 รวมแล้วกว่า 51,437.43 ตัน เฉลี่ยต่อวัน 7,348.20 ตันส่วน เพิ่มขึ้นจากปี 66 ที่มีปริมาณขยะทั่วกทม.ทั้ง 50 เขต ช่วงเวลาเดียวกัน รวม 50,767.67 ตัน เฉลี่ยต่อวัน 7,252.52 ตัน ปริมาณขยะเพิ่มขึ้น หรือเพิ่มขึ้นถึง 669.76 ตัน ปริมาณขยะเกิดขึ้นเพิ่มขึ้น 1.3% และมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพิ่มขึ้น 2 tCO2e

โดย “เอกวรัญญู อัมรปาล” โฆษก กทม. ระบุว่า ปริมาณขยะที่เกิดขึ้นช่วงสงกรานต์ในพื้นที่ กทม.ในพื้นที่จัดงานที่มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวเป็นจำนวนมากอย่างเช่น บริเวณถนนข้าวสารและโดยรอบ ระหว่างวันที่ 12-15 เม.ย. 67 มีปริมาณขยะ รวมทั้งสิ้น 162 ตัน ส่วนที่สีลมนั้นเบื้องต้น สำนักงานเขตบางรักรายงานยอดปริมาณขยะสงกรานต์สีลม ระหว่างวันที่ 13-14 เม.ย. รวม 33.51 ตัน

ปัญหาและอุปสรรคในการจัดเก็บขยะช่วงสงกรานต์นั้น บางส่วนจะไม่มีการคัดแยก และขยะจะเปียกน้ำ ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องใช้เวลาในการจัดเก็บมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อคัดแยกขยะก่อนนำขึ้นรถไปส่งกำจัดในศูนย์กำจัดขยะ 3 แห่ง ประกอบด้วย 1. ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยอ่อนนุช 2. ศูนย์กำจัดขยะหนองแขม 3. ศูนย์กำจัดขยะสายไหม ตามระบบเหมือนในช่วงเวลาปกติ แต่ทั้งนี้ในบางพื้นที่จัดงาน กทม. ได้มีการตั้งถังขยะแบบคัดแยกไว้และ มีเจ้าหน้าที่คอยประจำการเพื่อแนะนำประชาชน นักท่องเที่ยวให้ทิ้งขยะลงถังอย่างถูกต้อง ปริมาณส่วนใหญ่ยังเป็นถุง กล่อง พลาสติก กล่องกระดาษ กล่องโฟม กระป๋องแป้ง ขัน ถังพลาสติก แป้ง ขวดเบียร์ ขวดเหล้า

ขณะที่ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าฯกทม. ได้ไลฟ์สด ผ่านเฟซบุ๊ก “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ระหว่างลงพื้นที่ ตรวจพื้นที่และให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ เจ้าหน้าที่กวาด สำนักงานเขตพระนคร ในการทำความสะอาดถนนข้าวสารหลังจบงานสงกรานต์เมื่อคืนวันที่ 15 เม.ย. เดินลัดเลาะไปตามถนนรามบุตรี ทะลุถนนจักรพงษ์ ซึ่งพื้นถนนขาวโพลนไปด้วยแป้ง ขยะ ขวดแก้ว ลังกระดาษ ปืนฉีดน้ำ ถังน้ำ กระป๋องแป้ง โดยเจ้าหน้าที่ เริ่มทำความสะอาดตั้งแต่เวลา 04.00 น. พร้อมรถน้ำกว่า 6 คัน เก็บกวาดขยะ จัดเก็บอุปกรณ์ และฉีดล้างทำความสะอาด ถนนข้าวสาร และพื้นที่โดยรอบ ซึ่งคาดว่า จะทำความสะอาดแล้วเสร็จในช่วงบ่าย วันที่ 16 เม.ย.

“หลังทุกคนสนุกกัน จากนั้นก็เป็นหน้าที่เราที่ต้องมาล้างทำความสะอาดกันต่อไป ขอบคุณพี่กวาดทุกคนผู้ที่ช่วยทำให้เมืองเราเรียบร้อยขึ้น”

ด้าน “พรพรหม ณ.ส.วิกิตเศรษฐ์” ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. และผู้บริหารด้านความยั่งยืนคนแรกของ กทม. เล่าถึงภาพรวมการจัดเก็บขยะในพื้นที่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ว่า เป้าหมายการจัดเก็บ คือ ต้องทำอย่างไรไม่ให้มีขยะเหลือตกค้างในแต่ละวัน ถือว่าทำได้ดีมาก และหลังเสร็จสิ้นเทศกาลก็มีเจ้าหน้าที่ออกมาล้างทำความสะอาดถนนอีกครั้ง ซึ่ง กทม.ได้ดำเนินการจัดเก็บข้อมูลว่ามีขยะเกิดขึ้นจำนวนเท่าไร และมีการคัดแยกจำนวนเท่าไร การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ถนนข้าวสาร เขตพระนคร หรือสีลม เขตบางรัก ได้มีการจัดเก็บข้อมูลไว้ จากตัวเลขข้อมูลปริมาณขยะที่เกิดขึ้น เชื่อว่า ส่วนหนึ่งเป็นขยะที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลรวมกับปริมาณขยะเดิม ที่แต่ละเขตได้ดำเนินการจัดเก็บเป็นประจำทุกวัน จึงทำให้เห็นว่ามีตัวเลขปริมาณขยะเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าปกติ

สำหรับการคัดแยกขยะของ กทม.มี 3 ประเภทด้วยกันคือ สีเขียวขยะอินทรีย์ สีน้ำเงินขยะทั่วไป และสีเหลืงขยะรีไซเคิล แต่ปีนี้มีกรณีพิเศษที่น่าสนใจคือการจัดการขยะบริเวณสนามหลวง ซึ่ง กทม. ร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และกลุ่มคนรุ่นใหม่ MMU sustainable agency ดำเนินการคัดแยกด้วยถังขยะ 7 ประเภท ประกอบด้วย ขยะอินทรีย์ ขยะทั่วไป ขยะรีไซเคิล ก็จะแยกเป็นกระป๋อง อะลูมิเนียม ขวดแก้ว พลาสติก รวมถึงปืน ฉีดน้ำ เนื่องจากเป็นพลาสติกชนิด PP รวมถึงรับน้ำมันใช้แล้วจากร้านค้าที่ขายของอยู่ภายในสนามหลวงด้วย ซึ่งมีการตั้งถังขยะไว้ 5 จุดทั่วบริเวณงาน ซึ่งจากรายงานตัวเลขมา 5 วันมีปริมาณขยะ 5.3 ตัน โดยแบ่งเป็นขยะอินทรีย์ประมาณครึ่งหนึ่งซึ่งสอดคล้องกับ ตัวขยายภาพรวมของกรุงเทพมหานครด้วย

ทั้งนี้สำหรับขยะในพื้นที่บริเวณสนามหลวงเมื่อคัดแยกแล้วจะแบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ส่วน คือ ในส่วนที่ กทม. ดำเนินการเอง ได้แก่ ขยะเศษอาหาร ขยะย่อยสลายได้ จะนำไปทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ส่วนขยะทั่วไป กระดาษลัง แก้ว ฝา พลาสติก จะนำเข้าสู่กระบวนการผลิตพลังงานไฟฟ้าของ กทม. ส่วนขยะที่เหลือ ผู้จัดงานจะดำเนินการประสานเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้ามารับ ไปดำเนินการต่อ ได้แก่ ขยะประเภทอะลูมิเนียม แก้ว ก็จะถูกส่งนำไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเป็นบรรจุภัณฑ์ใหม่, ขยะประเภทขวดน้ำพลาสติกขวด PET จะนำไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิลหรือขวดใหม่, น้ำมันที่ใช้แล้วจะถูกนำไปเข้าสู่กระบวนการผลิตเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบิน และปืนฉีดน้ำพลาสติก PP จะนำไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเม็ดพลาสติกรีไซเคิล.

ไม่เพียงเฉพาะเจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ ของหน่วยงานต่าง ๆ เท่านั้นที่จะต้องดูแลรักษาความสะอาดช่วงเทศกาลสงกรานต์ แต่ประชาชนทุกคนที่ออกมาสาดความสนุก บนถนนทุกเส้นทุกสายก็จำเป็นจะต้องตระหนักถึงการรับผิดชอบ

“ขยะ” หลังอุปโภคบริโภคด้วยเช่นกัน โดยการรับผิดชอบที่กล่าวมานั้น ไม่ใช่การทิ้งขยะลงถังเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงการรู้จัก “แยกขยะ” ให้ถูกประเภทก่อนการทิ้ง เพื่อให้ขยะถูกนำไปรีไซเคิลและกำจัดอย่างถูกวิธี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดขยะ ลดการสิ้นเปลืองพลังงานในการผลิตสินค้าขึ้นใหม่ ที่นอกจากจะเซฟโลกได้แล้ว ยังช่วยเซฟเจ้าหน้าที่ที่ต้องทำงานใกล้ชิดกับขยะอีกด้วย

สำหรับจุดสังเกตง่าย ๆ ที่ใคร ๆ ก็สามารถ “แยกขยะ” ได้ มีดังนี้

ถังขยะสีเขียว มีไว้สำหรับทิ้ง “ขยะอินทรีย์” หรือที่เข้าใจกันดีในชื่อ “ขยะเปียก” หรือ “ขยะเน่าเสีย” ที่สามารถย่อยสลายได้เร็ว ไม่ว่าจะเป็น เศษอาหาร เนื้อสัตว์ เปลือกผักผลไม้ เศษดอกไม้ใบหญ้า

ถังขยะสีน้ำเงิน มีไว้สำหรับทิ้ง “ขยะทั่วไป” ซึ่งใช้เวลา ในการย่อยสลายนานและไม่นิยมนำกลับมารีไซเคิล อาทิ เศษยาง เศษกระดาษปนเปื้อนน้ำมัน กล่องโฟม ซองขนม ถุงแกง เป็นต้น

ถังขยะสีเหลือง มีไว้สำหรับทิ้ง “ขยะรีไซเคิล” อย่างที่ หลายคนพอจะทราบกันดี มีตั้งแต่ ถุงพลาสติก กล่องนม กระป๋อง ขวดแก้ว กระดาษต่าง ๆ ยกเว้นกระดาษทิชชู

ถังขยะสีแดง มีไว้สำหรับทิ้ง “ขยะอันตราย” ตั้งแต่ หลอดไฟ แบตเตอรี่มือถือ กระป๋องสารเคมี ยาและเครื่อง สำอางหมดอายุ ตลอดจนขยะที่เป็นวัตถุไวไฟ โดยขยะในกลุ่มนี้จะต้องนำไปใส่ถุงสีทึบและมัดปากไว้ให้แน่นด้วยเชือกหรือเทปสีส้มก่อนทิ้ง เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการบ่งบอกถึงประเภทของขยะให้เจ้าหน้าที่สังเกตได้โดยง่าย

ส่วนวิธีจัดการขยะพลาสติกช่วงเทศกาลสงกรานต์

ขยะพลาสติกจากปืนฉีดน้ำ คัดแยกเป็นพลาสติกรวมนำไปขายที่ร้านรับซื้อของเก่า เพื่อนำกลับไปรีไซเคิล พลาสติกที่ไม่สามารถขายได้ นำไปแปรรูปเป็นขยะเชื้อเพลิง RDF.

 



ที่มา:  นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 19 เม.ย. 2567

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200