Flag
Search
Close this search box.
คอลัมน์ เลาะรั้ว: เกิดอะไรขึ้นในการอนุญาตก่อสร้าง

นายช่าง

1 ปี 10 เดือน ที่ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เข้ารับหน้าที่ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เรื่องที่ต้องตามทวง คือการแก้ไขปรับปรุงเรื่องการขออนุญาตการก่อสร้าง อาคารของภาคเอกชนหรือชาวบ้านให้ได้รับความสะดวกรวดเร็วขึ้น เพื่อป้องกันปัญหาการเรียกเงินใต้โต๊ะ จากเจ้าหน้าที่ของกทม.

ปัจจุบันเงินใต้โต๊ะยังคงมีอยู่และมิได้ลดลงแต่อย่างใด กลับพัฒนาเป็นระบบ (นอกกฎหมาย) ที่ชัดเจนในราคา 50-80 บาทต่อตารางเมตร ของอาคารที่ขออนุญาตก่อสร้าง

เมื่อเดือนมกราคม 2567 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ผู้รับจ้างศึกษาขั้นตอนการปรับปรุงการขออนุญาตก่อสร้างในพื้นที่ กทม. ประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ว่าการแบ่งการกำหนดแนวทางในการปรับปรุงเป็นอย่างไร โดยมีข้อเสนอให้จัดทำระเบียบ วิธีการและรายละเอียดของรูปแบบอาคารที่ก่อสร้างเป็นภาพกราฟิก เผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปรับรู้ ทั้งที่เรื่องนี้มีอยู่ครบถ้วนแล้วในคู่มือของระเบียบ วิธีการ เอกสารที่ใช้ในการขออนุญาตก่อสร้าง และสมาคมสถาปนิกสยามฯ ก็จัดทำพิมพ์เผยแพร่เป็นทั้งรูปภาพทางกราฟิก และข้อบัญญัติเผยแพร่ต่อประชาชนและสถาปนิก วิศวกร ผู้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพกันครบถ้วนแล้ว

ปัญหาของการล่าช้าในการขออนุญาตในการให้อนุญาตก่อสร้างนั้นจึงมิได้อยู่ที่เรื่องนี้ แต่เป็นกฎหมายที่ขาดความชัดเจน ซับซ้อนและซ้ำซ้อนกันอยู่มาก รวมถึงผู้บริหารของ กทม. ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้ตามกฎหมาย ไม่รู้ ไม่ได้รับรู้ข้อเท็จจริง ทั้งปริมาณ จำนวนอาคารที่ขออนุญาต ระยะเวลา ขั้นตอน ตั้งแต่การรับเรื่องขออนุญาต ขั้นตอนเวลาปัญหาอุปสรรค ข้อสงสัยในการวินิจฉัยในการขออนุญาตก่อสร้างแต่ประการใด

ข้อมูลของการจดทะเบียนอาคารที่เผยแพร่ต่อสาธารณชนก็มีสั้นๆ ย่อๆ แค่ว่าในระยะ 10 ปี 2553-2563 มีบ้านพักอาศัยจดทะเบียน ปีละ 20,000 กว่าหลัง แต่ผู้บริหารจะไม่รู้ตั้งแต่ต้นว่าแต่ละหลังแต่ละอาคารนั้นๆ ไม่รู้ว่าเริ่มขออนุญาตวันใด และไม่รู้ว่าขณะที่พิจารณาเอกสารรูปแบบการขออนุญาตนั้น เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการพิจารณาแบบแปลนนั้นตีความเป็นอย่างใด

ผลก็คือผู้บริหารของ กทม.ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในการอนุญาตหรือไม่อนุญาต ซึ่งเมื่อไม่รู้ ก็เร่งรัดอะไรไม่ได้ แก้ไขปัญหาไม่ได้

ทุกวันนี้ไม่มีฝ่ายบริหารท่านใด รู้ว่าแต่ละปีแต่ละเดือน มีการขออนุญาตก่อสร้างอะไรที่ไหน และมีปัญหาอะไรบ้าง รวมทั้งไม่อาจค้นหาข้อมูลตัวเลขการขออนุญาตก่อสร้างที่เป็นจริงได้ที่ไหนอย่างไร อย่างน้อยก็น่าจะกว่า 7 ปีมาแล้ว ที่กทม.ไม่เคยเปิดเผยตัวเลขเหล่านี้เลย

หากผู้บริหารออกระเบียบให้ผู้ปฏิบัติราชการแทนเจ้าพนักงานท้องถิ่นจัดทำรายงานละเอียดทุกขั้นตอน ทุกรอบเดือน ส่งให้ผู้บริหารรับทราบ เพื่อจะได้เร่งรัดปัญหาเหล่านี้ ความล่าช้าโดยไม่จำเป็น เพื่อสร้างโอกาสในการเรียกเก็บเงินใต้โต๊ะก็น้อยลง

ผู้บริหารกทม.จะทำเรื่องธรรมดาๆ ขั้นต้น เพื่อจะได้รู้ ข้อเท็จจริงและปัญหาเหล่านี้ได้หรือไม่

 

 

 

ที่มา:  นสพ.ข่าวสด ฉบับวันที่ 20 เม.ย. 2567 (กรอบบ่าย)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200