(9 มี.ค. 67) นายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และโฆษกกรุงเทพมหานคร ชี้แจงประเด็นที่มีข้อวิจารณ์ว่า กทม. ปล่อยให้ “คลองโอ่งอ่าง” หมดคุณค่า Landmark ใน 3 ประเด็น คือ
•ประเด็นที่หนึ่ง ความคืบหน้าการบูรณาการจัดการพื้นที่บริเวณคลองโอ่งอ่าง รวมทั้งมาตรการส่งเสริมฟื้นฟูการท่องเที่ยวในพื้นที่ ตามที่มีข้อสังเกตคลองโอ่งอ่างถูกปล่อยทิ้งร้าง
สำนักงานเขตพระนคร ได้ลงพื้นที่สร้างความเข้าใจกับแกนนำ อาทิ ผู้ค้าเดิมในพื้นที่สะพานเหล็ก ผู้ประกอบในพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อวางแผนฟื้นฟูถนนคนเดินคลองโอ่งอ่าง ทั้งนี้ ได้มีมาตรการในการส่งเสริมฟื้นฟูการท่องเที่ยวในพื้นที่ โดยวางแผนไว้ 3 ระยะ คือ ระยะสั้น : ภายใน 2 เดือน เริ่มต้นเปิดตัวดึงอัตลักษณ์ของสะพานเหล็กในการจัดเทศกาลและกิจกรรม ในช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้ / ระยะกลาง : ภายใน 4 เดือน ใช้การประเมินและปรับรูปแบบกิจกรรมหลังเสร็จสิ้นกิจกรรมระยะสั้น พร้อมประชุมร่วมกับแกนนำและผู้ค้าถึงแนวทางการต่อยอดถนนคนเดินให้ยั่งยืน เช่น การทดลองจัดกิจกรรมสั้น ๆ ช่วงสุดสัปดาห์ โดยให้แกนนำขับเคลื่อนทั้งหมด และสำนักงานเขตเป็นที่ปรึกษา / ระยะยาว : ภายใน 6-8 เดือน ทดลองเปิดโอกาสให้แกนนำ บริหารจัดการด้วยตนเอง เมื่อครบ 8 เดือน จะประเมินครั้งสุดท้าย ก่อนถอดบทเรียน ขยายผลในพื้นที่อื่นต่อไป
•ประเด็นที่สอง บริเวณทางเท้าริมคลองด้านหลังโรงแรมมิราม่า ซึ่งมีผู้นำรถยนต์มาจอด ทั้งที่ทางเท้าบริเวณดังกล่าวเพิ่งปรับปรุง รวมถึงมีคนเร่ร่อนมาอาศัยหลับนอน ตั้งวงดื่มสุรา และตกปลา ทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงกังวลเรื่องความปลอดภัย
สำหรับการแก้ไขปัญหาจอดรถยนต์ในถนนหรือทางเท้าคลองโอ่งอ่าง ขณะนี้สำนักการโยธาอยู่ระหว่างปรับปรุงและยังมิได้ส่งมอบงาน ในเบื้องต้นเจ้าหน้าที่เทศกิจได้ประชาสัมพันธ์งดการจอดในพื้นที่ดังกล่าว และในอนาคตทางผู้รับจ้างจะพิจารณาติดตั้งอุปกรณ์กั้นรถยนต์เข้ามาจอด สำหรับปัญหาคนเร่ร่อน นอนทางเดิน เจ้าหน้าที่จะเพิ่มความถี่และกำชับตรวจตราไม่ให้มีการหลับนอนในที่สาธารณะพร้อมจัดระเบียบอย่างต่อเนื่อง ส่วนประเด็นการนั่งดื่มสุราและตกปลา เจ้าหน้าที่จะขอความร่วมมือ หากพบว่ามีการฝ่าฝืน จะว่ากล่าวตักเตือน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อแหล่งท่องเที่ยวของกทม. และสร้างความปลอดภัยแก่ประชาชน
•ประเด็นที่สาม สภาพน้ำในคลองโอ่งอ่าง ตามที่มีข้อสังเกตพบว่า มีขยะลอย น้ำเริ่มเน่าเสีย และส่งกลิ่นเหม็น
สำนักงานเขตพระนครและสำนักการระบายน้ำ ได้ร่วมลงพื้นที่สำรวจคลองโอ่งอ่าง เพื่อตรวจสอบท่อระบายน้ำเสียที่ปล่อยลงคลองโอ่งอ่างโดยตรง ซึ่งได้ตรวจพบจุดปล่อยน้ำเสีย ทราบถึงปัญหาและพร้อมดำเนินการปรับปรุงเพื่อนำน้ำเสียเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำต่อไป
———-