Search
Close this search box.
กทม. ร่วมกับภาคีจัดกิจกรรมถอดบทเรียน “ห้องเรียนสู้ฝุ่น X ฝุ่นศึกษา” หวังสร้างเด็กพร้อมรับมือและตระหนักปัญหาฝุ่น

(16 ธ.ค.66) นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดการจัดกิจกรรมกระบวนการถอดบทเรียน “ห้องเรียนสู้ฝุ่น X ฝุ่นศึกษา” ภายใต้โครงการยกระดับองค์ความรู้สำหรับเด็กและเยาวชน เพื่อการตระหนักถึงปัญหาด้านสุขภาพ ในพื้นที่เสี่ยงต่อปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กสู่นโยบายสาธารณะ ณ Convention Hall 2 ชั้น 2 อาคาร D สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (ThaiPBS)

รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวว่า เรื่องฝุ่นมี 3 เรื่องสำคัญ 1.เรื่องฝุ่นกับความยั่งยืนของเมือง เราเห็นได้ชัดเลยว่าปัจจุบันเราพูดถึงเพียงสิ่งแวดล้อมในเรื่องของพื้นที่สีเขียว แต่พื้นที่สีเขียวอย่างเดียวไม่เพียงพอยังมีประเด็นสำคัญอื่นอีกมาก เช่น เรื่องรถยนต์ การจราจร จะเห็นว่าเราไม่ได้รณรงค์แค่เรื่องการจราจรที่ไม่ติดขัด แต่ยังมีเรื่องความปลอดภัยอื่นด้วย เช่น ทางม้าลาย สิ่งเหล่านี้ต้องทำให้อยู่ในหลักสูตรให้เด็กได้เรียนรู้ว่าแต่ละภัยพิบัติมีฤดูกาลของมัน เพราะฉะนั้นเรื่องความยั่งยืนของเมืองไม่ใช่สิ่งที่เราเข้าใจเหมือนในอดีตแล้ว และเรื่องของฝุ่นและความยั่งยืนของเมืองเป็นสิ่งที่แยกออกจากกันไม่ได้ 2.ฝุ่นกับนโยบายของกทม. วันนี้ที่มาเป็นเหมือนปลายทาง คือ มาเรียนรู้ เกี่ยวกับค่าฝุ่น ถิ่นกำเนิดเกิด แต่จริงๆ แล้วนโยบายที่ตัดตั้งแต่ต้นทางสำคัญที่สุด หากพูดในระดับเมืองอาจจะยากเพราะฝุ่นมาจากหลายทาง หากพูดระดับประเทศฝุ่นก็มาจากประเทศอื่นด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงต้องทำงานเชิงรุกกับภาคีหลายภาคส่วนในการดูต้นตอการเผา ดูเรื่องรถยนต์ในการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง การปลูกต้นไม้ รวมถึงความพยายามในการทำห้องเรียนปลอดฝุ่นด้วย ถึงแม้ในปีนี้จะไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ แต่ก็ได้ให้ทางโรงเรียนเริ่มดำเนินการก่อน เบื้องต้น ปรับห้องเรียนสำหรับเด็กอนุบาลเป็นห้องแอร์และมีเครื่องฟอกอากาศแล้ว 750 ห้อง จาก 1,700 กว่าห้อง คาดว่าภายในปีหน้าจะดำเนินการครบทั้งหมด 3. ฝุ่นกับตัวเรา หลายครั้งเราคิดว่าภัยพิบัติเกิดจากผู้อื่นและไม่ใช่เรื่องของเรา แต่แท้จริงล้วนเกิดจากตัวเราเองทั้งสิ้น ดังนั้นจึงต้องมีการปลูกฝังว่าฝุ่นหรือการเปลี่ยนแปลงใดๆ ของโลกก็เกิดได้จากตัวเราเช่นกัน การปลูกฝังก็คือการศึกษาที่ทำให้เด็กเข้าใจว่าถิ่นกำเนิดของฝุ่นมาจากอะไร วันนี้สถานการณ์ฝุ่นเป็นอย่างไร และจะต้องปฏิบัติอย่างไรเพื่อเปลี่ยนและส่งผลให้เมืองเราดีขึ้นในอนาคต

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ห้างหุ้นส่วนจำกัด เติมเต็มวิสาหกิจเพื่อสังคม ศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ (DXC) และกรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินโครงการสร้างการเรียนรู้สำหรับเยาวชน เพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหาด้านสุขภาพต่อภาวะวิกฤตฝุ่นละอองในพื้นที่วิกฤต หรือโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่น โดยมีโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร และโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ รวมถึง สปป.ลาว เข้าร่วมจำนวนรวมกว่า 120 โรงเรียนทั่วประเทศ วันนี้จึงได้จัดกิจกรรมถอดบทเรียนเพื่อร่างบทเรียนห้องเรียนสู้ฝุ่นสะท้อนสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายและร่างหน่วยเรียน “ห้องเรียนสู้ฝุ่น x ฝุ่นศึกษา” ขึ้นเพื่อเป็นการยกระดับองค์ความรู้สำหรับเด็กและเยาวชน ตระหนักถึงปัญหาด้านสุขภาพในพื้นที่เสี่ยงต่อปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กสู่นโยบายสาธารณะ

โอกาสนี้ รองผู้ว่าฯ ศานนท์ ได้มอบรางวัลแก่โรงเรียนต้นแบบห้องเรียนปลอดฝุ่น รางวัลระดับดีเลิศ ได้แก่ โรงเรียนวัดวิมุตยาราม เขตบางพลัด รางวัลระดับดีเด่น จำนวน 6 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนวัดทองสัมฤทธิ์ เขตมีนบุรี โรงเรียนกันตทาราราม เขตธนบุรี โรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ เขตบางเขน โรงเรียนวัดราชบูรณะ เขตพระนคร โรงเรียนประชานิเวศน์ เขตจตุจักร โรงเรียนสุเหร่าใหม่ เขตสวนหลวง

กิจกรรมวันนี้มี นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ThaiPBS) ที่ปรึกษาโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่น สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. สำนักการศึกษา ผู้อำนวยการโรงเรียน นักเรียน ร่วมกิจกรรม
————-

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200