(2 พ.ย.66) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตดอนเมือง ประกอบด้วย
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการ นิวคอนเนกซ์ คอนโด ดอนเมือง ถนนวิภาวดีรังสิต ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัย ความสูง 14 ชั้น จำนวน 4 อาคาร และอาคารชุดพักอาศัย ความสูง 8 ชั้น จำนวน 1 อาคาร ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้รับจ้างให้ตรวจสอบเครื่องพ่นละอองน้ำให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ตรวจวัดค่าควันดำรถบรรทุกรถโม่ปูนให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ฉีดล้างทำความสะอาดล้อรถบรรทุกรถโม่ปูนก่อนออกจากโครงการ พร้อมทั้งมอบหมายให้เขตฯ จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กำชับสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด ควบคุมค่าฝุ่น PM2.5 ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อป้องกันมลพิษทางอากาศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
สำรวจสวน 15 นาที บริเวณสวนหย่อมหน้ากองบังคับการตำรวจนครบาล 2 (บก.น.2) ถนนเชิดวุฒากาศ พื้นที่ 1 ไร่ 2 งาน กรรมสิทธิ์ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย และกรมธนารักษ์ เขตฯ ดำเนินการจัดทำสวน 15 นาที ปลูกไม้ยืนต้นคือ ต้นกระพี้จั่น 9 ต้น ปลูกไม้ดอกไม้ประดับ จัดทำทางเดินลู่วิ่งความยาว 100 เมตร ดำเนินการแล้วเสร็จ เปิดใช้สวนเมื่อ 8 สิงหาคม 2566 ทั้งนี้เขตฯ ได้จัดทำสวน 15 นาที ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และลานออกกำลังกายให้แก่ประชาชนในพื้นที่ รวมถึงการพัฒนาพื้นที่ว่างจัดทำเป็นสวนสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงพื้นที่สีเขียวใกล้บ้านได้ภายใน 15 นาที หรือระยะทางในการเดิน 800 เมตร
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ บริเวณชุมชนบูรพา 18 ถนนวัดเวฬุวนาราม 19 พื้นที่ 42 ไร่ บ้านเรือน 385 หลังคาเรือน ประชากร 1,128 คน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2566 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ โครงการไม่เทรวม ชุมชนตั้งจุดรวมถังขยะเศษอาหาร เพื่อให้ประชาชนนำมาทิ้งในจุดที่กำหนด โดยนำเศษอาหารที่ได้มาใช้ประโยชน์ เช่น การทำน้ำหมักจุลินทรีย์จากเศษอาหาร และการทำปุ๋ยจากขยะเศษอาหาร 2.ขยะรีไซเคิล ประชาชนในชุมชนจะคัดแยกขยะรีไซเคิลจากครัวเรือนและนำไปขายเอง โดยที่ทำการชุมชนกำหนดจุดรวมขยะรีไซเคิล และจัดทำโครงการธนาคารขยะรีไซเคิล ชุมชนบูรพา 18 3.ขยะทั่วไป ชุมชนกำหนดจุดทิ้งพลาสติกประเภทเหนียว บริเวณที่ทำการชุมชน โดยรวบรวมและแจ้งฝ่ายรักษาความสะอาดฯ เข้าจัดเก็บ 4.ขยะอันตราย ชุมชนกำหนดจุดทิ้งขยะอันตรายและขยะติดเชื้อบริเวณด้านข้างที่ทำการชุมชน ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ เข้าจัดเก็บตามวันเวลาที่กำหนด สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 33,840 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 27,100 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 70 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 100 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 1 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 1 กิโลกรัม/เดือน
ติดตามการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA-TAX) ในการจัดเก็บรายได้ เขตฯ มีที่ดิน 58,605 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 65,228 แห่ง ห้องชุด 14,188 ห้อง สำรวจครบแล้ว สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 138,021 รายการ สำรวจครบทั้งหมดแล้ว ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สอบถามถึงปัญหาและอุปสรรคในการจัดเก็บภาษีรายได้ ศักยภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน ประสิทธิภาพระบบเครือข่ายทั้งแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) พร้อมทั้งให้คำแนะนำในการจัดเก็บภาษีประเภทต่างๆ เพื่อให้การจัดเก็บภาษีรายได้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด จากนั้นตรวจเยี่ยมการให้บริการประชาชนของฝ่ายทะเบียน ภายในศูนย์บริหารราชการ ฉับไวใสสะอาด (Bangkok Fast & Clear : BFC) เขตดอนเมือง โดยได้สอบถามถึงปัญหาและอุปสรรคที่ส่งผลให้งานบริการเกิดความล่าช้า ประสิทธิภาพของวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ปฏิบัติงาน อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องพิมพ์เอกสาร เครื่องผลิตบัตรประจำตัวประชาชน เพื่อให้ประชาชนที่มาติดต่อราชการได้รับบริการด้วยความรวดเร็ว
พร้อมกันนี้ได้สอบถามถึงการคัดแยกขยะ เขตดอนเมือง มีข้าราชการและบุคลากร 210 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล แต่ละฝ่ายแยกออกมา เพื่อรวบรวมขาย หรือนำมาทิ้งในถังขยะรีไซเคิล กิจกรรมขวดรีไซเคิลแลกปุ๋ย โดยข้าราชการ บุคลากร และประชาชนที่มาติดต่อราชการ สามารถนำขวดพลาสติกใสมาแลกน้ำหมักชีวภาพที่ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ 2.ขยะอินทรีย์ แยกขยะเศษอาหาร เศษผัก เศษผลไม้ โดยนำมาทิ้งในถังคัดแยกเศษอาหารบริเวณจุดที่กำหนด เศษอาหารที่ได้จากการแยกขยะ และใบไม้แห้ง จะนำมาทำปุ๋ยหมักชีวภาพ 3.ขยะอันตราย ใส่ภาชนะหรือถุงพลาสติกปิดมิดชิด รวบรวมนำมาทิ้งบริเวณจุดที่กำหนด 4.ขยะทั่วไป รวบรวมทิ้งในถังขยะทั่วไปที่จัดเตรียมไว้ สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 1,551 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 1,300 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 60 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 100 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 140 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 1.5 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 1.5 กิโลกรัม/เดือน ขยะติดเชื้อหลังคัดแยก 0.2 กิโลกรัม/เดือน
ในการนี้มี นายสาโรจน์ พลฤทธิ์ ผู้อำนวยการเขตดอนเมือง พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตดอนเมือง สำนักสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี #บริหารจัดการดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)