Search
Close this search box.
รวบรัดขั้นตอนงานทะเบียนบัตร ติดตามระบบ BMA-TAX แยกขยะเขตหลักสี่ คุมเข้มฝุ่นจิ๋วไซต์งานพลัมคอนโด ชูคัดแยกขยะโรงเรียนวัดหลักสี่ สำรวจสวนหน้าสน.ทุ่งสองห้อง จัดระเบียบผู้ค้าตลาดท่าทราย

(24 ต.ค.66) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตหลักสี่ ประกอบด้วย

ตรวจเยี่ยมการให้บริการประชาชนของฝ่ายทะเบียน ภายในศูนย์บริหารราชการ ฉับไวใสสะอาด (Bangkok Fast & Clear : BFC) เขตหลักสี่ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สอบถามถึงภาพรวมของระยะเวลาในการให้บริการประชาชน ตั้งแต่กดรับบัตรคิวจนเสร็จสิ้นขั้นตอนการทำงาน ไม่รวมเวลารอคอย ซึ่งควรใช้ระยะเวลาไม่เกิน 15 นาที โดยขึ้นอยู่กับจำนวนประชาชนที่มารับบริการในแต่ละวัน ประสิทธิภาพของระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่ใช้ปฏิบัติงาน ปัญหาและอุปสรรคที่ส่งผลให้งานบริการเกิดความล่าช้า โดยให้เขตฯ พิจารณาหาแนวทางรวบรัดขั้นตอนการทำงานเข้าด้วยกัน เพื่อให้ประชาชนที่มาติดต่อรับบริการงานทะเบียนได้รับความสะดวกและรวดเร็ว

จากนั้นได้ติดตามการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA-TAX) ในการจัดเก็บรายได้ ซึ่งเขตฯ มีที่ดิน 38,228 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 57,836 แห่ง ห้องชุด 18,800 ห้อง สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 114,864 รายการ สำรวจครบทั้งหมดแล้ว โดยสอบถามถึงปัญหาและอุปสรรคในการจัดเก็บภาษีรายได้ ศักยภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน ประสิทธิภาพระบบเครือข่ายทั้งแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) จำนวนไปรษณีย์ตีกลับ พร้อมทั้งให้คำแนะนำในการจัดเก็บภาษีประเภทต่าง ๆ เน้นย้ำการทำงานด้วยความรอบคอบโปร่งใส เพื่อให้การจัดเก็บภาษีรายได้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด

พร้อมกันนี้ได้สอบถามถึงการคัดแยกขยะ สำนักงานเขตหลักสี่ มีข้าราชการและบุคลากร 210 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล จัดถังรองรับมูลฝอยรีไซเคิลไว้ในแต่ละชั้น แต่ละฝ่ายจะคัดแยก แม่บ้านแต่ละชั้นจัดเก็บทุกวัน 2.ขยะอินทรีย์ จัดถังรองรับเศษอาหาร แต่ละฝ่ายจะคัดแยก แม่บ้านแต่ละชั้นจะนำเศษอาหารมาทิ้งที่ถังรองรับเศษอาหารบริเวณลานจอดรถมูลฝอย ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ จัดเก็บและนำไปทำปุ๋ยแห้ง 3.ขยะอันตราย จัดถังรองรับมูลฝอยอันตรายบริเวณลานจอดรถมูลฝอย โดยรวบรวมนำส่งกำจัดเดือนละครั้ง 4.ขยะทั่วไป จัดถังรองรับมูลฝอยทั่วไปบริเวณลานจอดรถมูลฝอย แต่ละฝ่ายจะคัดแยก แม่บ้านแต่ละชั้นจัดเก็บทุกวัน สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกรวมทั้งหมด 2,350 กิโลกรัม/เดือน (ข้อมูลเดือนกันยายน 2566) ขยะทั่วไปหลังคัดแยก 767 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 560 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 200 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 5 กิโลกรัม/เดือน ขยะติดเชื้อหลังคัดแยก 2 กิโลกรัม/เดือน

ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการพลัมคอนโด แจ้งวัฒนะ-ดอนเมือง ซึ่งเป็นการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยความสูง 8 ชั้น จำนวน 2 อาคาร ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้รับจ้างให้ติดตั้งเครื่องพ่นละอองน้ำโดยรอบ จัดทำบ่อล้างทำความสะอาดล้อรถบรรทุกบริเวณทางเข้าออกโครงการ นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ โรงเรียนวัดหลักสี่ (ทองใบทิวารีวิทยา) พื้นที่ 4 ไร่ 2 งาน 76 ตารางวา มีครูบุคลากรและนักเรียน 804 คน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2559 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ เศษอาหาร จะมีเกษตรกรมารับไป และบางส่วนนำไปทำปุ๋ยหมัก เศษกิ่งไม้ใบไม้ จะเก็บรวบรวมที่จุดทำปุ๋ยหมัก เปลือกไข่ นำมาทำกระถางปลูกต้นไม้ 2.ขยะรีไซเคิล โรงเรียนมีโครงการธนาคารขยะ 3.ขยะทั่วไป นัดหมายเขตฯ เข้าจัดเก็บขยะที่จุดพักขยะในโรงเรียน 4.ขยะอันตราย รวบรวมบริเวณจุดพักขยะ เมื่อมีปริมาณมากจะแจ้งเขตฯ เข้าจัดเก็บ สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกรวมทั้งหมด 1,150 กิโลกรัม/เดือน (ข้อมูลเดือนกันยายน 2566) ขยะทั่วไปหลังคัดแยก 863 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 35 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 250 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 0.5 กิโลกรัม/เดือน ขยะติดเชื้อหลังคัดแยก 1 กิโลกรัม/เดือน

สำรวจพื้นที่บริเวณหน้าสถานีตำรวจนครบาลทุ่งสองห้อง พื้นที่ 100 ตารางวา กรรมสิทธิ์เป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยเขตฯ ได้ประสานขอใช้ที่ดินเพื่อจัดทำสวน 15 นาที สวนสาธารณะแห่งใหม่ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงพื้นที่สีเขียวใกล้บ้านได้ภายใน 15 นาที หรือระยะทางในการเดิน 800 เมตร ขณะนี้อยู่ระหว่างสำรวจพื้นที่เป้าหมายและประชาชนที่อาศัยบริเวณใกล้เคียง สำรวจต้นไม้และออกแบบสวนให้เหมาะสมกับพื้นที่ จากนั้นจะดำเนินการปรับพื้นที่และปรับปรุงภูมิทัศน์ตามแบบต่อไป ที่ผ่านมาเขตฯ ได้ดำเนินการจัดทำสวน 15 นาที แล้วเสร็จ 2 แห่ง ได้แก่ สวนหมู่บ้านจัดสรรรถไฟ พื้นที่ 330 ตารางเมตร และสวนหมู่บ้านเจริญทรัพย์ พื้นที่ 142.5 ตารางเมตร อยู่ระหว่างดำเนินการ 1 แห่ง คือสวนซอยวิภาวดีรังสิต 62 พื้นที่ 2 งาน 25 ตารางวา สำหรับสวนเดิมที่เขตฯ ดูแลบำรุงรักษา 3 แห่ง ได้แก่ สวนสาธารณะทุ่งสองห้อง พื้นที่ 8 ไร่ 10.60 ตารางวา สวนสาธารณะบึงสีกัน พื้นที่ 11 ไร่ และสวนหย่อมเคหะชุมชนบางบัว พื้นที่ 1 ไร่ 2 งาน 53 ตารางวา

ตรวจความเรียบร้อยพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณตลาดท่าทราย เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 5 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 149 ราย ได้แก่ 1.ตลาดท่าทราย ตั้งแต่โรงเรียนการเคหะท่าทราย ถึงศูนย์เยาวชนท่าทราย ผู้ค้า 57 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-09.00 น. 2.ซอยงามวงศ์วาน 47 ตั้งแต่แยกชินมณี ถึงแยกภาสยา ผู้ค้า 23 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-09.00 น. 3.เคหะทุ่งสองห้อง (ถนนกำแพงเพชร 6 ซอย 7) ตั้งแต่หน้าตลาดด้านซ้าย ถึงหน้าตลาดด้านขวา ผู้ค้า 17 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-09.00 น. 4.ซอยวิภาวดี 64 ตั้งแต่ปากซอยวิภาวดีรังสิต 64 ถึงท้ายซอยวิภาวดีรังสิต 64 ผู้ค้า 40 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-17.00 น. และ 5.ฝั่งตรงข้ามวัดหลักสี่ ตั้งแต่ปากทางเข้าวัดหลักสี่ ถึงแนวกำแพงวัดหลักสี่ ผู้ค้า 12 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-17.00 น. ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยบริเวณพื้นที่ทำการค้า กวดขันผู้ค้าไม่ให้มีการตั้งวางสินค้ารุกล้ำเข้ามาในทางเท้า ขอความร่วมมือผู้ค้าให้เก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน รวมถึงสำรวจพื้นที่ว่างที่มีความเหมะสมหรือตลาดนัดของเอกชน เพื่อจัดทำ Hawker Center ตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยเน้นจุดที่มีความต้องการของผู้บริโภค อยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม มีจุดล้างทำความสะอาดภาชนะ จุดคัดแยกขยะและกำจัดขยะรวม เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบในพื้นที่ ผู้ค้าและประชาชนสามารถใช้ทางเท้าร่วมกันได้อย่างสะดวกและปลอดภัย

ในการลงพื้นที่วันนี้มี นางสมฤดี ลันสุชีพ ผู้อำนวยการเขตหลักสี่ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตหลักสี่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล

#บริหารจัดการดี #สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี
—–  (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200