Search
Close this search box.
กทม. ชี้แจงความคืบหน้ากรณีเหตุการณ์การระบาดโรคอาหารเป็นพิษ รร.ไทยนิยมสงเคราะห์ เขตบางเขน และสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในกทม.

 

(18 ก.ย.66) นายแพทย์สุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย เปิดเผยถึงความคืบหน้าเหตุการณ์การระบาดโรคอาหารเป็นพิษ โรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ เขตบางเขน และสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 20/2566 โดยมีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุม ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า

 

 

ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กล่าวว่า เนื่องจากวันที่ 8 กันยายน 2566 พบว่าเด็กมีอาการป่วยอาหารเป็นพิษประมาณ 40 คนต้องนอนโรงพยาบาลคืนเดียว 8 คน และรับการรักษาที่ผู้ป่วยนอก 32 คน ผลจากการสอบสวนโรคพบว่า ตรวจพบเชื้อโรคบางตัวที่น่าจะเป็นสาเหตุทำให้อาหารเป็นพิษครั้งนี้ ได้แก่ เชื้อ Aeromonas และ Staphylococcus ซึ่งเชื้อโรคเหล่านี้จะปนเปื้อนอยู่ในอาหารและน้ำดื่ม หลังจากเกิดเหตุขึ้นได้ส่งทีมสำนักอนามัยร่วมกับสำนักการศึกษาลงไปเร่งรัดเรื่องมาตรการต่างๆ ได้แก่ ผู้ประกอบอาหาร แม่ครัวพบเชื้อแต่ไม่มีอาการ ให้หยุดกิจกรรมที่ต้องสัมผัสอาหาร 10 วัน นับจากวันที่ตรวจ สุขาภิบาลอาหาร ทำความสะอาดอุปกรณ์ สถานที่ อบรมการสุขาภิบาลอาหาร ให้แก่ผู้ประกอบอาหารและบุคลากรที่ดูแลอาหารของโรงเรียน หากต้องทำอาหารล่วงหน้าเป็นเวลานาน แนะนำอุ่นอาหารจนเดือดทุก 2 ชั่วโมง สุขาภิบาลน้ำ ทำความสะอาดตู้กดน้ำดื่มที่พบเชื้อและตู้ที่มีลักษณะเดียวกันทั้งหมดพร้อมปิดการใช้งานตู้กดน้ำไปจนกว่าผลแล็บจะออก (ผลออก 20 ก.ย. 66) แนะนำเปลี่ยนเครื่องกรองน้ำที่มีอายุการใช้งานนานและส่งตรวจน้ำให้กับตู้กดน้ำดื่มที่พบเชื้อ 2 จุด เก็บตัวอย่างน้ำดื่ม น้ำใช้ เครื่องกรองน้ำ ถังเก็บน้ำบนดิน และถังเก็บน้ำดาดฟ้า ส่งตรวจเพิ่มเติมจำนวน 16 ตัวอย่าง (ผลออก 20 ก.ย. 66) การประปานครหลวงตรวจสอบคุณภาพน้ำและท่อประปา และจะมีการนัดประชุมติดตามผลในวันที่ 20 ก.ย.66

 

 

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า จะมีมาตรการในการสุ่มตรวจเรื่องความสะอาดของอาหารให้ถี่ขึ้น หรือมี Testkit ที่ให้โรงเรียนสามารถตรวจสอบเองได้ รวมถึงตรวจสอบน้ำดื่มในโรงเรียน เนื่องจากภายในโรงเรียนมีตู้น้ำดื่มบริการนักเรียน โดยต้องทำเป็นแผนครบวงจรดำเนินการทุกโรงเรียนและเป็นรูปธรรมต่อไป ทั้งนี้ถึงจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงโรงเรียนเดียว แต่เราจะนำเอาปัญหามาขยายผล ต่อไปจะไม่ใช่เฉพาะโรงเรียนแต่รวมถึงร้านอาหารที่อยู่รอบๆ โรงเรียนด้วย

ด้านสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในกทม. (1 ม.ค. – 31 ส.ค.66)
ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กล่าวว่า ปีนี้กรุงเทพมหานครก็มีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่เช่นเดียวกันกับจังหวัดอื่นๆ ในประเทศไทย ซึ่งการระบาดของไข้หวัดใหญ่เริ่มเจอตั้งแต่เดือนกรกฎาคม เมื่อต้นเดือนกันยายนได้ตรวจสอบเดือนสิงหาคมพบว่ามีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น โดยมีการระบาดเมื่อเข้าช่วงฤดูฝน ซึ่งโรคไข้หวัดใหญ่ถือเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังไม่ใช่โรคติดต่ออันตราย สำหรับช่วงอายุจะพบบ่อยในเด็ก ช่วงอายุ 0 – 16 ปี โดยที่ไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิตเนื่องจากในปัจจุบันโรคไข้หวัดใหญ่สามารถรักษาได้ ทั้งนี้ทั้งประเทศเรามีโครงการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ตั้งเป้าหมายการให้บริการในกทม. 317,650 คน มีจำนวนผู้รับบริการ 263,005 คน (82.80%) โดยมีข้อบ่งชี้คือฉีดกลุ่มเด็ก กลุ่มคนไข้มีโรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และจะมีการเร่งรัดให้ครบ100% ให้เร็วที่สุด หากประชาชนต้องการรับวัคซีนสามารถรับบริการได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขทุกแห่ง โดยสามารถจองผ่านแอปฯเป๋าตัง หรือ walk -in ได้

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวต่อไปว่า หลังจากนี้ต้องดูเรื่องความเพียงพอของวัคซีน และเนื่องจากตัวเลขที่สูงขึ้นในเดือนที่ผ่านมา จะมีการประกาศเป็นโรคติดต่อหรือไม่อย่างไรนั้น ต้องให้คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครดูตัวเลขอีกครั้งหนึ่ง
———–

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200