(11 ก.ย.66) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตคันนายาว ประกอบด้วย
ตรวจเยี่ยมการให้บริการประชาชนของฝ่ายทะเบียน ภายในศูนย์บริหารราชการ ฉับไวใสสะอาด (Bangkok Fast & Clear : BFC) เขตคันนายาว ตรวจสอบระยะเวลาในการให้บริการประชาชนที่มาติดต่องานทะเบียนบัตรประจำตัวประชาชน เริ่มจากกดรับบัตรคิวจนเสร็จสิ้นขั้นตอนทั้งหมด ไม่รวมเวลารอคอย ซึ่งควรใช้ระยะเวลาไม่เกิน 15 นาที โดยขึ้นอยู่กับจำนวนประชาชนที่มารับบริการในแต่ละวัน ปัญหาและอุปสรรคที่ส่งผลให้งานบริการเกิดความล่าช้า ประสิทธิภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่มาติดต่อราชการให้ได้รับบริการด้วยความรวดเร็ว
จากนั้นติดตามการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA-TAX) ในการจัดเก็บรายได้ การบันทึกข้อมูลรายการภาษี การค้นหาและแก้ไขข้อมูลผู้เสียภาษี ศักยภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอายุในการใช้งาน ประสิทธิภาพระบบเครือข่ายแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) ซึ่งเขตฯ มีที่ดิน 43,313 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 46,640 แห่ง ห้องชุด 11,551 ห้อง สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 101,504 รายการ สำรวจครบทั้งหมดแล้ว ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สอบถามถึงปัญหาและอุปสรรคในการจัดเก็บภาษีรายได้ และให้คำแนะนำในการใช้งานระบบต่างๆ ที่มีการปรับปรุงขึ้นใหม่ เพื่อให้การจัดเก็บภาษีเป็นไปอย่างโปร่งใสและตรงกรอบตามเป้าหมายที่กำหนด
พร้อมกันนี้ได้สอบถามถึงการคัดแยกขยะ ภายในสำนักงานเขตคันนายาว มีข้าราชการและบุคลากร 205 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล ตั้งถังขยะแยกประเภทพื้นที่ส่วนกลาง ตั้งกล่องรองรับกระดาษใช้แล้ว 2 หน้า ประจำทุกฝ่าย พนักงานทำความสะอาดจัดเก็บทุกวัน โดยนำไปไว้จุดรับขยะรีไซเคิล 2.ขยะอินทรีย์ ตั้งถังขยะสำหรับใส่เฉพาะเศษอาหารให้กับทุกฝ่าย พนักงานทำความสะอาดจัดเก็บขยะเศษอาหารทุกวัน โดยนำมาเทบริเวณถังขยะรักษ์โลก 3.ขยะอันตราย มีจุดทิ้งขยะบริเวณชั้น 1 และจุดพักขยะข้างแปลงผักฝ่ายรักษาความสะอาดฯ เพื่อให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่นำมาทิ้งตรงจุดที่จัดไว้ พนักงานเก็บขนมูลฝอยจะรวบรวมนำส่งศูนย์กำจัดมูลฝอยสายไหม เป็นประจำทุกเดือน 4.ขยะทั่วไป ตั้งถังขยะทั่วไปประจำทุกฝ่าย พื้นที่ส่วนกลางทุกชั้น พนักงานทำความสะอาดจัดเก็บขยะ และนำมาทิ้งที่จุดพักขยะ รถเก็บขนมูลฝอยจะนำไปส่งที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยสายไหม สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 1,920 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 1,786 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 88 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 43 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 4 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 0.5 กิโลกรัม/เดือน
ตรวจความเป็นระเบียบพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณริมถนนสวนสยาม เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 6 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 74 ราย ดังนี้ 1.ถนนคู้บอน ตั้งแต่ปากซอยถนนคู้บอน จุดสิ้นสุดเลยปากซอยมา 100 เมตร ผู้ค้า 11 ราย 2.ริมถนนหน้าสวนคันนายาวรมณีย์ ตั้งแต่หน้าร้าน 7-11 (แยกสวนสยาม 1) ถึงคลองลำราง (คลองลำเกร็ด) ผู้ค้า 21 ราย 3.ถนนรามอินทรา ตั้งแต่หน้าห้างแฟชั่นไอแลนด์ ถึงบริเวณหน้าห้าง 20 เมตร ผู้ค้า 14 ราย 4.ถนนเสรีไทย ตั้งแต่ปากซอยเสรีไทย 61 จุดสิ้นสุดจากปากซอยเข้ามา 40 เมตร ผู้ค้า 11 ราย 5.ริมถนนสวนสยาม ตั้งแต่หน้าสรรพากรพื้นที่ 19 ถึงตลาดสวนสยาม ผู้ค้า 9 ราย 6.บริเวณแยกอมรพันธ์ถึงซอยสวนสยาม 30 ตั้งแต่ปากทางถนนสวนสยาม 20 เมตร ผู้ค้า 8 ราย ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มอบหมายให้เขตฯ กำชับผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสินค้าหรืออุปกรณ์ทำการค้ารุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ทางเท้า รวมถึงขอความร่วมมือผู้ค้าให้จัดเก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ ผู้ค้าและประชาชนสามารถใช้ทางเท้าร่วมกันได้อย่างสะดวกและปลอดภัย
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการเมดิคอลคอมเพล็กซ์ รามอินทรา ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาล ความสูง 17 ชั้น และชั้นใต้ดิน 1 ชั้น จำนวน 1 อาคาร ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้รับจ้างให้ดำเนินการปรับปรุงพื้นด้านหน้าโครงการ ให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย ไม่ให้เป็นหลุมเป็นบ่อมีน้ำขัง ซึ่งก่อให้เกิดการสะสมของฝุ่น PM2.5 นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมสถานประกอบการไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ โรงเรียนจินดาบำรุง มีข้าราชการครู บุคลากร และนักเรียน 1,100 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล นำไปผลิตสื่อการสอน ประดิษฐ์ของเล่นของใช้ กล่องนมรักษ์โลก และจำหน่ายธนาคารขยะ 2.ขยะอินทรีย์ จัดทำแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับการกำจัดขยะอินทรีย์ ขยะบางส่วนเขตฯ มารับไปทำปุ๋ยหมัก 3.ขยะอันตราย และ 4.ขยะทั่วไป เขตฯ ดำเนินการจัดเก็บ สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 200 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 80 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 5 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 70 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 1 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 1 กิโลกรัม/วัน
ในการลงพื้นที่วันนี้มี คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตคันนายาว สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#บริหารจัดการดี #สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี
—– (จิรัฐคม…สปส. รายงาน)