เตรียมระบบ BMA-TAX จัดเก็บรายได้ เพิ่มประสิทธิภาพงานทะเบียนบัตร ตรวจแยกขยะเขตตลิ่งชัน ชมคัดแยกขยะลุมพินีเพลส จัดระเบียบผู้ค้าถนนฉิมพลี สุ่มตรวจควันดำลิกไนท์ทัวร์ ส่องสวนใต้สะพานข้ามคลองบางขุนศรี ปลูกต้นเสลาสวนน้ำตลิ่งชัน
(7 ก.ย.66) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตตลิ่งชัน ประกอบด้วย
ติดตามการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA-TAX) ในการจัดเก็บรายได้ การบันทึกข้อมูลรายการภาษี การค้นหาและแก้ไขข้อมูลผู้เสียภาษี ศักยภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอายุในการใช้งาน ประสิทธิภาพระบบเครือข่ายแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) ซึ่งเขตฯ มีที่ดิน 50,995 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 43,509 แห่ง ห้องชุด 3,077 ห้อง สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 97,581 รายการ สำรวจครบทั้งหมดแล้ว ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สอบถามถึงปัญหาและอุปสรรคในการจัดเก็บภาษีรายได้ เพื่อให้การจัดเก็บภาษีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามกรอบเป้าหมายที่กำหนด
จากนั้นได้ตรวจเยี่ยมการให้บริการประชาชนของฝ่ายทะเบียน ภายในศูนย์บริหารราชการ ฉับไวใสสะอาด (Bangkok Fast & Clear : BFC) เขตตลิ่งชัน ระยะเวลาในการให้บริการประชาชนที่มาติดต่องานทะเบียนบัตรประจำตัวประชาชน เริ่มจากกดรับบัตรคิวจนเสร็จสิ้นขั้นตอนทั้งหมด ไม่รวมเวลารอคอย ซึ่งควรใช้ระยะเวลาไม่เกิน 15 นาที โดยขึ้นอยู่กับจำนวนประชาชนที่มารับบริการในแต่ละวัน ปัญหาและอุปสรรคที่ส่งผลให้งานบริการเกิดความล่าช้า ประสิทธิภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและให้ได้รับบริการด้วยความรวดเร็ว
พร้อมกันนี้ได้สอบถามถึงการคัดแยกขยะภายในสำนักงานเขตตลิ่งชัน ซึ่งเขตฯ มีข้าราชการและบุคลากร 200 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล มีถังขยะรีไซเคิลในแต่ละชั้นของอาคาร ในช่วงเย็นแม่บ้านจะเก็บมารวบรวมไว้บริเวณจุดพักขยะรีไซเคิล ตามโครงการมือวิเศษกรุงเทพ แยกเพื่อให้พี่ไม้กวาด และกิจกรรมทอดผ้าป่ารีไซเคิล 2.ขยะอินทรีย์ ในแต่ละชั้นจะมีจุดพักขยะเศษอาหารแยกออกจากขยะทั่วไป แต่ละฝ่ายจะแยกขยะเศษอาหาร โดยเทลงถังที่เตรียมไว้ ช่วงเย็นแม่บ้านจะนำลงมาเทบริเวณจุดพักเศษอาหาร เพื่อรวบรวมให้เกษตรกรมารับไปเลี้ยงปลาที่ จ.ปทุมธานี 3.ขยะอันตราย และ 4.ขยะทั่วไป แม่บ้านเก็บรวบรวมมาไว้บริเวณจุดพักขยะ ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ นำส่งศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 95 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 50 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 2 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 10 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 5 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 45 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 5 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 5 กิโลกรัม/เดือน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ หาแนวทางเพิ่มจำนวนเที่ยวรถในการจัดเก็บขยะเป็น 2 ครั้ง/สัปดาห์ เพื่อป้องกันปัญหาขยะตกค้าง
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ อาคารชุดลุมพินีเพลส ถนนบรมราชชนนี มีประชากร 1,900 คน 966 หลังคาเรือน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะตั้งแต่ปี 2564 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ คัดแยกขยะอินทรีย์มาทำน้ำหมักชีวภาพ เพื่อไว้ใช้ชำระล้างท่อระบายน้ำ ห้องพักขยะ และใช้รดน้ำต้นไม้กระถางแขวนในอาคารชุด 2.ขยะรีไซเคิล กิจกรรมโครงการคัดแยกขยะภายในอาคารและห้องพักอาศัย เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ และเป็นรายได้ให้แก่พนักงาน 3.ขยะทั่วไป พนักงานจะเก็บรวบรวมไว้บริเวณห้องพักขยะ เพื่อให้เขตฯ จัดเก็บ 4.ขยะอันตราย กำหนดจุดทิ้งรวม เพื่อให้เขตฯ นำไปทำลายอย่างถูกวิธี สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 600 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 500 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 5 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 10 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 1 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 1 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 3 กิโลกรัม/เดือน
สำรวจพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณข้างสถานีตำรวจนครบาลตลิ่งชัน ถนนฉิมพลี เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน 4 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 48 ราย ดังนี้ 1.ถนนฉิมพลี ผู้ค้า 40 ราย 2.ถนนพุทธมณฑลสาย 1 ผู้ค้า 5 ราย 3.ถนนสวนผัก ผู้ค้า 2 ราย และ 4.ถนนทุ่งมังกร ผู้ค้า 1 ราย ที่ผ่านมาเขตฯ ได้ย้ายผู้ค้าเข้าไปทำการค้าในที่เอกชน และยกเลิกจุดทำการค้า 2 จุด ผู้ค้า 77 ราย ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มอบหมายให้เขตฯ กำชับผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสินค้าหรืออุปกรณ์ทำการค้ารุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ทางเท้า รวมถึงขอความร่วมมือผู้ค้าให้จัดเก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย ผู้ค้าและประชาชนสามารถใช้ทางเท้าร่วมกันได้อย่างสะดวกและปลอดภัย
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 บริษัท ลิกไนท์ทัวร์ จำกัด ถนนบรมราชชนนี ซึ่งเป็นบริษัทรถทัวร์ขนาดใหญ่ ให้บริการรับส่งผู้โดยสารระยะทางไกลจากกรุงเทพมหานครล่องสู่ภาคใต้ มีการใช้รถยนต์เครื่องยนต์ดีเซล โดยเขตฯ ได้ใช้เครื่องตรวจวัดควันดำด้วยระบบความทึบแสง จากนั้นเร่งเครื่องยนต์อย่างรวดเร็วจนสุดคันเร่ง และคงไว้ที่ความเร็วสูงสุดไม่น้อยกว่า 2 วินาที ทำการตรวจวัดค่าควันดำ 2 ครั้ง ใช้ค่าสูงสุดที่วัดได้เป็นเกณฑ์ตัดสิน สำหรับค่ามาตรฐานควันดำตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดมาตรฐานค่าควันดำของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยการอัด พ.ศ.2564 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 13 เมษายน 2565 กำหนดค่ามาตรฐานควันดำตรวจด้วยเครื่องมือวัดระบบความทึบแสงต้องไม่เกิน 30% และตรวจด้วยเครื่องมือวัดระบบกระดาษกรองต้องไม่เกิน 40% ส่วนค่ามาตรฐานเสียงระดับเสียงปลายท่อไอเสียรถยนต์ต้องไม่เกิน 100 เดซิเบล ทั้งนี้ เขตฯ จะสุ่มตรวจสังเกตจากสภาพรถยนต์และลักษณะของควันที่เกิดขึ้น เพื่อป้องกันการเกิดมลพิษจากแหล่งกำเนิด และประชาสัมพันธ์ให้พนักงานประจำรถยนต์ดูแลรักษาเครื่องยนต์ให้มีประสิทธิภาพอยู่เสมอ
สำรวจสวน 15 นาที สวนหย่อมบริเวณใต้สะพานข้ามคลองบางขุนศรี ถนนพรานนก-พุทธมณฑล ขนาดพื้นที่ 3 ไร่ 3 งาน 57 ตารางวา ซึ่งเป็นสวนสาธารณะเดิม เขตฯ ดำเนินการพัฒนาและปรับปรุงให้ดีขึ้น ประกอบด้วย สนามหญ้า ทางเดินเท้าสำหรับเดิน-วิ่งออกกำลังกาย สวนหย่อมจุดนั่งพักผ่อนริมน้ำ และจุดถ่ายภาพ ปลูกต้นไม้ทดแทนของเดิมที่ตาย การขยายพันธุ์ไม้คลุมดิน เช่น ต้นหัวใจม่วง นำมาปลูกทดแทนในส่วนที่ทรุดโทรมและตาย เพิ่มจุดนั่งพักผ่อนริมคลองบางขุนศรี โดยนำเก้าอี้ที่ทำจากวัสดุรีไซเคิลมาตั้งวางให้ประชาชนนั่งพักผ่อน และปรับเปลี่ยนรูปแบบจุดถ่ายภาพใหม่เพื่อให้มีความสวยงาม ทั้งนี้ สวนดังกล่าวได้รับรางวัลการออกแบบสวน 15 นาที ของกลุ่มเขตกรุงธนเหนือ รองชนะเลิศอันดับ 2 นอกจากนี้ ในปี 2567 เขตฯ จะดำเนินการจัดทำสวนเพิ่มเติมอีก 1 แห่ง บริเวณทางออกถนนกาญจนาภิเษก (จุดกลับรถใต้สะพานข้ามถนนกาญจนาภิเษก) ถนนพรานนก-พุทธมณฑล พื้นที่ 1 ไร่ 1 งาน 44.86 ตารางวา
ติดตามความก้าวหน้าสวน 15 นาที สวนน้ำตลิ่งชัน พื้นที่ 12 ไร่ บริเวณริมถนนพรานนก-พุทธมณฑล ตัดถนนพุทธมณฑลสาย 1 เขตตลิ่งชัน ซึ่งเขตฯ ได้ดำเนินการพัฒนาเป็นสวน 15 นาที โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักการโยธาปรับพื้นดิน และดำเนินการ ดังนี้ ยกท่อ Box Culvert เชื่อมรอยต่อท่อ Box Culvert เทดาดคอนกรีตหน้าท่อ Box Culvert และขนย้ายดิน สำนักการระบายน้ำขุดลอกคูน้ำ โดยดำเนินการ ดังนี้ ขุดลอกตกแต่งคูระบายน้ำโดยรอบ ความลึก -0.70 เมตร (รทก.) ขุดลอกบ่อน้ำความลึก -1.20 เมตร (รทก.) ก่อสร้างทำนบไม้ชั่วคราว 1 แห่ง ขุดวางท่อ Box Culvert 1 แห่ง ความลึกกันท่อ -1.20 เมตร (รทก.) ขุดวางท่อเชื่อมคูระบายน้ำและบ่อน้ำ และขนย้ายดิน สำนักสิ่งแวดล้อมประสานกลุ่ม We!Park ออกแบบ Conception Design เพื่อให้เป็น pop-up park จัดสรรพื้นที่ให้มีความเหมาะสมและเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง เพื่อให้ประชาชนได้มีพื้นที่สำหรับออกกำลังกายหรือพักผ่อนหย่อนใจใกล้บ้าน ในโอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยผู้บริหารเขตตลิ่งชัน ร่วมปลูกต้นเสลา จำนวน 11 ต้น เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง สำหรับโครงการต้นไม้ล้านต้น เขตฯ กำหนดเป้าหมายปลูกต้นไม้ 3,000 ต้น ประกอบด้วย ไม้ยืนต้น 2,250 ต้น ปลูกแล้ว 1,677 ต้น ไม้พุ่ม 600 ต้น ปลูกได้ 1,098 ต้น ไม้เถา 150 ต้น ปลูกได้ 617 ต้น รวมทั้งสิ้น 3,392 ต้น คิดเป็นร้อยละ 113.06 นอกจากนี้ เขตฯ ร่วมกับโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ มีกำหนดปลูกต้นเหลืองหลวง จำนวน 500 ต้น ในเดือนกันยายน 2566
ในการลงพื้นที่วันนี้มี นางชดาวรรณ ป่าไม้ ผู้อำนวยการเขตตลิ่งชัน พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตตลิ่งชัน สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#บริหารจัดการดี #สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)