(29 มิ.ย.66) ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า): นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวในโอกาสให้การต้อนรับคณะทำงานตรวจประเมินรางวัล การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม วันนี้(29 มิ.ย.66) ว่า กรุงเทพมหานครยินดีต้อนรับคณะตรวจประเมินทุกท่าน ปัจจุบันผู้ว่าฯชัชชาติ ได้ปรับระบบกระบวนการทำงานให้ประชาชนได้ทราบทั้งหมดและมีความโปร่งใส ซึ่งกทม.จะตั้งใจทำงานให้มีประสิทธิภาพตลอดไป รวมถึงปลัดกรุงเทพมหานครได้รายงานโครงสร้างการบริหารงานของกรุงเทพมหานครต่อคณะกรรมการตรวจประเมินด้วย
ด้าน ดร.อรพินท์ สพโชคชัย ประธานการตรวจประเมินรางวัล สำนักงานก.พ.ร. กล่าวว่า ยินดีที่ได้เข้ามาตรวจประเมินผลงานของกรุงเทพมหานคร ซึ่งหน่วยงานกทม.ได้ผ่านเข้ารอบระดับดีเด่นและระดับดี รางวัลเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้หลายหน่วยงานดำเนินภารกิจได้อย่างราบรื่น และประสบผลสำเร็จ เรื่องของการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนไม่ใช่การจัดเวทีการมีส่วนร่วมกับประชาชนเท่านั้น แต่เป็นการทำงานโดยรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและตอบสนองประชาชนได้มากขึ้น
กรุงเทพมหานครได้ส่งผลงานเข้าประเมินรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2566 สาขาบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม สาขาบริการภาครัฐ และผ่านเกณฑ์การประเมินรางวัล 2 ผลงาน คือ ผลงาน “BMA เปิดระบบ เปิดใจ ใกล้ชิดประชาชน” ของสำนักงานก.ก. ที่อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับรางวัล ระดับดีเด่น สาขาบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทเปิดใจใกล้ชิดประชาชน และผลงาน “โครงการ Smart OPD” ของสำนักการแพทย์ ที่อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับรางวัล “ระดับดี” สาขาบริการภาครัฐ ประเภทพัฒนาการบริการ โดยในวันนี้เป็นการประเมินผลงานที่จะได้รับรางวัลระดับดีเด่นโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เพื่อยืนยันผลการประเมิน ณ พื้นที่ปฏิบัติงาน (Site Visit)
ปลัดกรุงเทพมหานคร ได้นำเสนอความเป็นมาของผลงาน “BMA เปิดระบบ เปิดใจ ใกล้ชิดประชาชน” แนวทางการเปิดระบบราชการ (Open Governance) ของกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย 7 ส่วน ดังนี้
1.การเปิดเผยข้อมูล โดยมีช่องทางการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายและเท่าเทียม ได้แก่ ช่องทาง Offline เช่น สายด่วน กทม. 1555 ช่องทาง Online เช่น Traffy Fondue
2. การจัดช่องทางการให้บริการและเข้าถึงข้อมูลสำหรับกลุ่มเปราะบาง
3.การให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาเมือง โดยแจ้งปัญหาและให้ความคิดเห็นมายังกรุงเทพมหานคร
4.การยกระบบราชการที่เกี่ยวข้องกับประชาชนเข้าสู่ระบบ Online เพื่ออำนวยความสะดวกในการบริการให้แก่ประชาชน ลดขั้นตอนและความซับซ้อนของกระบวนการ และสร้างความโปร่งใส ตรวจสอบได้
5.การส่งเสริมความโปร่งใสและต่อต้านทุจริต
6.การสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม
7.การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อพัฒนาการให้บริการและทำงานเชิงรุก
จากนั้นปลัดกรุงเทพมหานครได้ตอบข้อซักถามของคณะกรรมการตรวจประเมิน ในประเด็นต่างๆ อาทิ เรื่องการรับข้อมูลจากเด็ก (สภาคนรุ่นใหม่)และนำมาปฏิบัติ เรื่องของความโปร่งใสในการยื่นขออนุญาต การขยายผลของโครงการTraffy Fondue การปรับปรุงรูปแบบการให้บริการแบบเชิงรุก โดยเชื่อมโยงกับ Open Governance และหาวิธีในการสื่อสารกับประชาชนได้รับทราบอย่างทั่วถึง เรื่องของการเพิ่มคุณภาพสถานศึกษาทั้งในเรื่องของกายภาพและคุณภาพการจัดการศึกษา ซึ่งกรุงเทพมหานคร มีทั้งโครงการSand Box โครงการ Saturday school เพื่อให้เด็กทุกคนมีโอกาสเรียนรู้อย่างเท่าเทียมกัน การลดภาระครูให้น้อยลง คืนครูให้นักเรียนให้มากขึ้น ซึ่งกรุงเทพมหานครจะนำเรื่องการเปิดเผยข้อมูลมาสื่อสารให้ประชาชนและผู้ปกครองรับทราบและมีส่วนร่วมเพิ่มเติม การแก้ไขน้ำเสียตั้งแต่ต้นทาง การจัดการปัญหาขยะ เป็นต้น
——