(28 มิ.ย.66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมกิจกรรมการสร้างความเข้าใจในโครงการพัฒนาห้องเรียนดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้และโครงการปันน้ำใจให้น้องได้เรียนรู้ พร้อมเยี่ยมชมการสอนในห้องเรียนนำร่อง Active Learning ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และเปิดตัวเว็บไซต์ digitalclassroom.bangkok.go.th “คอมเก่าสู่คนใหม่ เรียนรู้ไกลไม่สิ้นสุด” ณ โรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ เขตบางเขน
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า โรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์เป็นความหวังของเราในการเปลี่ยนรูปแบบการศึกษา สิ่งที่ช่วยให้เราหลุดพ้นความเหลื่อมล้ำคือเรื่องการศึกษาและสาธารณสุข หากเด็กได้รับการศึกษาที่ดี ก็จะทำให้วงจรชีวิตจะดีขึ้น มีอาชีพที่ดีในอนาคต ในเรื่องสาธารณสุขก็เช่นกัน หากมีสุขภาพดีความเหลื่อมล้ำจะลดลง ทั้งนี้การศึกษาไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่การเอาเงินลงไปแล้วจะจบ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ครูก็เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้การศึกษาดีขึ้นได้
เราทำอย่างรอบคอบ ทำต้นแบบให้มั่นใจว่าจะมีปัญหาตรงไหนบ้าง ซึ่งพบว่าTabletไม่ดี ควรเปลี่ยนเป็นคอมพิวเตอร์ ซึ่งหากต้นแบบทำได้ดี การขยายครบทุกรร.ไม่ยากเลย หากถามว่าทำไม่ซื้อคอมพิวเตอร์ พบว่ามีปัจจัย 2 มิติ การรับบริจาคคือการหาภาคีแนวร่วม ให้ทุกคนมามีส่วนร่วมกับการพัฒนาการศึกษา แนวคิดของการรับบริจาคคือให้ทุกคนมาร่วมเป็นเครือข่าย หลายออฟฟิศมีคอมพิวเตอร์ที่ล้าสมัย ก็สามารถนำมาให้เด็กได้เพราะไม่ต้องใช้สเปคที่สูง การที่บริษัทบริจาคเครื่องจะเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ในการพัฒนาการศึกษา และอีกทางถือเป็นการReuseขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้ด้วย
“คอม 130,000 เครื่อง ไม่ได้เยอะอะไร ถือว่าเป็นchallengeดูว่า ทุกคนจะร่วมกันได้มากแค่ไหน โดยบริษัทหรือผู้ที่สนใจ สามารถเข้าไปดูข้อมูลรายละเอียดการบริจาคได้ที่เว็บไซต์ digitalclassroom.bangkok.go.th มูลนิธิกระจกเงา และจะขยายการรับบริจาคไปยังสำนักงานเขตต่อไป” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวว่า นโยบายDigital classroom เดิมเป็นนโนบายเพื่อจัดหาTablet เพื่อการเรียนรู้ แต่พอมาทำงานเห็นว่าคอมพิวเตอร์สามารถใช้งานได้ดีกว่า จึงเป็นที่มาการรับบริจาคคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้นักเรียนกทม.ตั้งแต่ระดับชั้นป.4-ม.ต้น มีเด็กนักเรียนประมาณ 130,000 คน ซึ่งช่วงวัยนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ กทม.จึงมีนโยบายเริ่มให้เด็กป.4ได้มีโอกาสใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนรู้เป้าหมายช่วงแรกได้ร่วมกับเอกชน จัดหาคอมพิวเตอร์จำนวนกว่า 2,200 เครื่อง และจะขยายให้ครบตามเป้าหมายต่อไป ทั้งนี้ต้องขอบคุณเครือข่ายที่ช่วยเหลือกทม.มาโดยตลอด
สำหรับแผนการจัดหาคอมพิวเตอร์ในโครงการพัฒนาห้องเรียนดิจิทัลของโรงเรียนสังกัดกทม. กำหนดแผนการดำเนินการ ดังนี้ ปี 66 จำนวน 2,177 เครื่อง ปี 67 จำนวน 12,500 เครื่อง ปี 68 จำนวน 43,642 เครื่อง ปี 69 จำนวน 71,580 เครื่อง รวมทั้งสิ้น 129,899 เครื่อง
กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการศึกษา ดำเนินโครงการพัฒนาห้องเรียนดิจิทัลโดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษา และผลิตสื่อการเรียนรู้ในปัจจุบันให้มีรูปแบบที่ทันสมัย หลากหลาย สามารถตอบสนองต่อการ
เรียนรู้ของนักเรียน และช่วยอำนวยความสะดวกในการจัดการเรียนการสอนให้แก่ครูผู้สอนได้ ซึ่งในปีที่ผ่านมานำร่องในการเรียนการสอนระดับชั้น ป.4 โรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ เขตบางเขน และกำหนดขยายผลเพิ่มเติมในปีนี้ให้ครบ 11 โรงเรียน ในพื้นที่ 11 เขต
สำหรับโครงการปันน้ำใจให้น้องได้เรียนรู้ เพื่อจัดหาคอมพิวเตอร์พกพาโดยไม่ใช้งบประมาณของทางราชการโดยขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ผู้มีความประสงค์ให้การสนับสนุน แก่นักเรียนโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครใช้ในการจัดการเรียนรู้ เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้จากสื่อการเรียนรู้ที่ทันสมัย เป็นปัจจัยส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ของนักเรียน
ผู้ร่วมกิจกรรมวันนี้ประกอบด้วย นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ภาคีเครือข่าย ได้แก่ ผู้แทนศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมการศึกษา ภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัทดิ เอสเคิร์ฟ จำกัด และมูลนิธิกระจกเงา พร้อมด้วย ผู้บริหารสำนักการศึกษา สำนักงานเขตบางเขน ผู้บริหารสถานศึกษา และตัวแทนครูโรงเรียนนำร่อง 11 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนราชบพิธ เขตพระนคร โรงเรียนบ้านบางกะปิ เขตบางกะปิ โรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ เขตบางเขน โรงเรียนวัดดุสิตาราม เขตบางกอกน้อย โรงเรียนชุมทางตลิ่งชัน เขตตลิ่งชัน โรงเรียนวัดบางปะกอก เขตราษฎร์บูรณะ โรงเรียนวัดพิชัย เขตบึงกุ่ม โรงเรียนวิชูทิศ เขตดินแดง โรงเรียนมัธยมนาคนาวาอุปถัมภ์ เขตสวนหลวง โรงเรียนตั้งพิรุฬห์ธรรม เขตทวีวัฒนา และโรงเรียนนาหลวง เขตทุ่งครุ
#เรียนดี