(27 มิ.ย. 66) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตพญาไท ประกอบด้วย
ติดตามการให้บริการประชาชนของฝ่ายทะเบียน ภายในศูนย์บริหารราชการ ฉับไวใสสะอาด (Bangkok Fast & Clear : BFC) เขตพญาไท ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สอบถามถึงระยะเวลาในการให้บริการประชาชนที่มาติดต่องานทะเบียนบัตรประจำตัวประชาชน ตั้งแต่กดรับบัตรคิวจนเสร็จสิ้นขั้นตอนทั้งหมด ปัญหาและอุปสรรคที่ส่งผลให้งานบริการเกิดความล่าช้า ประสิทธิภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เครื่องพิมพ์เอกสาร เครื่องผลิตบัตรประจำตัวประชาชน พร้อมทั้งให้คำแนะนำและแนวทางในการแก้ไขปัญหา เพื่อให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ประชาชนได้รับความสะดวกและรวดเร็วในการติดต่อราชการ จากนั้นได้ติดตามการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA-TAX) ในการจัดเก็บรายได้ การบันทึกข้อมูลรายการภาษี การค้นหาและแก้ไขข้อมูลผู้เสียภาษี ศักยภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอายุในการใช้งาน ประสิทธิภาพระบบเครือข่ายแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) ซึ่งเขตฯ มีที่ดิน 15,790 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 22,696 แห่ง ห้องชุด 22,548 ห้อง สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 61,034 รายการ สำรวจครบทั้งหมดแล้ว
พร้อมกันนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สอบถามถึงการคัดแยกขยะ ภายในอาคารสำนักงานเขตพญาไท มีข้าราชการและบุคลากร 346 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ คัดแยกขยะเศษอาหารใส่ภาชนะที่เตรียมไว้ จากนั้นนำขยะเศษอาหารใส่ถุงพลาสติกมัดปากถุงให้เรียบร้อย ใส่ในถังพักขยะเศษอาหาร (ถังสีเขียว) ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ จะนำขยะเศษอาหารใส่ในเครื่องกำจัดเศษอาหารตามรอบเวลา โดยใน 1 วัน จะใส่เศษอาหารไม่เกิน 5 กิโลกรัม เครื่องกำจัดเศษอาหารจะเดินเครื่องตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่วันจันทร์-วันศุกร์ ส่วนวันเสาร์จะหยุดใส่เศษอาหารลงในเครื่อง และวันอาทิตย์จะตักปุ๋ยเศษอาหารจากในเครื่องออกมาใส่ถุง พร้อมทำความสะอาดเครื่อง และเริ่มนำเศษอาหารใส่เครื่องใหม่ในเช้าวันจันทร์ 2.ขยะไซเคิล แต่ละฝ่ายจัดกิจกรรม 5 ส. ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ เก็บขยะรีไซเคิลจากฝ่ายต่างๆ ส่วนขวดน้ำพลาสติก จะนำมาทิ้งที่คอกรับขวดน้ำ 3.ขยะอันตราย ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ จัดเก็บพร้อมกับขยะทั่วไป 4.ขยะทั่วไป ทิ้งในถุงดำที่จัดเตรียมไว้ แม่บ้านจะนำถุงดำที่ใส่ขยะทั่วไป มัดปากถุงให้เรียบร้อย ลงไปไว้บริเวณจุดที่กำหนด ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ จัดเก็บทุกวัน 5.ขยะติดเชื้อ จะใส่ถุงพลาสติกขนาดเล็ก มัดปากถุงให้แน่น นำใส่ถังขยะติดเชื้อในจุดที่จัดเตรียมไว้ เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 970 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 729 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 110 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 120 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 10 กิโลกรัม/เดือน ขยะติดเชื้อหลังคัดแยก 1 กิโลกรัม/เดือน
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ โรงเรียนอนุบาลสามเสน (สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลอุปถัมภ์) ถนนพระรามที่ 6 พื้นที่ 2 ไร่ 2 งาน 65 ตารางวา มีครูและบุคลากร 80 คน นักเรียน 1,150 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะทั่วไป ได้แก่ ซองขนม กล่องโฟม พลาสติก ภาชนะ ช้อน หลอด ตะเกียบ นักเรียนในโรงเรียนจะทิ้งขยะใส่ถังรองรับมูลฝอยที่จุดรองรับมูลฝอยของห้องเรียน ช่วงเย็นหลังเลิกเรียนนักเรียนจะนำไปทิ้งจุดขยะรวมด้านล่างของอาคารเรียน เขตฯ จัดเก็บทุกวันราชการ 2.ขยะอินทรีย์ ได้แก่ อาหาร ข้าวแกง ก๋วยเตี๋ยว ผัก ผลไม้ ขนม เนื้อสัตว์ นักเรียนจะรับประทานอาหารที่ห้องเรียน โดยมีเจ้าหน้าที่นำอาหารขึ้นไปให้ มีภาชนะรองรับมูลฝอยขยะเศษอาหารตั้งวางหน้าห้องเรียน เมื่อนักเรียนรับประทานอาหารเสร็จแล้ว จะเทเศษอาหารที่เหลือลงภาชนะ เจ้าหน้าที่จะนำขยะเศษอาหารลงมาเทรวมในจุดพักขยะเศษอาหารด้านล่าง ในช่วงเย็นจะมีเกษตรกรมารับเศษอาหารไปเลี้ยงสัตว์ 3.ขยะรีไซเคิล ได้แก่ กระดาษ พลาสติก ขวดน้ำพลาสติก นักเรียนจะนำขยะรีไซเคิลทิ้งใส่ภาชนะในห้องเรียน หลังเลิกเรียนจะรวบรวมนำมาไว้ในจุดรวมด้านล่าง ขยะรีไซเคิลบางส่วนจะนำมาประดิษฐ์เป็นของใช้ในชั่วโมงเรียน อีกส่วนหนึ่งจะนำไปจำหน่ายเป็นสวัสดิการให้กับเจ้าหน้าที่ในการคัดแยกขยะ 4.ขยะอันตราย ได้แก่ ถ่านไฟฉาย อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยาหมดอายุ วัตถุไวไฟ กระป๋องสเปรย์ หลอดไฟฟ้า โรงเรียนได้จัดตั้งถังขยะอันตรายไว้ตรงจุดรวมขยะด้านล่างของอาคาร หากมีขยะอันตรายจำนวนมาก ทางโรงเรียนจะแจ้งให้เขตฯ เข้ามาจัดเก็บ 5.ขยะติดเชื้อ ได้แก่ หน้ากากอนามัยที่อาจจะติดเชื้อโรคได้ จะไม่ทิ้งในถังขยะของโรงเรียน แต่จะให้นักเรียนนำไปทิ้งที่บ้าน 6.ขยะกำพร้า ได้แก่ ซองขนม ถุงนม มีการคัดแยกจากภาชนะตามห้องเรียน แล้วรวบรวมไปที่จุดพักขยะ เขตฯ เก็บรวบรวมเพื่อนำไปส่งต่อ สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 620 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 500 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 60 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 50 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 0.2 กิโลกรัม/วัน ขยะกำพร้าหลังคัดแยก 10 กิโลกรัม/วัน
ตรวจความเป็นระเบียบเรียบร้อยพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน บริเวณถนนประดิพัทธ์ (ฝั่งขาเข้า) เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 3 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 165 ราย ได้แก่ 1.ซอยพหลโยธิน 7 ผู้ค้า 77 ราย (กลางวัน 65 ราย กลางคืน 12 ราย) 2.ถนนประดิพัทธ์ (ฝั่งขาออก) ผู้ค้า 67 ราย (กลางวัน 12 ราย กลางคืน 55 ราย) และ 3.ถนนประดิพัทธ์ (ฝั่งขาเข้า) ผู้ค้า 21 ราย (กลางคืน 21 ราย) ส่วนบริเวณหน้า ปปส. ถนนดินแดง ผู้ค้า 44 ราย (กลางวัน 44 ราย) อยู่ระหว่างการเสนอลงนาม สำหรับพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 6 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 220 ราย (ผู้ค้าเก่า 102 ราย ผู้ค้าใหม่ 118 ราย) ได้แก่ 1.บริเวณถนนสาลีรัฐวิภาค ถึงโรงพยาบาลเปาโล ถนนพหลโยธิน ผู้ค้า 87 ราย (เก่า 58 ราย ใหม่ 29 ราย) 2.หน้าอาคาร S.M.Tower (หน้าโรงพยาบาลพญาไท) 2 ถนนพหลโยธิน ผู้ค้า 28 ราย (เก่า 9 ราย ใหม่ 19 ราย) 3.ซอยพหลโยธิน 9 ผู้ค้า 17 ราย (เก่า 3 ราย ใหม่ 14 ราย) 4.หน้าโรงแรม Grand Tower Inn ผู้ค้า 9 ราย (เก่า 5 ราย ใหม่ 4 ราย) 5.หลังแฟลตสวัสดิการทบ. ผู้ค้า 17 ราย (เก่า 11 ราย ใหม่ 6 ราย) และ 6.บริเวณใต้ทางด่วนขั้นที่ 2 ถนนพหลโยธิน (ขาเข้า) ผู้ค้า 16 ราย (เก่า 9 ราย ใหม่ 7 ราย) ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ กวดขันผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสิ่งของรุกล้ำเข้ามาในทางเท้า รวมถึงขอความร่วมมือผู้ค้าให้จัดเก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน ตลอดจนพิจารณายุบรวมจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย ให้มาทำการค้าในจุดเดียวกัน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่
เปิดพื้นที่ Hawker Center (ศูนย์อาหาร) บริเวณธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) ถนนพหลโยธิน ที่ผ่านมาเขตฯ ได้ประสานหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่ เพื่อใช้พื้นที่ว่างสำหรับจัดทำ Hawker Center ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยเน้นจุดที่มีความต้องการของผู้บริโภค อยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม มีจุดล้างทำความสะอาดภาชนะ จุดคัดแยกขยะและกำจัดขยะรวม โดยคำนึงถึงช่วงเวลาทำการค้าและความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อ โดยบริเวณดังกล่าวได้รับความร่วมมือจาก SME Bank ให้ใช้พื้นที่ชั้น 1 ของอาคาร รองรับผู้ค้าได้ 50 ราย และพื้นที่ด้านนอกอาคาร รองรับผู้ค้าได้ 25 ราย สำหรับจำหน่ายสินค้าโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย กำหนดจัดกิจกรรมเดือนละ 1 ครั้ง ครั้งละ 2-3 วัน
ตรวจเยี่ยมการเคลื่อนย้ายซากยานยนต์ที่จอดทิ้งไว้บนถนนหรือสถานที่สาธารณะ บริเวณใต้ทางด่วนศรีรัช ซอยราชวิถี 6 เขตฯ ได้สำรวจความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ประกอบกับได้รับแจ้งทางแอปพลิเคชัน Traffy Fondue ว่ามีซากยานยนต์จอดทิ้งไว้บริเวณดังกล่าว จำนวน 1 คัน โดยได้ประสานสถานีตำรวจนครบาลท้องที่ตรวจสอบทะเบียนรถ พร้อมทั้งปิดประกาศให้เคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ภายในระยะเวลา 15 วัน จากการตรวจสอบไม่พบเจ้าของหรือผู้ครอบครอง และยังไม่มีผู้ใดมาทำการเคลื่อนย้าย ในวันนี้เขตฯ ร่วมกับสำนักเทศกิจ และกองโรงงานช่างกล สำนักการคลัง ซึ่งให้การสนับสนุนรถสไลด์ในการเคลื่อนย้ายซากยานยนต์ จึงได้ดำเนินการเคลื่อนย้ายซากยานยนต์เพื่อนำไปไว้บริเวณสถานที่เก็บรักษาของกลางเขตหนองแขม โดยจะจัดเก็บซากยานยนต์ไว้เป็นระยะเวลา 6 เดือน หากไม่มีเจ้าของหรือผู้ครอบครองมาติดต่อ จะดำเนินการขายทอดตลาดซากยานยนต์ตามระเบียบของทางราชการว่าด้วยการดำเนินคดีต่อไป สำหรับผลการดำเนินงานจัดการซากยานยนต์จอดทิ้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปี พ.ศ.2562-2566 ตรวจพบซากยานยนต์ จำนวน 1,316 คัน เจ้าของเคลื่อนย้าย จำนวน 1,091 คัน สำนักงานเขตเคลื่อนย้าย จำนวน 175 คัน และรอเคลื่อนย้าย จำนวน 50 คัน ทั้งนี้ได้มีการเปรียบเทียบปรับไปแล้ว จำนวน 29 คัน และขายทอดตลาด จำนวน 14 คัน (ข้อมูล ณ วันที่ 27 มิ.ย. 66)
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 บริษัท สตาร์แฟลก จำกัด ถนนวิภาวดีรังสิต ซึ่งประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพประเภทอู่พ่นสีรถยนต์ ซึ่งเขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง อาทิ ประเภทกิจการที่มีการใช้หม้อไอน้ำ (Boilers) 2 แห่ง ประเภทอู่พ่นสีรถยนต์ 8 แห่ง ประเภทโรงงานจำพวก 3 (ผลิตยา) 1 แห่ง ประเภทสถานที่ก่อสร้าง 1 แห่ง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กำชับสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมค่าฝุ่น PM2.5 ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ป้องกันมลพิษทางอากาศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ในการลงพื้นที่วันนี้มี นางสุวรรณ ศิริมุจลินท์ ผู้อำนวยการเขตพญาไท พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตพญาไท สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#บริหารจัดการดี #สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)