(4 เม.ย.66) เวลา 14.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตบางคอแหลม ประกอบด้วย
ตรวจเยี่ยมอาคารต้นแบบการคัดแยกขยะ สำนักงานเขตบางคอแหลม มีข้าราชการและบุคลากร 249 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล ตั้งถังแยกประเภทประจำทุกฝ่ายจัดเก็บทุกวัน และนำไปไว้บริเวณจุดรับขยะรีไซเคิล ตามโครงการมือวิเศษกรุงเทพแยกเพื่อให้…พี่ไม้กวาด นำส่งศูนย์จัดการมูลฝอยฯ พระราม 7 จัดตั้งกล่องรองรับกระดาษใช้แล้ว 2 หน้าประจำทุกฝ่าย จัดกิจกรรมขยะรีไซเคิลแลกไข่ทุกวันพุธสุดท้ายของเดือน 2.ขยะอินทรีย์ มีถังรองรับขยะเศษอาหารประจำทุกห้อง สอดคล้องกับโครงการไม่เทรวม พนักงานทำความสะอาดของเขตฯ จัดเก็บและรวบรวมไว้บริเวณจุดทิ้งขยะเศษอาหาร ส่งเสริมให้ข้าราชการและบุคลากรนำขยะเศษอาหารมาทำปุ๋ยหมักบริเวณสวนเกษตรลอยฟ้า 3.ขยะอันตราย ตั้งถังรองรับขยะอันตรายชิ้นเล็กประจำแต่ละฝ่าย รวบรวมส่งศูนย์จัดการมูลฝอยอันตรายหนองแขม สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 980 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 840 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 84 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 56 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 5 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 5 กิโลกรัม/เดือน
ติดตามการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA-TAX) ในการจัดเก็บรายได้ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สอบถามเกี่ยวกับขั้นตอนและระยะเวลาในการเข้าสู่ระบบการชำระภาษี การบันทึกข้อมูลและการค้นหารายชื่อผู้เสียภาษี การพิมพ์เอกสารจัดเก็บภาษีรายได้ ศักยภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน ประสิทธิภาพระบบเครือข่ายทั้งแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) เพื่อเตรียมพร้อมในการประเมินภาษีปี 2566 นอกจากนี้ได้ติดตามปัญหาและอุปสรรคในการจัดเก็บภาษีรายได้ ตลอดจนให้คำแนะนำในการจัดเก็บภาษีประเภทต่างๆ เพื่อให้การจัดเก็บภาษีรายได้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามกรอบเป้าหมายที่กำหนด ซึ่งในพื้นที่เขตฯ มีที่ดิน 19,866 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 32,195 แห่ง ห้องชุด 8,218 ห้อง สรุปผลการสำรวจภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 60,279 รายการ สำรวจครบทั้งหมดแล้ว
สำรวจพื้นที่ Hawker Center บริเวณศูนย์การค้าทรีออนธรี (Tree on 3) ถนนพระรามที่ 3 ซึ่งผู้บริหารศูนย์การค้าทรีออนธรี พร้อมให้ความร่วมมือในการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า โดยให้ใช้พื้นที่ว่างด้านหน้าศูนย์การค้าฯ ทำเป็น Hawker Center ไม่คิดค่าเช่าพื้นที่ จัดเก็บเฉพาะค่าไฟฟ้า กำหนดรูปแบบตั้งร้านค้าตามแนวยาวทั้ง 2 ฝั่ง เว้นพื้นที่ตรงกลางไว้ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย ผู้ซื้อได้เดินเลือกซื้อสินค้าได้อย่างสะดวก ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาพื้นที่ทำการค้าที่มีผู้ค้าจำนวนน้อย โดยให้ยุบรวมมาทำการค้าจุดเดียวกัน รวมถึงพูดคุยสร้างความเข้าใจกับผู้ค้าให้ย้ายเข้ามาทำการค้าในจุดที่เขตฯ จัดทำเป็น Hawker Center เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในการใช้พื้นที่ว่างหรือตลาดนัดของเอกชน จัดทำ Hawker Center โดยเน้นจุดที่มีความต้องการของผู้บริโภค อยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม มีจุดล้างทำความสะอาดภาชนะ จุดคัดแยกขยะและกำจัดขยะรวม โดยคำนึงถึงช่วงเวลาทำการค้าและความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อ
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ บริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน) พื้นที่ 26,500 ตารางเมตร (สำนักงานฯ 6,500 ตารางเมตร และโรงงาน 20,000 ตารางเมตร) พนักงาน 2,900 คน เข้าร่วมโครงการการคัดแยกขยะ ดำเนินการภายในบริษัทฯ ตั้งแต่ปี 2556 เข้าร่วมกิจกรรมไม่เทรวม ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ รณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้พนักงานคัดแยกขยะเศษอาหาร บริเวณจุดทิ้งขยะในศูนย์อาหารของบริษัทฯ ตั้งถังรองรับขยะเศษอาหาร และนำไปรวบรวมบริเวณห้องพักขยะเศษอาหาร เขตฯ จัดเก็บวันอังคาร-วันอาทิตย์ 2.ขยะรีไซเคิล จัดเก็บขยะรีไซเคิลเพื่อเป็นสวัสดิการของพนักงานและบริหารจัดการภายในบริษัทฯ เป็นประจำทุกอาทิตย์ 3.ขยะทั่วไป จัดตั้งถังรองรับมูลฝอยทั่วไป ตามจุดต่างๆ ภายในบริษัทฯ พนักงานทำความสะอาดเป็นผู้รวบรวมไว้บริเวณห้องเก็บมูลฝอยทั่วไป เขตฯ จัดเก็บวันอังคาร วันพฤหัสบดี วันเสาร์ และวันอาทิตย์ 4.ขยะอันตราย มีพื้นที่สำหรับจัดเก็บมูลฝอยอันตรายโดยเฉพาะจัดเก็บอย่างมิดชิด บริษัทฯ บริหารจัดการเองปีละ 1 ครั้ง สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 26,000 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 24,800 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 15,285 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 15,285 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 1,200 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 115 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 115 กิโลกรัม/เดือน
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (CPAC) ถนนพระรามที่ 3 (ข้างโรงแรมมณเฑียรริเวอร์ไซต์) เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กำชับสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมค่าฝุ่น PM2.5 ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อป้องกันมลพิษทางอากาศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการทำความสะอาดพื้นอย่างสม่ำเสมอ ตรวจสอบเครื่องฉีดพ่นละอองน้ำให้สามารถใช้การได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปรับปรุงพื้นที่ล้างล้อรถโม่ปูนก่อนออกจากแพลนท์ปูน ป้องกันไม่ให้น้ำที่ฉีดล้างล้อรถไหลออกไปด้านนอก ตรวจสอบบ่อคายกากปูน ป้องกันไม่ให้ตะกอนปูนล้นเต็มบ่อ
ตรวจความเป็นระเบียบเรียบร้อยบริเวณตลาดเสรี และร้านค้าด้านหลังโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้า จำนวน 3 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 140 ราย ได้แก่ 1.ตลาดบางคอแหลม ผู้ค้า 42 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-22.00 น. 2.ถนนเจริญกรุง 89-91 ผู้ค้า 14 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-22.00 น. 3.บริษัท ไทยวาโก้ จำกัด ถนนเจริญราษฎร์ ผู้ค้า 84 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-22.00 น. ส่วนพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 3 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 50 ราย ได้แก่ 1.ฝั่งตรงข้ามโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ผู้ค้า 8 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 09.00-17.00 น. วันจันทร์ถึงวันเสาร์ (หยุดทำการค้าวันอาทิตย์) 2.ซอยเจริญกรุง 99 ตั้งแต่บริเวณซอยเจริญกรุง 99 สิ้นสุดข้างสน.วัดพระยาไกร ผู้ค้า 14 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-17.00 น. วันอังคารถึงวันอาทิตย์ (หยุดทำการค้าวันจันทร์) 3.หน้าศูนย์บริการสาธารณสุข 18 ตั้งแต่บริเวณซอยจันทน์ 43 แยก 33 สิ้นสุดหน้าบ้านเลขที่ 877 ผู้ค้า 28 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-20.00 น. (หยุดทำการค้าวันจันทร์) ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อย กวดขันผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสิ่งของเกินแนวที่กำหนดไว้ รวมถึงเก็บสิ่งของและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน
สำรวจสวน 15 นาที สวนหย่อมซอยมาตานุสรณ์ ถนนมไหสวรรย์ พื้นที่ 1 ไร่ 2 งาน 45 ตารางวา กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของกรมทางหลวงชนบท โดยมอบให้เขตฯ เป็นผู้รับผิดชอบและบำรุงรักษา อยู่ระหว่างดำเนินการออกแบบเพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ ปัจจุบันผ่านการพิจารณาแบบ โดยมีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมให้คำปรึกษา
ในการลงพื้นที่วันนี้มี นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นางวาสนา บูรณกิตติโสภณ ผู้อำนวยการเขตบางคอแหลม พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตบางคอแหลม สำนักเทศกิจ สำนักสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #บริหารจัดการดี #เศรษฐกิจดี
—– (จิรัฐคม…สปส. รายงาน)