(1 เม.ย. 66) นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปาฐกถาหัวข้อ “ความสำคัญของเยาวชนต่อการพัฒนาและสร้างเมือง” ในงาน EU-THAI URBAN YOUTH FORUM การมีส่วนร่วมของเยาวชนในการพัฒนาพื้นที่ชุมชนเมือง : การแลกเปลี่ยนระหว่างเยาวชนไทย-ยุโรป ณ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร
“ผมชอบคำพูดหนึ่งคือ “Cities have the capability of providing something for everybody, only because, and only when, they are created by everybody” ของ Jane Jacops หัวใจสำคัญคือคำว่า everybody (ทุกคน) การที่จะเป็นเมืองที่ทุกคนรู้สึกเป็นเจ้าของได้การทำให้เกิดการมีส่วนร่วมนั้นเป็นส่วนสำคัญมาก ปัญหาหลักๆที่เจอ เช่น 1.ปัจจุบันขาดพื้นที่ในการแสดงออกสำหรับเด็กและเยาวชน พื้นที่นั้นอาจมีแต่กลไกในการเข้าถึงค่อนข้างยาก มีขั้นตอนซับซ้อน 2. ขาดเครื่องมือเปลี่ยนความสนใจเป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลงระยะยาว เช่น กลไลของ Social Enterprise หรือ ธุรกิจเพื่อสังคม ที่จะเป็นกลไกทำให้ได้ร่วมพัฒนาเมืองในระยะยาวได้ ปัญหาเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งที่กรุงเทพมหานครต้องหาวิธีการเพื่อให้เด็กและเยาวชนมีโอกาสเข้าถึงการพัฒนาสิ่งต่างๆ ย้อนกลับ 10 ปีที่แล้วการที่จะมีเด็กหรือเยาวชนพูดเรื่องเมืองหรือสังคมนั้นค่อนข้างน้อย แต่ทุกวันนี้เด็กและเยาวชนสนใจเรื่องเหล่านี้เพิ่มขึ้นอย่างมาก เพราะฉะนั้นหน้าที่ของกรุงเทพมหานครคือการเปิดพื้นที่ และยกระดับร่วมมือกับสภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพหมานครเปิด “สภาเมืองคนรุ่นใหม่”
นโยบายของกรุงเทพมหานครที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนในด้านอื่นๆ โดยเฉพาะคนที่อยากมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง เช่นนโยบาย city lab ที่กทม.อยากให้มีพื้นที่สำหรับเยาวชนหรือธุรกิจเพื่อสังคม มาเช่าพื้นที่ในราคาที่ถูก การเปิด open innovation เปิดแฮกกาธอน (Hackathon) เป็นกิจกรรมการแข่งขันเพื่อระดมความคิดสร้างสรรค์ และพัฒนานวัตกรรมใหม่ภายใต้โจทย์ที่ได้รับตามระยะเวลาที่กำหนด กลไกเหล่านี้ไม่ใช่อีเว้นท์แต่จะเป็นกลไกทำให้ยั่งยืนและจัดต่อเนื่อง สุดท้ายนี้หวังเป็นอย่างยิ่งว่าอนาคตจะมีเยาวชนเข้ามาเป็นผู้กำหนดนโยบาย อยู่ในเวทีที่ตัดสินใจในเรื่องสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา และในวันนี้อยากจะเรียนรู้ไปพร้อมกับทุกท่านว่ามีสิ่งไหนที่ทางกทม. สามารถนำไปปรับใช้หรือร่วมมือกันในอนาคตและเชื่อว่าไอเดียที่จะได้ยินในวันนี้จะเป็นไอเดียที่ทำให้เมืองดีขึ้นต่อไป” รองผู้ว่าฯ ศานนท์กล่าวในงาน EU-THAI URBAN YOUTH FORUM
ทั้งนี้ โครงการริทัศน์ มองเมืองมุมใหม่ (ReThink Urban Spaces) -ความร่วมมือเยาวชนไทย-ยุโรปในการพัฒนาชุมชนเมือง ได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป เป็นการร่วมมือระหว่างคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย มูลนิธิการศึกษาเพื่อพลเมืองไทยและมูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมแนวคิดที่นำโดยเยาวชนในการมองพื้นที่เมืองในประเทศไทยด้วยมุมมองใหม่ เพื่อสร้างสรรค์เมืองที่นับรวมทุกคน (inclusive cities) ให้เป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ผู้คนจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเมือง ได้มามีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของตนทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
สำหรับการจัดกิจกรรม EU-THAI URBAN YOUTH FORUM “การมีส่วนร่วมของเยาวชนในการพัฒนาพื้นที่ชุมชนเมือง : การแลกเปลี่ยนระหว่างเยาวชนไทย-ยุโรป” ครั้งแรกในประเทศไทย จะเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองโดยเยาวชน ระหว่างเยาวชน ผู้เชี่ยวชาญ และตัวแทนเทศบาล 18 คนจากสหภาพยุโรป ทั้งเยอรมนี ฟินแลนด์ เบลเยียม กรีซ โรมาเนีย และลิทัวเนีย กับเยาวขน ผู้เชี่ยวชาญ และตัวแทนชาวไทย จาก 5 เมืองใหญ่ กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล เชียงใหม่ ขอนแก่น กาญจนบุรี และหาดใหญ่ พร้อมพัฒนาแนวคิดนโยบายในการแก้ไขปัญหาและผลักดันความร่วมมือในการหาทางออกที่ยั่งยืนและเป็นนวัตกรรมใหม่ของเมืองในปัจจุบันและอนาคต และมีการจัดแสดงนิทรรศการ “นี่เทศกาล MY YOUTH IS …?” โดยเยาวชน ‘ริทัศน์’ ร่วมกับศิลปินรุ่นใหม่ JULI BAKER and SUMMER ” ที่อยากชวนทุกคนมานิยามความเป็น Youth ในรูปแบบของตัวเอง เพราะความเยาว์ (ชน) ต่างอยู่ในตัวเราและทุกคน ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม ถึงวันที่ 2 เมษายน 2566 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)